Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567

กทม.ติดตั้ง-ซ่อมแซมราวกันตกทางเดินเลียบคลอง เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการสำรวจแหล่งน้ำที่ตั้งอยู่ในความดูแลของ กทม.และแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงอันตรายในกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการพลัดตก หรือจมน้ำเสียชีวิตของเด็กในช่วงปิดภาคเรียน

 

ว่า กทม.มีคูคลอง ลำราง และลำกระโดงที่อยู่ในความรับผิดชอบ 1,980 คูคลอง ความยาวรวมทั้งหมด 2,743 กิโลเมตร ซึ่งคูคลอง ลำราง และลำกระโดงเหล่านี้ในช่วงฤดูฝนจะใช้ประโยชน์ด้านการระบายน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ส่วนในช่วงฤดูแล้งไว้ใช้ในด้านการเกษตรกรรม และด้านการคมนาคมต่าง ๆ

 

ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างพัฒนาคูคลองด้วยการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำข้างต้น และก่อสร้างทางเดินเลียบคลอง พร้อมทั้งกำหนดให้ติดตั้งราวกันตก ความสูงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ติดตั้งบันไดหน้าเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่พลัดตกลงไปในคลองสามารถใช้บันไดปีนขึ้นมาบนฝั่งคลองได้ รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง

 

ขณะเดียวกันยังได้ปรับปรุงคลองที่มีเขื่อนในรูปแบบเก่าที่ไม่มีทางเดินเลียบคลองและราวกันตกให้มีทางเดินเลียบคลอง พร้อมราวกันตกไปในคราวเดียวกัน ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “เลียบคลองเดินได้ ปั่นปลอดภัย ทางเลียบคลองคุณภาพ” เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ

 

นอกจากนั้น สนน.ยังร่วมกับสำนักงานเขตสำรวจ ซ่อมแซมราวกันตกบริเวณแนวเขื่อนริมคลองต่าง ๆ และทางเดินสะพานข้ามคลองให้มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุพลัดตก หรืออาจจะจมน้ำเสียชีวิตได้

 

สำหรับการเล่นน้ำในคู คลอง หนอง บึง บ่อน้ำ หรือสระว่ายน้ำภายในหมู่บ้านของเด็ก ต้องสร้างความรับรู้ การมีส่วนร่วมให้กับประชาชน รวมถึงไม่ควรปล่อยให้เด็กลงเล่นน้ำตามลำพัง หากจะลงไปเล่นน้ำตามสถานที่ดังกล่าว หรือสระว่ายน้ำ ควรเลือกสถานที่ ที่มีความปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ หรือป้องกัน

 

ที่สำคัญต้องมีผู้ที่ดูแลและสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที อีกทั้งควรตักเตือนบุตรหลานและช่วยกันสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุที่อาจจะนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้

 

กทม.กำหนดแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนว่า กทม.ได้กำหนดแนวทาง การประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

โดยให้สำนักงานเขตพิจารณาดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้การกระทำใด ๆ หรือการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เป็นแหล่งก่อเหตุรำคาญในพื้นที่ที่ต้องการควบคุมเหตุรำคาญ เช่น การเผาในที่โล่ง รถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินค่ามาตรฐาน การก่อสร้าง และรื้อถอนอาคาร โรงงาน หรือสถานประกอบกิจการที่มีกิจกรรมการผลิตที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5

 

อย่างไรก็ตาม ในประกาศดังกล่าวกำหนดว่า เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้สำนักงานเขตดำเนินการตามมาตรการป้องกัน หรือระงับเหตุรำคาญ โดยควบคุมไม่ให้มีการดำเนินกิจกรรม หรือการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการเผาในที่โล่ง มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการจราจร มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากกระบวนการผลิตของสถานประกอบกิจการ มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการปิ้งย่าง มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากเตาเผาศพ มาตรการลดและป้องกันฝุ่นละอองจากการจุดธูป การเผากระดาษในศาสนสถาน

 

กรณีสถานประกอบกิจการปล่อยฝุ่นละอองออกสู่บรรยากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด หรืออยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพอาจให้สถานประกอบกิจการ หรือผู้ก่อเหตุรำคาญรายงานผลการดำเนินงานตามประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญด้วย

 

