กทม.วิเคราะห์โครงสร้าง-จัดทำมาตรการความปลอดภัยโครงสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม และมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ
ว่า การตรวจสอบสาเหตุทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ เก็บพยานหลักฐานโดยละเอียด ควบคู่กับการขอความร่วมมือผู้เชี่ยวชาญจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เข้ามาตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุ
ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการหาข้อสรุป ส่วนการดำเนินการก่อสร้าง สนย.ได้สำรวจโครงสร้างและเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยจะตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้างที่ต่อเนื่องกับโครงสร้างที่วิบัติ ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งระบบค้ำยันเพื่อความปลอดภัย และการก่อสร้างโครงสร้างทางยกระดับจะวิเคราะห์โครงสร้างและขั้นตอนการปฏิบัติงานเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรมและคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน
ซึ่งผลการวิเคราะห์และขั้นตอนการก่อสร้างจะผ่านการตรวจสอบจากสถาบันบริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงอุบัติเหตุและจัดทำมาตรการความปลอดภัย รวมถึงควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยโดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพและวิศวกรผู้ควบคุมงาน เช่น การติดตั้งชิ้นส่วนสะพานต้องมีโครงสร้างรองรับจนกระทั่งติดตั้งแล้วเสร็จ การกั้นพื้นที่ก่อสร้าง การติดตั้งไฟแสงสว่าง การยกเคลื่อนย้ายอุปกรณ์/วัสดุ การป้องกันวัสดุตกหล่นจากการทำงานบนที่สูง การกำหนดช่วงเวลาการทำงานที่มีความเสี่ยงในเวลา 22.00-05.00 น.
รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานด้านความปลอดภัยกำกับตรวจสอบการก่อสร้างและให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง กรณีแผนงานก่อสร้างได้จัดทำแผนงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับพื้นที่ก่อสร้าง คาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.68
สำหรับโครงการก่อสร้างอื่น ๆ สนย.มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยและป้องกันมลภาวะโครงการก่อสร้างของ กทม. โดยกำชับผู้รับจ้างและเจ้าหน้าที่ควบคุมงานให้เข้มงวดตรวจสอบมาตรการความปลอดภัย
โดยจัดกิจกรรม Safety walk ตรวจสอบการปิดกั้นพื้นที่แนวแบริเออร์ (Barrier) แผงผ้าใบ สัญญาณไฟ และป้ายเครื่องหมายจราจรให้มีความเรียบร้อย การจัดให้มีทางข้ามชั่วคราวขณะดำเนินการก่อสร้างให้ประชาชนที่สัญจรได้รับความปลอดภัย รวมถึงทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง Big Cleaning Day การกองเก็บวัสดุให้มีความเรียบร้อย
ทั้งนี้ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยและป้องกันมลภาวะระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งคณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของโครงการก่อสร้างทุกสัปดาห์ เพื่อป้องกันและลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากโครงการก่อสร้าง ส่วนการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ใช้ผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ
สนย.ได้ประชุมและประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้มงวดตรวจสอบมาตรการด้านความปลอดภัยมาโดยตลอด อาทิ การป้องกันอุบัติตนเหตุของตกหล่น การแก้ไขถนนทรุดตัว รวมถึงการติดตั้งป้ายสัญญาณไฟ ไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ
กทม.เตรียมพร้อมป้องกัน-บรรเทาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ กทม.ในปี 2567
ว่า ตั้งแต่เดือน ธ.ค.66-พ.ค.67 ลักษณะสภาพอากาศของประเทศไทยโดยทั่วไป มีสภาพแห้งแล้ง ทำให้ในหลายเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อทำการเกษตร
โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ รวมทั้งปัญหาไฟไหม้หญ้า ถนนทรุดตัว ปัญหาด้านสาธารณสุข และปัญหาน้ำเค็มเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและสภาวะแวดล้อมโดยรวม
ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้งของ กทม. เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด ตั้งแต่ระยะเวลาก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
โดยมีประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะภาคประชาชนตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้า สภาพการใช้งานและขนาดของสายไฟฟ้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน
