Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567



กทม.จับมือภาคีเครือข่ายรุกดูแลสุขภาพกลุ่มเปราะบาง ป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM2.5

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ว่า สนพ.ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง และรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อปฏิบัติการออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกันได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ของสถานพยาบาลในสังกัด กทม. โดยจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น สำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานานควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้น ยังได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลในสังกัด ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โทร.02 220 8000 โรงพยาบาลตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02 429 3576 ต่อ 8522 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02 543 2090 หรือ 084 215 3278 โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02 326 9995 โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร.099 170 5879 และโรงพยาบาลสิรินธร โทร.02 328 6901 ต่อ 11434 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5

กทม.จัดบริการเชิงรับ-เชิงรุก ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนและวัยรุ่น

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทาง ดังนี้ (1) RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain) Reach&Recruit : การจัดบริการเชิงรับและเชิงรุกในการให้ข้อมูลความรู้และชักชวนตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ในสถานศึกษา สถานบันเทิง และจุดรวมตัวของกลุ่มเป้ามาย โดยร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและ NGO (2) Test &Treat : การตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบิกจ่ายตามสิทธิและไม่เสียค่าใช้จ่ายในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้ไร้สิทธิ หากพบผู้ติดเชื้อให้บริการดูแลรักษา หรือส่งต่อตามสิทธิการรักษา (3) Prevention : ส่งเสริมการป้องกันโดยการใช้ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และยาป้องกันก่อน-หลังการติดเชื้อ HIV (PrEP/PEP) และ (4) Retain : การติดตาม ผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงติดตามป้องกันให้ผลเป็นลบอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จัด ให้มีระบบบริการสุขภาพกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยจัดหาและกระจายถุงยางอนามัย สารหล่อลื่นให้กลุ่มเป้าหมาย (เยาวชนในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา สถานบันเทิง และสถานประกอบการ) พร้อมทั้งวางแผนและจัดบริการและติดตามประเมินผลร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่ Pride Clinic เปิดบริการในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.20 แห่ง คลินิกรักปลอดภัย (ดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 9 แห่ง) หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA @prepbangkok Facebook Iloveclub และสายด่วน 06 3498 9508

ทั้งนี้ ในปี 2566 กทม.ได้รับรายงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน 5,175 ราย อัตราป่วย 93.90 ต่อประชากรแสนคน พบมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ โรคซิฟิลิส (Syphilis) 2,745 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 49.81 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ โรคหนองใน (Gonorrhoea) 1,322 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 23.99 ต่อประชากรแสนคน โรคหนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) 960 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 17.42 ต่อประชากรแสนคน Chancroid (แผลริมอ่อน) 135 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.45 ต่อประชากรแสนคน กามโรคต่อน้ำเหลือง/ฝีมะม่วง (Lymphogranuloma Venereum) 13 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.24 นอกจากนี้ พบว่าปี 2561-2565 เยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ซิฟิลิส ปี 2561 อัตราป่วย 53.1 ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 91.2 ต่อแสนประชากรในปี 2565 รองลงมาคือ โรคหนองใน ปี 2562 อัตราป่วย 28.0 ต่อแสนประชากร เพิ่มเป็น 34.4 ต่อแสนประชากรในปี 2565

กทม.เข้มมาตรการเชิงรุกควบคุมแก้ปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่อง

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ กทม.ประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ล่าช้าและขาดการกวดขันแหล่งกำเนิดฝุ่นว่า สสล.ได้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 ของ กทม.ในปี 2567 เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่ กทม.ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งมาตรการที่เข้มข้นขึ้นในช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตเพิ่มมาตรการเชิงรุกเข้มงวดการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ ไซต์งานก่อสร้าง และการเผาในที่โล่ง ได้แก่ การออกคำสั่งห้ามใช้รถควันดำเกินมาตรฐาน เข้มงวดกิจกรรมการเกิดฝุ่น PM2.5 ในไซต์งานก่อสร้าง หากพบว่า มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานจะสั่งระงับการก่อสร้าง เพื่อปรับปรุงแก้ไข ขณะเดียวกันได้บูรณาการความร่วมมือจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา โดยการใช้รถอัดฟาง

นอกจากนั้น ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 70 สถานี อีกทั้งมีสถานีตรวจวัดฯ ของกรมควบคุมมลพิษอีก 12 สถานี รวมทั้งหมด 82 สถานี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต สำหรับบริเวณพื้นที่เปราะบาง ได้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล รวมทั้งใช้ธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ชุมชน และเขต เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแต่ละวัน โดยสื่อสารเชิงรุก รายงานสถานการณ์ฝุ่น พร้อมค่าพยากรณ์แจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com เพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok ตลอดจนถ่ายทอดสด (Live) ผ่านเพจเฟซบุ๊กทุกวันทำการในเวลา 09.00 น. โดยโฆษกศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศของ กทม. เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละออง ดูแลตนเองและคนในครอบครัว รวมทั้งมีส่วนร่วมลดปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน และสามารถมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 โดยแจ้งร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue

