เชียงใหม่เร่งดับไฟป่าลาม กาญจน์ฮอตสปอตยังพรึบ ‘ทส.-ปภ.’ระดมฮ.โปรยน้ำ
‘อนุทิน’กำชับผู้ว่าฯทั่วประเทศเน้นลงพื้นที่เข้มป้องกันฝุ่นพิษ 48 จว.อ่วมพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน เชียงใหม่เกิดไฟป่าลามหลายจุด-จนท.เร่งดับ โคราชเจอไฟป่าเขามะค่า ‘บิ๊กต่อ’สั่งระดมสกัดไฟป่า-ฝุ่นกาญจนบุรี
‘อนุทิน’กำชับผู้ว่าเร่งแก้ฝุ่นพิษ
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อกำชับถึงผู้ว่าฯทุกจังหวัดทั่วประเทศให้ความสำคัญลำดับต้นๆ กับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละลอง PM2.5 ที่ขณะนี้ถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน และเรื่องนี้เป็นนโยบายที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ นายอนุทินได้มีข้อกำชับผู้ว่าฯทุกคนให้ช่วยเน้นลงพื้นที่ และสั่งการให้มีการลดการกระทำกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดมลภาวะฝุ่นพิษตามนโยบายและข้อสั่งการของท่านนายกฯ ขอให้มีการออกมาตรการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ให้เห็นเป็นรูปธรรม ว่าทางกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันฝุ่นพิษอย่างจริงจัง โดยตอนนี้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กำลังทำหนังสือเวียนเพื่อทำความเข้าใจและหลักปฏิบัติภายในวันนี้
ย้ำเร่งด่วนกระทบสุขภาพปชช.
น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอนุทินได้เป็นประธานประชุมมอบนโยบาย และติดตามการปฏิบัติราชการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลและ มท.ที่ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ มท. หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด มท.ประจำ จ.เชียงราย ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น (อปท.) และนายอำเภอทั้ง 18 อำเภอของ จ.เชียงราย เข้าร่วม โดยปัญหาฝุ่นละอองข้ามแดนเป็นหนึ่งในประเด็นที่นายอนุทินกำชับให้ผู้บริหารส่วนราชการในพื้นที่ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนและกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนมากขึ้นทุกปี
48จว.อ่วมฝุ่นเกินมาตรฐาน
รายงานข่าวจากศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ระบุว่า รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.หนองบัวลำภู จ.มุกดาหาร จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์
ทั้งนี้ ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 15.3-84.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 26.9-67.6 มคก./ลบ.ม., ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 34.0-120.2 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 5 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 24.8-69.5 มคก./ลบ.ม., ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12.8-24.9 มคก./ลบ.ม., กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ.ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 13.2-64.8 มคก./ลบ.ม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศให้หน่วยงานของ กทม. Work from Home และขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน จำนวน 151 แห่ง (60,279 คน) ในวันพฤหัสบดีที่ 15 และศุกร์ที่ 16 ก.พ. 2567 เนื่องจากหลายพื้นที่การสะสมของฝุ่นละอองอยู่ในระดับสีแดงซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ
ไฟป่าเขามะค่า-จนท.เร่งสกัด
