กทม.ประสาน กฟน.ปรับระดับฝาท่อระบายน้ำถนนเพชรเกษมเรียบเสมอผิวจราจรบริเวณสถานี MRT บางแค
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ฝาท่อระบายน้ำกลางถนนเพชรเกษมอยู่ต่ำกว่าระดับผิวจราจร อาจเป็นอันตรายกับผู้สัญจรว่า จากการตรวจสอบฝาท่อที่มีสภาพไม่เรียบร้อยดังกล่าวอยู่บนถนนเพชรเกษมบริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีบางแค ทางลง Exit 4 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สนย.จึงได้ประสาน กฟน.เข้าดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ปัจจุบันได้รับการแก้ไขให้ระดับฝาท่อระบายน้ำเรียบเสมอเท่ากับผิวจราจรเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สนย.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่มีงานก่อสร้างบนผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ตรวจสอบฝาบ่อในทางเท้าและผิวจราจรที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง หากพบฝาบ่อไม่เรียบ มีสภาพชำรุดเสียหายให้แก้ไขโดยด่วน เพื่อความปลอดภัยต่อประชาชนผู้สัญจร
คชก.กทม.อยู่ระหว่างพิจารณา EIA โครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในเขตพระโขนง รอบที่ 3 กำชับให้แก้ไขข้อห่วงกังวลของผู้ร้อง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตพระโขนง ซึ่งยังไม่ผ่าน รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่โครงการก่อสร้างคอนโดฯ ได้เปิดขายและมีการจองห้องพักอาศัยไปแล้วว่า จากการตรวจสอบ คาดว่า เป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 93 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง ซึ่งได้เสนอรายงาน EIA จำนวน 3 รอบ โดยรอบที่ 1 และรอบที่ 2 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) มีมติไม่เห็นชอบ โดยให้แก้ไขประเด็นที่สำคัญและข้อห่วงกังวลของผู้ร้อง ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เสนอรายงาน EIA เพื่อพิจารณารอบที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของ คชก.กทม.(รอบพิจารณา 30 วัน) ตามมาตรา 51/1 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มีกำหนดประชุมครั้งที่ 16/2567 วันที่ 29 ก.พ.67 ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณารายงาน EIA โครงการดังกล่าวและโครงการอื่น ๆ ที่เสนอให้ คชก.กทม.พิจารณานั้น เป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาประกอบการให้ความเห็น รวมถึงคำนึงถึงประเด็นข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ซึ่งในการประชุมของ คชก.กทม.ได้เปิดโอกาสให้ผู้ห่วงกังวลเข้าชี้แจงด้วยตนเอง เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม
สำหรับข้อกังวลด้านการบดบังแสงแดดและทิศทางลมที่จะกระทบต่อสุขภาพและการใช้ประโยชน์ของแสงอาทิตย์ต่ออาคารข้างเคียงนั้น การจัดทำรายงาน EIA เพื่อเสนอขออนุมัติ ผู้จัดทำรายงานจะต้องดำเนินการตามแนวทางการศึกษาและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการบดบังแสงอาทิตย์และด้านการเปลี่ยนแปลงของลมจากการก่อสร้างอาคารสำหรับรายงาน EIA โครงการอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2564 ส่วนประเด็นโครงการที่ยังไม่ผ่านการพิจารณารายงาน EIA เจ้าของโครงการสามารถเปิดขายโครงการได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามไว้
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า สนย.ได้ตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบการยื่นขออนุญาตก่อสร้างต่อ สนย.และบริเวณดังกล่าวยังไม่มีโครงการก่อสร้างใด ๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำและเสนอรายงาน EIA ของโครงการต่อ คชก.กทม.
กทม.แนะวิธีดูแลสุขภาพ – เลี่ยงกิจกรรมกลางแดดป้องกันภาวะฮีทสโตรก
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อนว่า สนอ.มีความห่วงใยในสุขภาพและอนามัยของประชาชนจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ประชาชนจึงควรระมัดระวังดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำอุปโภคบริโภค โดยรับประทานอาหารร้อนที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูร้อน
นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอาการสำคัญและวิธีการป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อนผ่านสื่อออนไลน์ แผ่นพับ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแจ้งต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน โดยเฉพาะอาการเพลียแดด ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด ที่เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการสำคัญ ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก หรือเหงื่อออกมากกว่าปกติ กระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อย ๆ หายใจเร็ว ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นมากจะมีอาการชักเกร็ง หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีป้องกันโรคลมแดด ให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ผ้าโปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาครีมกันแดด SPF30 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หากเลี่ยงไม่ได้ให้หยุดพักจากกิจกรรมเป็นระยะ และไม่ฝืนทำกิจกรรมต่อหากรู้สึกว่า เกิดความผิดปกติของร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เลือกเวลาออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็น ซึ่งวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว รีบนำเข้าร่ม เพื่อให้หายใจสะดวก นอนราบ ถอดเสื้อผ้า เพื่อระบายความร้อนให้ผู้ป่วย คลายตะขอชุดชั้นใน จากนั้นนำผ้าชุบน้ำเย็นมาเช็ดตัว และข้อพับต่าง ๆ ตามร่างกาย รักแร้ ขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิ ใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ หรือแจ้งสายด่วน 1669 ศูนย์เอราวัณ เพื่อให้รถพยาบาลมาช่วยเหลือและนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
กทม.เตรียมพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกประชาชน-นักท่องเที่ยวร่วมงานสงกรานต์ ปี 2567
นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมงานสงกรานต์ว่า ในห้วงระหว่างเทศกาลสงกรานต์ 2567 ซึ่งจะมีวันหยุดยาว 5 วัน จะมีประชาชนเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการจราจรหนาแน่นทั้งวันเดินทางไปและเดินทางกลับ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ อาจมีการจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลดังกล่าวหลายแห่ง ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร รวมถึงดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สนท.จึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในหน่วยงาน กทม.และหน่วยงานภายนอก เช่น กรมการขนส่งทางบก สถานีตำรวจนครบาล หน่วยงานความมั่นคง อาสาสมัคร หน่วยงานทางการแพทย์ หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น จัดเจ้าหน้าที่ดูแลดังกล่าว โดย กทม.ได้กำหนดแผนการดำเนินการระหว่างวันที่ 10-18 เม.ย.67 ดังนี้ (1) จัดตั้งศูนย์บริการประชาชน เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวก อำนวยการจราจร ประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง การให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนที่เดินทางไปต่างจังหวัดทั้งเดินทางไปและเดินทางกลับในเส้นทางหลัก เส้นทางรองที่มีความสำคัญ หรือเส้นทางที่ประชาชนใช้สัญจรในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ หมอชิต สายใต้ใหม่ (ตลิ่งชัน) สายใต้เก่า (ปิ่นเกล้า) และเอกมัย พร้อมทั้งนำข้อมูลทั้งหมด สรุปรายงานอุบัติเหตุและนำเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขระยะเร่งด่วน และระยะยาว เพื่อแก้ไขจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุในระยะเร่งด่วนต่อไป (2) ประสานสถานีตำรวจนครบาลตั้งจุดตรวจความมั่นคงและความปลอดภัย เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ (3) จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยง รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เตรียมพร้อมเข้าให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ลาดตระเวนพื้นที่ และประชาสัมพันธ์รณรงค์ความปลอดภัยบนเส้นทางเสี่ยงอันตราย และ (4) พื้นที่จัดกิจกรรม จะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนที่มาร่วมงาน