กทม.เร่งจัดทำทางเดินชั่วคราวริมคลองลาดพร้าวบริเวณถนนประชาอุทิศบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวกรณีชาวชุมชนคลองลาดพร้าว ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นตลิ่งริมคลองในโครงการหมู่บ้านประชารัฐ เขตวังทองหลางว่า บริเวณทางเดินริมคลองลาดพร้าว ถนนประชาอุทิศ (ใกล้สถานทูตลาว) อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว ซึ่ง สนน.ได้ว่าจ้างบริษัทริเวอร์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด เริ่มต้นสัญญาจ้างเมื่อวันที่ ๑๕ ม.ค.๕๙ ระยะเวลาก่อสร้าง ๒,๑๙๗ วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๑๙ ม.ค.๖๕ เดิมบริเวณดังกล่าวมีทางเดินริมคลองชั่วคราวเชื่อมถึงถนนประชาอุทิศ ต่อมา สนน.และสำนักงานเขตวังทองหลาง ได้ร่วมตรวจสอบแนวเขตคลองบริเวณดังกล่าว เพื่อก่อสร้างเขื่อนเมื่อช่วงปี 2563 พบว่า แนวรั้วของเอกชน ซึ่งอยู่ติดกับคลองลาดพร้าวล้ำเข้ามาในเขตคลองประมาณ 2-3 เมตร ผู้รับจ้างจึงเข้ารื้อถอนทางเดินชั่วคราวและก่อสร้างเขื่อน แต่เจ้าของอาคารที่อยู่ใกล้กับสะพานถนนประชาอุทิศ ไม่ยินยอมให้ก่อสร้างเขื่อนบริเวณดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่า การตอกเสาเข็มเขื่อน อาจทำให้อาคารที่อยู่ใกล้กับแนวเขตคลอง ซึ่งมีสภาพเก่าและไม่แข็งแรง เกิดความชำรุดเสียหายได้ ซึ่ง สนน.ได้ตรวจสอบสภาพอาคารแล้วพบว่า โครงสร้างมีสภาพเก่าและโครงสร้างฐานรากบางส่วน มีสภาพชำรุดเสียหาย การก่อสร้างเขื่อนโดยวิธีตอกเสาเข็มคอนกรีตตามรูปแบบเดิมอาจทำให้อาคารเกิดความเสียหายได้ สนน.จึงขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบ และได้รับอนุมัติให้แก้ไขเมื่อวันที่ 20 พ.ค.64 ภายหลังการแก้ไขรูปแบบแล้วเสร็จ สนน.ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและทางเดิน แต่ผู้รับจ้างไม่ได้เข้าดำเนินงานก่อสร้าง เขื่อนและทางเดินในบริเวณดังกล่าว สนน.จึงได้มีหนังสือเร่งรัดงานและเชิญประชุมหลายครั้ง แต่ผู้รับจ้างกลับเพิกเฉยและหยุดการก่อสร้างโดยสิ้นเชิงเมื่อวันที่ 14 ก.พ.65 กทม.จึงบอกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค.65
อย่างไรก็ตาม สนน.ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยระยะเร่งด่วน สนน.จะจัดหาวัสดุและจัดทำทางเดินชั่วคราวให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรได้ก่อน คาดว่า จะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นเดือน มี.ค.67 และแล้วเสร็จภายในเดือนเดียวกัน ส่วนระยะยาว สนน.อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนรัฐบาล ปี 2567 เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าวต่อจากเดิม หากได้รับงบประมาณคาดว่า จะสามารถก่อสร้างเขื่อนและทางเดินบริเวณดังกล่าวในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.67

นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง กทม.กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าวบริเวณถนนประชาอุทิศ (ใกล้สถานทูตลาว) เขตวังทองหลาง เดิมมีทางเดินริมคลองชั่วคราวเชื่อมถึงถนนประชาอุทิศ และบริษัทผู้รับเหมาเดิมได้รื้อถอนออกไปในช่วงระหว่างปี 2563 ซึ่งสำนักงานเขตได้ตรวจสอบการรุกล้ำแนวเขตคลองและการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างเขื่อนใกล้แนวอาคารของประชาชนในบริเวณดังกล่าวร่วมกับสำนักการระบายน้ำ กทม.พบว่า แนวอาคารอยู่ในแนวเขตที่ดินของเจ้าของบ้าน ซึ่งสร้างมาเป็นเวลานาน แต่ใช้ประโยชน์ในที่ดินของเขตคลองประมาณ 2-3 เมตร โดยในระหว่างดำเนินการผู้รับจ้างได้ตอกเข็ม จนเป็นเหตุให้อาคารเกิดความเสียหาย จึงต้องหยุดดำเนินการ เพื่อเจรจาหาแนวทางแก้ไขปัญหา จนกระทั่งผู้รับจ้างถูกยกเลิกสัญญา การดำเนินงานต่าง ๆ จึงได้หยุดลงตั้งแต่นั้น อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสำนักงานเขตฯ จะประสานความร่วมมือกับ สนน.พิจารณาทำทางเดินชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนระหว่างรอการสร้างเขื่อนริมคลองลาดพร้าวต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200