Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567

กทม.กำชับเจ้าของอาคาร-ป้ายโฆษณาตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงรองรับพายุฤดูร้อน

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณา เพื่อรองรับพายุฤดูร้อน

ว่า สนย.ได้ประสานและแนะนำเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากอิทธิพลพายุฤดูร้อน

หากเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้องควบคุมป้ายให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้ป้าย ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 ซึ่งได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง

หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548

ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมพร้อมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย

หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งรัดการรื้อถอน นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม หรือหักโค่นขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย

 

กทม.จับมือ สสส.-รพ.รามาฯ พัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำในเด็กนักเรียน เพิ่มทักษะการเอาชีวิตรอดจากภัยทางน้ำ

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อเสริมทักษะการว่ายน้ำของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตในช่วงปิดภาคเรียน

ว่า สนศ.ได้บูรณาการความร่วมมือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พัฒนาหลักสูตรความปลอดภัยทางน้ำ จัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเอาชีวิตรอด ทักษะว่ายน้ำพื้นฐาน หรือช่วยเหลือชีวิตเบื้องต้นจากภัยทางน้ำ และเหตุฉุกเฉินในชีวิตประจำวัน

โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 เรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการประเมินแหล่งน้ำ การใช้ชูชีพ และการช่วยเหลือคนตกน้ำ (ตะโกน โยน ยื่น) โดยโรงเรียนที่มีสระว่ายน้ำจะจัดการเรียนการสอน ทักษะการลอยตัว และการเคลื่อนที่ในน้ำ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-5 เรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการประเมินแหล่งน้ำ การใช้ชูชีพ และการช่วยเหลือคนตกน้ำ

ทักษะการลอยตัว และการเคลื่อนที่ในน้ำ โดยประเมินให้ได้มาตรฐานทางหลักวิชาการ ลอยตัวได้ 3 นาที เคลื่อนที่ทางน้ำ 15 เมตร และทักษะว่ายน้ำในรูปแบบต่าง ๆ และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตเบื้องต้น โดยวิธีการฝึกปฏิบัติจริงทุกคน

โดยมีทีมวิทยากรมืออาชีพที่มีการรับรองหลักสูตรการช่วยชีวิตเป็นผู้ให้ความรู้ ตลอดจนรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ปกครองในการสอดส่องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงจากการจมน้ำในเด็ก

 

กทม.เร่งซ่อมทางเท้า ถ.นราธิวาสฯ หน้าศูนย์ฮอนด้า

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนทางเท้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์บริเวณหน้าศูนย์ฮอนด้า เขตสาทร มีสภาพชำรุด

ว่า สนย.ได้ลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบพบว่า ทางเท้าถนนนราธิวาสฯ บริเวณหน้าศูนย์ฮอนด้า มีแนวท่อสาธารณูปโภควางในระดับตื้น ประกอบกับมีรถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า ทำให้แผ่นกระเบื้องชำรุดหลุดร่อนเป็นแนวยาวประมาณ 50 เมตร

สนย.จึงได้เร่งดำเนินการซ่อมแซม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน คาดว่า จะซ่อมแซมแล้วเสร็จภายในวันที่ 8 มี.ค.67

 

กทม.ประสาน กฟน.เร่งก่อสร้าง-เก็บเศษวัสดุ-ซ่อมแซมทางเท้าถนนจรัญสนิทวงศ์ตรงข้าม รพ.ยันฮี

นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนเร่งแก้ปัญหาทางเท้าที่ชำรุดบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามโรงพยาบาลยันฮีว่า

สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า มีเศษวัสดุกองอยู่ริมทางเท้า ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ถนนจรัญสนิทวงศ์ (ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน) ตั้งแต่เชิงสะพานพระราม 7 ถึงแยกท่าพระ

สำนักงานเขตฯ จึงได้แจ้งสำนักการโยธา (สนย.) ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เข้าดำเนินการซ่อมแซมทางเท้าที่ชำรุดเป็นการชั่วคราวและนำสิ่งกีดขวางออกจากบริเวณทางเท้า เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้สะดวก ตั้งแต่เวลา 20.00 น.ของวันที่ 5 มี.ค.67

ส่วนกรณีมีรถยนต์ขึ้นมาจอดบนทางเท้ากีดขวางทางสัญจรของประชาชนบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลยันฮี สำนักงานเขตฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ หมั่นตรวจตราและตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณทางเท้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์ไม่ให้ฝ่าฝืนจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์บนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินสัญจรในบริเวณดังกล่าว

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์อยู่ระหว่างการขุดทางเท้า เพื่อวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. รวมทั้งการติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง และปรับปรุงคืนสภาพทางเท้าถาวรเต็มพื้นที่ทั้งหมด

ซึ่ง สนย.ได้ประสาน กฟน.ให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างและเก็บเศษวัสดุ พร้อมซ่อมแซมผิวทางเท้าที่ชำรุดในบริเวณดังกล่าว ขณะนี้ได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200