Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.เดินหน้า “กรุงเทพฯ ต้องสว่าง” ปี 67 เปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED 55,000 ดวง เร่งแก้ไขปัญหาสายใต้ดินชำรุดเสื่อมสภาพ

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกรุงเทพฯ ต้องสว่าง เพื่อลดจุดเสี่ยงอันตรายว่า สนย.ได้ประสานจ้างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และเอกชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยกรณีจ้าง กฟน.เข้าดำเนินการพิจารณาจาก กฟน.รับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชน หรือเป็นทรัพย์สินของ กฟน.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้าของ กทม.เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาท หรือละเมิด ในทรัพย์สินของ กฟน. ซึ่ง กทม.จะให้ กฟน.ประเมินราคาก่อนจัดซ่อม ส่วนกรณีจ้างเอกชนเข้าจัดซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างจะพิจารณาจากอุปกรณ์ที่เสียหายเป็นทรัพย์สินของ กทม.ทั้งสิ้น ซึ่งได้สำรวจและจัดทำข้อมูล เช่น ผังบริเวณจำนวนอุปกรณ์ที่ชำรุด เพื่อจัดซื้อจัดจ้างต่อไป และกรณีการจัดซ่อมโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงของ สนย.โดยศูนย์เครื่องมือกล สำนักงานก่อสร้างและบูรณะ
สำหรับความคืบหน้าการจ้างเหมาเอกชนเข้าดำเนินการเปลี่ยนโคม LED โดยเปลี่ยนจากหลอด HPS เป็น LED ขนาด 50W และ 140W ซึ่งปี 2566 เปลี่ยนไปแล้ว 25,000 ดวง (ดำเนินการแล้วเสร็จ) ปี 2567 อยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยน 30,000 ดวง (อยู่ระหว่างบริหารสัญญา) แบ่งเป็น ติดตั้งในถนนสายหลัก 10,000 ดวง พร้อมระบบติดตามการทำงาน (IoT) ติดตั้งในถนนสายรองและซอยต่าง ๆ ของสำนักงานเขตอีก 20,000 ดวง คาดว่า จะแล้วเสร็จเดือน มิ.ย.67 และจะจัดเปลี่ยนอีก 25,000 ดวง (แบ่งเป็นถนนสายหลัก 5,000 ดวง พร้อมระบบติดตามการทำงาน (IoT) และในถนนสายรองและซอยต่าง ๆ ของสำนักงานเขตอีก 20,000 ดวง รวมเป็น 55,000 ดวงในปี 2567 ขณะเดียวกันได้ตั้งเป้าหมายจัดเปลี่ยนในปี 2568 อีก 40,000 ดวง

ทั้งนี้ สนย.ได้ขอจัดสรรงบประมาณเข้าแก้ไขปัญหาสายไฟฟ้า อุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพและถูกตัดทำลายโดยผู้ไม่หวังดี โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ถนนสรงประภา ถนนสิรินธร และในปี 2567 อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ถนนบรมราชชนนี (ใต้คู่ขนานลอยฟ้า) จากสะพานพระรามที่ 8 ถึงสุดเขตกรุงเทพฯ (อยู่ระหว่างบริหารสัญญา ปัจจุบันผลงานร้อยละ 80 ซึ่งจะหมดสัญญาในเดือน เม.ย.67) ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ถนนพรานนก-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 (ช่วงจุดตัดถนนราชพฤกษ์ ถึงถนนพุทธมณฑลสาย 1) ถนนบางขุนเทียนชายทะเล นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2568 สนย.ได้ขอจัดสรรงบประมาณเข้าแก้ไขระบบสายใต้ดินที่ชำรุดและอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพอีกหลายเส้นทาง เช่น ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถนนงามวงศ์วาน จากคลองประปา-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค งานปรับปรุงไฟฟ้าเสาสูง High Mast ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ตั้งแต่ถนนพระราม 9-ถนนเอกมัย 23 งานปรับปรุงไฟฟ้าสาธารณะบนถนนสีลม ตั้งแต่ถนนนราธิวาส-ถนนเจริญกรุง งานถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4-ถนนสุขุมวิท 5 ถนนถาวรธวัชตั้งแต่ถนนพัฒนาการ-ซอยรามคำแหง 24

