Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.จัดหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ แนะนำกลุ่มเสี่ยงป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ของสถานพยาบาลในสังกัด กทม.ว่า สนอ.ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง จัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 รวมทั้งได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 46,662 ชิ้น ขณะเดียวกันได้ติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5 ได้แก่ ผู้ป่วยกลุ่มเด็ก 315 คน ผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ 3,672 คน ผู้ป่วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ 264 คน ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 1,090 คน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 17 คน

นอกจากนั้น ได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่และเด็กให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล 50 สำนักงานเขต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ และประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้าริมถนน และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคาร เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยได้แจกหน้ากากอนามัยไปแล้ว 703,510 ชิ้น รวมทั้งได้ส่งมอบเครื่องฟอกอากาศให้แก่สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day Care) ที่ตั้งอยู่ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับเด็กเล็ก เพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในภาวะที่เกิดฝุ่น PM2.5 เพิ่มสูงขึ้นในบรรยากาศ นอกจากนี้ ได้ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขตั้งแต่เดือน พ.ย.66 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจำแนกตามโรค ดังนี้ โรคหืดเฉียบพลัน 825 คน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 4,228 คน โรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน 410 คน โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ 3,579 คน โรคผื่นผิวหนังอักเสบ 6,484 คน และโรคผื่นลมพิษ 629 คน

 

กทม.ให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย รพ.ในสังกัด 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2567 ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสังกัด กทม.ว่าผู้รับบริการวัยรุ่นของโรงพยาบาลสังกัด กทม.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2564 จำนวน 493 คน ปี 2565 จำนวน 463 คน ปี 2566 จำนวน 629 คน และปี 2567 จำนวน 258 คน ทั้งนี้ สนพ.ร่วมกับสำนักอนามัย องค์กรภาคประชาสังคม และโรงพยาบาลภาคีเครือข่ายในกรุงเทพฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมุ่งเน้นติดตามให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุดและคงอยู่ในระบบบริการอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่มีผลการตรวจ HIV เป็นลบ สำนักอนามัยและภาคประชาสังคมจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูล ชักชวนผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบป้องกันและมาตรวจหาเชื้อ HIV สม่ำเสมอ เพื่อคงสถานะผลเลือดลบ รวมถึงพัฒนาการดูแลผู้ติดเชื้อรายบุคคล (Case Management) ในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.แจ้งเตือนผู้ที่ติดเชื้อฯ ให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองของผู้ติดเชื้อฯ ขณะเดียวกันได้ดำเนินกิจกรรม Klong San Health Care Network Model เพื่อป้องกันปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มประชากรต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพฯ กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง มีความรู้ ป้องกันตนเองจากโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตระหนักถึงการทราบสถานะการติดเชื้อฯ และสามารถเข้าถึงการตรวจเลือด เพื่อหาการติดเชื้อ HIV และระดับไวรัสได้ทุกโรงพยาบาล โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ โรงพยาบาลตากสิน ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.28) สำนักงานเขตคลองสาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) สถานศึกษา ร้านขายยา และสถานประกอบการ ซึ่งได้จัดกิจกรรมที่ดำเนินการในโรงเรียนกิจกรรมรุก เพื่อลดเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ การสอนวิธีการสวมใส่และถอดถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี และการให้ความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งสอนวิธีการประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตลอดจนส่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้วัยรุ่นและเยาวชนยืดอกพกและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกคนทุกช่องทาง ซึ่งช่วยป้องกันทั้งการติดเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยสามารถรับถุงยางอนามัยได้ฟรีที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันได้พัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย เพื่อสร้างสวัสดิการของรัฐที่ครอบคลุมความหลากหลายของมนุษย์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยที่ผ่านมาได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันแห่งความรัก BKK Pride Valentine Day 2024 : Ready 4 You เพื่อเผยแพร่ข้อมูลความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ที่ถูกต้อง ประชาสัมพันธ์การใช้ถุงยางอนามัยและยาป้องกันก่อน-หลังการสัมผัสเชื้อ HIV (PrEP/PEP) รวมทั้งประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม. (BKK Pride Clinic) เพื่อให้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติในปี 2567 กทม.มีคลินิกดังกล่าว จำนวน 31 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัด กทม.11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง

นอกจากนั้น ยังส่งเสริมให้วัยรุ่นและเยาวชนเข้าถึงการตรวจคัดกรอง HIV และซิฟิลิส โดยสนับสนุนชุดตรวจคัดกรอง HIV และซิฟิลิสแบบรู้ผลเร็วภายใน 20 นาที หากพบการติดเชื้อจะได้รับการดูแลรักษาโดยเร็ว พร้อมเปิดให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตรแก่กลุ่มวัยรุ่น โดยเปิดคลินิกวัยรุ่น โรงพยาบาลสังกัด สนพ. 5 แห่ง นอกจากจะให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ยังให้คำปรึกษาปัญหาของวัยรุ่น 7 ด้าน ประกอบด้วย ปัญหาความเครียดจากเพศภาวะ ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาความประพฤติ ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรง ปัญหาครอบครัวและปัญหาพฤติกรรมทางเพศ โดยให้บริการเชิงรุกส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความตระหนักให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนทั้งในและนอกสังกัด กทม.ทั้งนี้ กทม.ได้จัดคาราวานตรวจสุขภาพฟรี เพื่อประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมาย 1 ล้านคน ภายในเดือน มิ.ย.67 สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ https://shorturl.asia/XC9SG

 

กทม.กวดขันตรวจจับรถควันดำ ตั้งจุดตรวจรถบรรทุกแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจกทม. กล่าวถึงการเพิ่มมาตรการเข้มงวดการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนท.ได้จัดชุดสายตรวจและประสานฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตออกตรวจตราดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบ กวดขันและห้ามใช้รถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ รวมทั้งสนับสนุนการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์/เครื่องยนต์ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน


นอกจากนั้น ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เผาขยะในที่โล่ง พร้อมทั้งกำชับพนักงานขับรถบรรทุกและบุคลากรในสังกัดให้หมั่นดูแลรักษาสภาพเครื่องยนต์ กรณีที่ต้องบรรทุกวัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ต้องระมัดระวังและจัดให้มีวัสดุป้องกันสิ่งที่บรรทุกไม่ให้ตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้ง กระจายบนถนนในระหว่างที่ใช้รถ และยังต้องนำรถส่วนกลางเข้าตรวจควันดำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อไม่ให้รถส่วนกลางก่อให้เกิดควันดำ สร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งได้ตั้งจุดตรวจกวดขันรถบรรทุกดิน หรือวัสดุอื่นใดที่อาจก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 และรถบรรทุกที่เข้า-ออกบริเวณสถานที่ก่อสร้างให้ป้องกันไม่ให้วัสดุที่บรรทุก ตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้ง กระจาย รวมถึงล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้างทุกครั้ง

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200