สำหรับการพิจารณาให้พื้นที่ใดเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญจะต้องมีครบ 3 องค์ประกอบคือ 1.มีเหตุรำคาญจากฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น สำนักงานเขตต้องพิจารณาและคำนึงถึงกิจการ หรือการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิด เหตุรำคาญอย่างชัดแจ้ง ประชาชนได้รับรู้และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นเหตุรำคาญ มีกฎหมายกำหนดห้ามกระทำการ และกำหนดเป็นความผิดอย่างชัดแจ้ง และมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง  2.มีแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 มากกว่า 1 แหล่งขึ้นไป และ 3.มีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประชาชนจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง โดยต้องปรากฏลักษณะบ่งชี้อย่างใดอย่างหนึ่ง อาทิ มีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของประชาชนที่คาดว่า เป็นผลมาจากเหตุรำคาญที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 หรือมีผลการตรวจวัดค่าจากฝุ่น PM2.5 ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

 

โดยพิจารณาจากค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน หรือมีผลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพที่บ่งชี้ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือปรากฏโรค หรือความเจ็บป่วยของประชาชนที่คาดว่า เป็นผลมาจากเหตุรำคาญจากฝุ่น PM2.5 เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคตา โดยใช้วิธีทางการระบาดวิทยา หรือวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพตามความเหมาะสม

 

ทั้งนี้ การประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ สำนักงานเขตจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมข้อมูลแหล่งกำเนิดเหตุรำคาญ นำมาวิเคราะห์ สรุปผล และประเมินสถานการณ์ปัญหาเหตุรำคาญ เพื่อพิจารณาว่าสมควรประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญหรือไม่ หากเห็นว่า ยังไม่สมควรก็จะระงับเหตุรำคาญ แต่หากเห็นว่าสมควรก็จะประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ

 

โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขป้องกันระงับเหตุรำคาญ ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำการและบริเวณที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และแจ้งให้ผู้ก่อเหตุรับทราบและถือปฏิบัติ รวมทั้งติดตามและกำกับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขป้องกันระงับเหตุรำคาญ หากเหตุรำคาญระงับแล้ว หรืออยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แล้ว สำนักงานเขตจึงจะประกาศยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญต่อไป

 

กทม.จัดเจ้าหน้าที่-เครื่องจักรเร่งแก้ปัญหาสะพานข้ามคลองหลวงแพ่งพังถล่ม

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขกรณีสะพานปูนที่ใช้ข้ามคลองหลวงแพ่ง ระหว่างรอยต่อ จ.ฉะเชิงเทราและเขตลาดกระบังพังถล่ม ว่า สนย.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนได้ประสานสำนักงานเขตลาดกระบังลงพื้นที่ตรวจสอบและสนับสนุนเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเข้าแก้ไขปัญหาสะพานข้ามคลองหลวงแพ่งถล่ม

 

โดยเบื้องต้นสำนักงานเขตลาดกระบังได้กั้นแนวพื้นที่ห้ามเข้า แต่ผู้พักอาศัยในหมู่บ้านดังกล่าวยังสามารถเข้า-ออกได้จากฝั่ง จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากนี้จะได้ตรวจสอบและวางแผนเข้าดำเนินการแก้ไข เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้พักอาศัยในพื้นที่สองฝั่งคลองต่อไป

 

เขตปทุมวัน-พม.-ตำรวจร่วมแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ขอทานตามแนวสถานีรถไฟฟ้าในพื้นที่

นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวถึงการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบพื้นที่และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่เขตปทุมวัน ทั้งปัญหาขอทานและคนเร่ร่อนในพื้นที่

 

ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจและฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ปทุมวัน สน.ลุมพินี และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกันแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนและขอทานบริเวณแนวสถานีรถไฟฟ้าในพื้นที่เขตปทุมวัน

 

โดยลงพื้นที่เก็บประวัติข้อมูล กรณีเป็นคนไทย พม.ได้ช่วยเหลือเยียวยาตามความเหมาะสม หากเป็นชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดทำประวัติและประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันส่งกลับประเทศ

 

ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา กวดขัน คนเร่ร่อน ขอทาน รวมทั้งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ตลอดจนเฝ้าระวังมิให้กลุ่มคนเร่ร่อนและขอทานกลับมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

 

เขตจตุจักรรุดทำความสะอาดไหล่ทางบนสะพานกลับรถหน้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนบริเวณไหล่ทางบนสะพานกลับรถหน้าเซ็นทรัล ลาดพร้าวมีขยะและเศษวัสดุต่าง ๆ

 

ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะลงพื้นที่ทำความสะอาด จัดเก็บขยะ และเศษวัสดุต่าง ๆ บริเวณสะพานกลับรถจากถนนพหลโยธิน เข้าถนนลาดพร้าว ช่วงหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว เขตจตุจักร เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ดูแลความสะอาดบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200