 

กทม.จับมือ 20 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเกิดจุดความร้อน ควบคุมการเผาในที่โล่ง

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า สสล.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ประกอบด้วย การติดตามเฝ้าระวัง การกำจัดต้นตอ และการป้องกันประชาชน โดยมีมาตรการควบคุมการเผาในที่โล่ง เช่น ติดตามและเฝ้าระวังจุดความร้อนจากการเผาในที่โล่ง/พื้นที่การเกษตรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล บนเว็บไซต์ของ GISTDA หากพบเหตุจะประสานหน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่เข้าระงับเหตุ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น เอกสารเผยแพร่ Social media เป็นต้น เข้มงวดไม่ให้มีการเผาขยะ หรือการเผาในที่โล่งทุกประเภทในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่ง รณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่ทำนาของกรุงเทพฯ ลดการเผาตอซังข้าวและวัสดุทางการเกษตร โดยสนับสนุนรถอัดฟางให้เกษตรกรยืมใช้อัดฟางข้าว เพื่อลดการเผา รวมทั้งประสานแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดอื่น ๆ ที่มีจุดเสี่ยงในการเผา รวมทั้งสิ้น 20 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา นครนายก ชัยนาท พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี และจันทบุรี เพื่อขอความร่วมมือติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ ควบคุมกำกับดูแล ห้ามไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทาง
นอกจากนั้น ได้ร่วมกับสำนักอนามัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ และกลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต ประชุมหารือแนวทางการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญให้สำนักงานเขตนำไปปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ หากประชาชนหากพบเห็นการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งข้อมูล หรือเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue หรือแจ้งสำนักงานเขตในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป

 

สำนักงานตลาด กทม.เร่งตรวจสอบการปล่อยเช่าช่วงแผงค้า เตรียมนำระบบสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลแผงค้าในตลาดนัดจตุจักร

นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ทั้งอัตราค่าเช่าแผงค้าราคาสูง ปัญหาการนำแผงค้าไปปล่อยเช่าช่วง ค่าปรับการค้างชำระว่า การเปิดทำการค้าในตลาดนัดจตุจักรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย เข้ามาทำการค้า โดยเกณฑ์การคิดค่าเช่าแผงค้าในปัจจุบันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดค่าเช่าไว้ในอัตรา 1,800 บาท/แผงค้า/เดือน ส่วนอัตราค่าเช่าช่วงได้กำหนดไว้ในแต่ละครั้งที่มีการเช่าช่วง กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ร้อยละ 20 ของค่าอัตราค่าเช่าช่วง/เดือน อย่างไรก็ตาม สงต.ยังไม่มีการกำหนดเพดานค่าเช่าช่วงไว้ แต่ในสัญญาใหม่ที่กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ร้อยละ 20 ของค่าอัตราค่าเช่าช่วง เพื่อต้องการทราบว่า ค่าเช่าช่วงที่แท้จริงในปัจจุบันมีอัตราเท่าไหร่ โดยผู้เช่าและผู้เช่าช่วงต้องมาทำบันทึกข้อตกลงแจ้งให้ สงต.ได้รับทราบ หากตรวจสอบพบว่า ผู้ค้ารายใดไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณีการร้องเรียนมีการนำแผงค้าให้บุคคลอื่นเช่าช่วงในอัตรา 55,000 บาท/เดือน/แผงค้า สงต.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่า ผู้ค้ารายใดได้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ปัจจุบัน สงต.อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลผู้ที่นำแผงค้าไปเช่าช่วง โดยจะนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศเข้าไปจัดเก็บข้อมูลแผงค้าภายในตลาดนัดจตุจักรทั้งหมด เพื่อสำรวจฐานข้อมูลแผงค้าให้เป็นปัจจุบันทั้งผู้เช่าและผู้เช่าช่วง หลังจากนั้นจึงจะได้กำหนดมาตรการดำเนินการกับผู้ค้าที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบต่อไป
สำหรับการชำระค่าเช่าแผงค้า เดิมใช้วิธีออกใบเสร็จรับเงิน แต่ปัจจุบันคณะกรรมการบริหาร สงต.ได้เพิ่มช่องทางการรับชำระเงิน โดยวิธีชำระผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ของทุกธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการค้าทุกแผงค้า กรณีค่าปรับผิดนัดชำระค่าเช่าตามสัญญาเดิมให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 5 ต่อวัน (90 บาท) ส่วนในสัญญาฉบับใหม่ คณะกรรมการบริหาร สงต.ได้ปรับเปลี่ยนอัตราค่าปรับผิดนัดชำระค่าเช่าแผงค้ารายเดือน คงเหลือในอัตรา 300 บาท/เดือน/แผงค้า
อย่างไรก็ตาม ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนไปซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้มาซื้อสินค้าที่ตลาดนัดจตุจักรลดลงมากกว่าร้อยละ 50 สงต.จึงมีแผนการพัฒนาส่งเสริมตลาด เช่น จัดกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ จัดให้มีดนตรีในตลาด (เสาร์-อาทิตย์) จัดจำหน่ายสินค้าปลอดสารพิษ (ตลาดสีเขียวทุกวันศุกร์) เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการที่ตลาดนัดจตุจักรเพิ่มขึ้น

