Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 256

กทม.เดินหน้ามาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังควบคุมโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของ กทม.ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกว่า สนพ.ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ และเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ด้วยการตรวจค้นพบโรค และวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ขณะเดียวกันได้กำหนดแนวทางและมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ประกอบด้วย การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงพยาบาลและชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด อาการป่วยที่ต้องพบแพทย์ให้กับผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลและชุมชนรอบโรงพยาบาล สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความตระหนักทางด้านสุขภาพ รวมถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ตลอดจนเตรียมพร้อมระบบรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2-7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง การป้องกันที่ประชาชนสามารถทำได้คือ การเก็บขยะ ทำความสะอาดบ้าน และดูแลภาชนะที่ใส่น้ำไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง สามารถใส่ทราย หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่

นอกจากนั้น สนพ.ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด สำรวจตรวจสอบจุดที่มีน้ำขัง และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในโรงพยาบาลและบริเวณโดยรอบโรงพยาบาล รวมทั้งมอบหมายให้กลุ่มงานอนามัยชุมชนลงพื้นที่จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนผู้รับบริการและบุคลากรในสังกัดในเรื่องโรคที่เกิดจากยุงลาย วิธีการป้องกัน วิธีการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาล พร้อมทั้งแนะนำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. เพื่อป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ (1) ปิดฝาภาชนะให้สนิท (2) ปล่อยปลากินลูกน้ำ (3) เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ (4) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (5) ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย ขณะเดียวกันได้สื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด เช่น ใช้สเปรย์กระป๋องฉีดพ่นยุงตัวเต็มวัย ใช้ยาจุดกันยุง ทาโลชั่นกันยุง และการสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน“หมอ กทม.” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

กทม.ประสานความร่วมมืออำนวยความสะดวก-ดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวบริเวณท่าเรือท่าเตียน

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อกังวลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ยืนเข้าแถวบนทางเท้า เพื่อรอลงเรือข้ามฟากบริเวณท่าเรือท่าเตียนไปวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารว่า สจส.ได้ดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวบริเวณท่าเรือท่าเตียน โดยร่วมลงพื้นที่และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า ดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่รองรับเรือข้ามฟากและเรือด่วน ทดแทนท่าเทียบเรือเดิม (ท่าเตียน) ที่มีขนาดเล็กและมีสภาพชำรุด ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างประสานผู้ให้บริการเดินเรือข้ามฟากโพธิ์-อรุณ ให้ย้ายมาอยู่ที่ท่าเทียบเรือแห่งใหม่ ซึ่งมีเรือให้บริการ จำนวน 4 ลำ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาปรับปรุงอาคาร เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก สำหรับท่าเตียนหลังใหม่ให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือน ขณะที่สำนักงานเขตพระนคร จะช่วยจัดระเบียบการเข้า-ออกท่าเทียบเรือของประชาชนและนักท่องเที่ยวในการยืนเข้าแถวให้เรียบร้อย เพื่อซื้อตั๋วเรือข้ามฟาก โดยแนะนำให้เตรียมเงินค่าโดยสารให้พอดี เพื่อลดระยะเวลาลงเรือ รวมทั้งติดตั้งร่ม หรือเต็นท์ให้เป็นที่พักคอยชั่วคราว ทั้งนี้ สจส.จะนำข้อเสนอการเดินรถ BMA Feeder รับ-ส่งนักท่องเที่ยวจากสถานีรถไฟฟ้า MRT สถานีอิสรภาพ ไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารไปพิจารณากำหนดเส้นทางเดินรถ เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนให้เหมาะสมต่อไป

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สปภ.มีมาตรการดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรทางน้ำบริเวณท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กองบัญชาการกองเรือลำน้ำ กองทัพเรือ สำนักเทศกิจ หน่วยแพทย์กู้ชีวิต มูลนิธิ และอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังได้จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการกู้ภัยทางน้ำ ทีมประดาน้ำ เรือท้องแบน เรือสกู๊ตเตอร์ และอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ เพื่อดูแลความปลอดภัยและพร้อมช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุอุบัติภัยทางน้ำ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