เนื่องจากอัคคีภัยที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งส่วนใหญ่มักเกิดจากสาเหตุไฟฟ้าลัดวงจร และขอให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเจ้าของที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า มิให้เผาหญ้าและขยะในพื้นที่ดังกล่าว
ตลอดจนประสานสถานีตำรวจนครบาลท้องที่กวดขัน จับกุม ผู้ที่กระทำการเผาหญ้า หรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น
ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.-ตำรวจกวดขันจับปรับรถ จยย.ลักลอบกลับรถทางม้าลายแยกอโศก-เพชรบุรี
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุ บริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี
เมื่อปาดทางลาดเกาะกลาง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้เป็นช่องทางกลับรถว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลักลอบกลับรถบริเวณทางข้ามม้าลายเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจราจร เพื่อป้องกันปัญหาจากเหตุนี้
สจส.จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รณรงค์ปลุกจิตสำนึกสร้างความปลอดภัยในการสัญจร โดยเฉพาะบริเวณทางข้ามม้าลาย ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกช่องทางอย่างเข้มข้น
ขณะเดียวกันได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในฐานะเจ้าพนักงานให้กวดขันวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
พร้อมทั้งเสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.เป็นเจ้าพนักงานจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เพื่อช่วยกันบังคับใช้กฎหมายและอำนวยการจราจรร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนั้น ยังได้เร่งปรับปรุงกายภาพทางข้ามม้าลายให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยทาสีตีเส้นจราจรให้ชัดเจน กำหนดโซนจำกัดความเร็วในการขับขี่ รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรผิด (CCTV)
พร้อมระบบ AI เฝ้าดูพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกทางแยกและทางข้าม เพื่อป้องปรามและจับปรับผู้กระทำผิดทั้งการไม่หยุดชะลอรถให้คนข้ามถนน การจอดล้ำเส้นหยุดรถ การจอดรถกีดขวาง การขับขี่ฝ่าไฟแดง การขับขี่รถย้อนศร การขับขี่รถบนทางเท้า และการกลับรถในที่ห้ามกลับรถ
หากผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดเป็นผู้ให้บริการส่งอาหาร-ส่งของ (ไรเดอร์) หรือผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง สจส.จะจัดส่งภาพให้ต้นสังกัดพิจารณาปรับปรุงการทำงาน ปรับปรุงพฤติกรรมการขับขี่ของสมาชิกให้ปลอดภัยและมีจิตสำนึกที่ดีขึ้น
นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนอำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวว่า การจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางม้าลายเป็นความผิดตามกฎหมายจราจร
ซึ่งการบังคับการตามกฎหมายเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาล (สน.) มักกะสัน เบื้องต้นได้ประสานเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตห้วยขวางประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีผู้จอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางม้าลายบริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี
รวมถึงประสาน สน.มักกะสันเพิ่มความเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ส่วนแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับ-ปรับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร และกฎหมายอื่น ๆ
เบื้องต้นได้นำร่องในความผิดฐานจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.66-23 ก.พ.67 ตรวจพบผู้กระทำผิด 61,633 ราย ออกหนังสือเชิญมาให้ถ้อยคำ 7,940 ราย ว่ากล่าวตักเตือน 214 ราย เปรียบเทียบปรับ 340 ราย เป็นเงิน 258,300 บาท ซึ่ง สนท.ได้เร่งรัดให้สำนักงานเขตที่ติดตั้งกล้องระบบ AI ออกหนังสือเชิญเจ้าของรถมาให้ถ้อยคำให้ครบทุกรายโดยเร็ว
นายไฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กทม.กล่าวว่า การจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางม้าลายเป็นความผิดตามกฎหมายจราจร ซึ่งการบังคับการตามกฎหมายเป็นของเจ้าพนักงานจราจร
จึงได้ประสาน สน.มักกะสัน เพิ่มความเข้มงวดกวดขันวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่กระทำผิดกฎหมายจราจรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้กวดขันจับปรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าอย่างต่อเนื่อง
โดยมีผลการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65-วันที่ 30 ก.ย.66 จำนวน 980 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นจำนวนเงิน 1,993,200 บาท