 

กทม.ปรับเวลาปฏิบัติงานบุคลากรปฏิบัติงานกลางแจ้ง ลดผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน-สำรวจความคิดเห็นเครื่องแบบใหม่พนักงานกวาด

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพบุคลากร กทม.ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศปีนี้จะร้อนกว่าปีที่ผ่านมา 1-2 องศาเซลเซียส กทม.มีความห่วงใยบุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย เป็นต้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเป็นโรคลมแดดขณะปฏิบัติงาน โดย กทม.ได้กำหนดเวลาการทำงานของพนักงานกวาดถนน แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้า เวลา 05.00 – 12.00 น. และรอบบ่าย เวลา 12.00 – 20.00 น.เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานที่ต้องเผชิญความร้อน หรือตากแดดเป็นเวลานาน ส่วนพนักงานสวนที่ต้องปฏิบัติงานดูแลสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่อยู่กลางแจ้งไม่มีร่มไม้ช่วยบังแดด ให้ปรับการปฏิบัติงานที่ต้องทำกลางแจ้ง เช่น การพรวนดิน การตัดแต่งไม้พุ่ม โดยเปลี่ยนมาทำในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายที่แดดแรงให้หลีกเลี่ยงงานที่ต้องยืนกลางแดดเป็นเวลานาน สลับเวลาทำงานให้เข้าพักในร่มบ้าง ขณะเดียวกันได้ให้ความรู้การดูแลและป้องกันตัวเองจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เช่น พกน้ำดื่มเพื่อจิบดื่มบ่อย ๆ และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วยให้รีบแจ้งเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชา
นอกจากนี้ พนักงานกวาดที่สวมชุดวิบวับ ซึ่งผลิตจากพลาสติกใสในโครงการมือวิเศษกรุงเทพ “แยกเพื่อให้…พี่ไม้กวาด” ที่ สสล.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินการโดยเปิดรับบริจาคพลาสติกใสโดยเฉพาะ PET นำมาแปรรูปผลิตเป็นชุดวิบวับให้พนักงานกวาดใส่ขณะปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัยในการทำงานเป้าหมายผลิต 1,200 ชุด โดยทดลองให้พนักงานกวาดสวมใส่ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเขตดินแดง 200 ชุด และได้รับฟังความเห็นหลังสวมใส่พบว่า ผ้าบาง ไม่มีกระเป๋า และร้อนเวลาสวมใส่เนื่องจากเคลือบสารกันน้ำ แต่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล มีแสงสะท้อนเวลากลางคืน หลังจากนั้นจึงได้ปรับปรุงให้มีกระเป๋า ผ้าหนาขึ้น ไม่เคลือบสารกันน้ำ และปรับปรุงเนื้อผ้าให้ระบายอากาศดีขึ้นลดความร้อนขณะสวมใส่ โดยส่งมอบให้ 49 เขต ๆ ละ 20 ชุด และ สสล. 20 ชุด ทดลองสวมใส่ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว คาดว่า จะสิ้นสุดการทดลองสวมใส่ภายในสิ้นเดือน ก.พ.67 เพื่อป้องกันปัญหาเสื้อบางรุ่นมีสารเคลือบกันน้ำ อาจทำให้ร้อนได้ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง และจะสำรวจความคิดเห็น เพื่อประเมินครั้งสุดท้ายภายในเดือน มี.ค.67 หลังจากนั้นจะนำผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้สวมใส่ชุดภายหลังปรับปรุงมาพิจารณาว่า จะปรับปรุงเป็นเครื่องแบบหรือไม่ และหากปรับปรุงควรมีรูปแบบอย่างไรต่อไป