รร.กทม.เดินหน้าสร้างความเข้าใจเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบวัยรุ่นไทยเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น เร่งสร้างทัศนคติใช้ถุงยางอนามัยและสื่อสารเชิงบวกเรื่องเพศว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินโครงการรณรงค์และจัดกิจกรรมเชิงรุกในสถานศึกษา ได้แก่ โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์กับเยาวชนวัยใสในโรงเรียนสังกัด กทม.และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านสุขภาวะทางเพศในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อพัฒนาครูผู้สอนเพศวิถีศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาและนักเรียนแกนนำระดับมัธยมศึกษา ขณะเดียวกัน สนศ.ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักอนามัย และ สธ.โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมทั้งการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
นอกจากนี้ โรงเรียนสังกัด กทม.ได้จัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรม/โครงการเกี่ยวกับเพศศึกษาและทักษะการดำเนินชีวิต การสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค การป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 และในปีการศึกษา 2566 โรงเรียนประชาอุทิศ (จันทาบอนุสรณ์) เขตดอนเมือง ได้รับรางวัลสถาบันการศึกษาดีเด่นเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมรณรงค์และป้องกันการติดเชื้อเอดส์ ในงาน “เทียนส่องใจ” เนื่องในวันเอดส์โลก ครั้งที่ 31 ประจำปี 2566 จัดโดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

ส่วนปีงบประมาณ 2566 – 2567 สนศ.ได้รับความร่วมมือจากสำนักอนามัย มูลนิธิศาสตราจารย์นายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) เข้ามาจัดโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ พัฒนาทักษะชีวิต ส่งเสริมสุขลักษณะด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศและโรคเอดส์ในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยมีศึกษานิเทศก์ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง สนศ.ในฐานะคณะทำงานพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพและมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 โดยในปีงบประมาณ 2567 จะจัดทำแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์ยุคปัจจุบันสำหรับนักเรียนกลุ่มอายุ 10-19 ปี ในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับโรงเรียนและการนิเทศติดตามต่อไป

 

 

กทม.จัดศูนย์ประสานงานดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวบริเวณท่าเตียน-ท่าช้าง

นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวกรณีมีข้อสังเกตบริเวณท่าเตียนมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากว่า สวท.มีศูนย์ประสานงานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยบริเวณท่าเตียนตั้งอยู่บนทางเท้าติดกับทางเข้าท่าเรือท่าเตียน ถนนมหาราช เขตพระนคร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำซุ้มบริการการท่องเที่ยวท่าเตียน ๒ คน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.โดยให้บริการรับเรื่องร้องเรียน อำนวยความสะดวกเรื่องแผนที่ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจท่องเที่ยว กรมการขนส่งทางบก สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ และสำนักงานเขต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีซุ้มบริการการท่องเที่ยวท่าช้าง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร คอยให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

 

 

เขตสาทรจัดเก็บขยะในชุมชนกุศลทองไม่ให้ตกค้าง กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลความสะอาดพื้นที่สม่ำเสมอ

นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนในซอยกุศลทอง ข้างศูนย์การค้าวรรัตน์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร มีปัญหาขยะตกค้าง ทำให้ขยะที่กองมีน้ำไหลและส่งกลิ่นเหม็นว่า สำนักงานเขตสาทรได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชุมชนกุศลทอง ไม่พบขยะตกค้าง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้สอบถามกรรมการชุมชน และเลขานุการชุมชนกุศลทอง รวมทั้งประชาชนที่พักอาศัยในซอยกุศลทองได้รับแจ้งในซอยดังกล่าวไม่มีขยะตกค้าง เนื่องจากสำนักงานเขตฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าชักลากขยะในชุมชนเป็นประจำทุกวันพุธและวันเสาร์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง กรณีที่มีประชาชนแจ้งว่า ขยะที่กองมีน้ำไหลและส่งกลิ่นเหม็น อาจเป็นจุดพักขยะที่รอวันจัดเก็บของอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งและมีน้ำหยดจากเครื่องปรับอากาศไหลมาบริเวณใกล้จุดพักขยะ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการไม่เข้าจัดเก็บขยะแต่อย่างใด พร้อมกันนี้สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลความสะอาดพื้นที่ดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200