 

กทม.เตรียมพร้อมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ กทม.ในปี 2567 ว่า สนน.ได้จัดเตรียมแผนรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยติดตามปริมาณการเก็บกักน้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลักที่ระบายลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์น้ำทุกสัปดาห์ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในของเมืองฝั่งพระนคร (ด้านตะวันออก) ได้บริหารจัดการน้ำโดยนำน้ำต้นทุนจากแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายหลัก รวมถึงน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงบำบัดน้ำเสียของ กทม.เข้ามาถ่ายเทหมุนเวียน เพื่อรักษาระบบนิเวศ เจือจางพร้อมกับปรับคุณภาพน้ำ และใช้ในการเกษตรกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยใช้สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำของ กทม.ทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทางด้านการเกษตร
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำจากน้ำทะเลหนุนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก สนน.ได้ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในคลองสายหลักและคลองสาขาต่าง ๆ โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำตามคลองต่าง ๆ รวมถึงแผนการควบคุมเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตามแนวริมเจ้าพระยาไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้ามาภายในคลอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรได้ ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมได้ประสานกรมชลประทานผันน้ำผ่านคลองสิบสามและคลองต่าง ๆ เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำในด้านเกษตรกรรม ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในคลองสายหลักต่าง ๆ ในพื้นที่ด้านตะวันออกทั้งระดับน้ำและปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
อย่างไรก็ตาม ในระยะเร่งด่วน กทม.ได้ขุดลอกคลองสายรอง พร้อมจัดเก็บวัชพืชภายในคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำในคลองให้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยผันน้ำจากคลองสายหลักเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ส่วนแผนในระยะยาว กทม.ได้ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำด้วยการทดน้ำ หรือเก็กกักน้ำไว้ในคูคลองช่วงก่อนที่จะหมดฤดูฝน เพื่อไว้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตหนองจอก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงอาชีพทำการเกษตรและมักประสบปัญหาความเดือดร้อนในช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากน้ำที่นำไปใช้ในการเกษตรอาจมีไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในพื้นที่เขตหนองจอกได้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 17 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณคลองสิงห์โต คลองแตงโม คลองบึงเขมร คลองขุดใหม่ คลองบึงนายรุ่ง คลองหนึ่ง คลองลัดเกาะเลา คลองสอง คลองลำแขก คลองแม๊ะดำ คลองลำเกวียนหัก คลองแยกลำต้อยติ่ง คลองกระทุ่มล้มด้านเหนือ คลองลำชะล่า คลองกระทุ่มล้มด้านใต้ คลองลำตามีร้องไห้ และคลองลำต้อยติ่ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรประมาณ 48,000 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักประมาณ 800,000 ลบ.ม.

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200