ที่ จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน พบเกิดเหตุไฟป่าขึ้นที่บริเวณเขามะค่า อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี ท้องที่บ้านตะกุดใหญ่ ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา นายละเอียด ห้ากระโทก กำนันตำบลโคกกระชาย จึงนำกำลังอาสาสมัครป้องกันควบคุมไฟป่า จิตอาสา สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่านคร นม.6 กว่า 50 นาย เข้าดับไฟอย่างเร่งด่วน พร้อมประสานรถดับเพลิงจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โคกกระชาย ระดมช่วยกันดับไฟอีกทางหนึ่ง แต่สภาพพื้นที่เขามะค่าเป็นภูเขาสูงชัน เป็นป่าไผ่ผสมกับป่าหนาม ทำให้การเข้าดับไฟทำได้ลำบาก ต้องให้วิธีแบกเป้บรรจุน้ำขึ้นไปดับบนภูเขาและใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเลี้ยงสกัดด้านล่าง เพื่อควบคุมให้ไฟอยู่ในวงจำกัดไม่ลุกลามเพิ่มเติม โดยล่าสุดพบว่า ไฟลุกลามตามแนวเขาระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงได้
คาดเผาหาของป่า-ไหม้รอบที่3
นายละเอียดกล่าวว่า ไฟป่าครั้งนี้เกิดขึ้นครั้งที่ 3 แล้วในรอบสัปดาห์ ครั้งแรกเกิดเมื่อกลางดึกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ บนยอดเขามะค่าทางด้านทิศตะวันตก สร้างความเสียหายให้พื้นที่ป่าประมาณ 500 ไร่ ต่อมาเกิดเหตุบนยอดเขาด้านทิศใต้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีพื้นที่ป่าเสียหายอีกกว่า 100 ไร่ และครั้งล่าสุดเกิดบริเวณยอดเขาด้านทิศตะวันออก คาดว่ามีพื้นที่เสียหายเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 ไร่ ครั้งนี้ ชาวบ้านในชุมชนและเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้น แต่ยังคงมีเล็ดลอดสายตาเกิดเหตุขึ้นได้ สาเหตุน่าจะมาจากการลักลอบจุดไฟเผาป่าเพื่อหาของป่า โดยเฉพาะผักหวานที่กำลังแตกยอดอ่อน จึงอยากวิงวอนให้หยุดพฤติกรรมเสีย เพราะตอนนี้เจ้าหน้าที่เหนื่อยล้ามาก และมีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายจำนวนมาก ต้องใช้เวลาอีกนานในการฟ้นฟู
โคราชตั้งวอร์รูม-จับลักลอบเผา
ขณะที่ นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) รายงานว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา มีปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ในช่วง 15 วันที่ผ่านมา มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานถึง 14 วัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเผาในที่โล่ง จากข้อมูลดาวเทียมของ GISDA พบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ เปิดวอร์รูม ลดการเผาในที่โล่ง ให้นายอำเภอตรวจสอบจุดความร้อนในพื้นที่ดูแลวันละ 2 รอบ รอบเช้าและบ่าย และให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระงับดับไฟให้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันฟุ้งกระจาย มลพิษทางอากาศพุ่งสูง
“เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จับกุมผู้กระทำผิด 4 ราย ที่ลักลอบเผาพื้นที่เกษตร ส่วนพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์พบจุดความร้อนมีไฟป่าเกิดขึ้นด้วย ตรวจสอบพบเป็นการไหม้โดยธรรมชาติ จึงให้หน่วยเผชิญเหตุ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 87 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 ลงพื้นที่โดยเร็วที่สุดเพื่อดับไฟ พร้อมประสาน อปท.ช่วยอีกทางหนึ่งด้วย” นายธนัญชัยกล่าว
เชียงใหม่ระดมหน่วยงานป้องไฟป่า
ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ นายปิยะพงษ์ ประพันธ์วัฒนะ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินการจัดการหมอกควันและไฟป่า โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดการหมอกควันและไฟป่า ประกอบด้วย อบต.แม่ทา ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ (กรมป่าไม้) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.9 (ดอยสะเก็ด) อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล (ลำปาง, ลำพูน) สถานีควบคุมไฟป่าแม่ตะไคร้ (สบอ.16) ปกครองตำบลแม่ทา เทศบาลตำบลทาปลาดุก (ลำพูน) เทศบาลตำบลบ้านธิ (ลำพูน) เทศบาลตำบลออนใต้ เพื่อจัดการหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ ต.แม่ทา และพื้นที่เขตติดต่อตำบล จังหวัด โดยจะร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น
อาทิ การจัดทำแนวกันไฟ บริหารเชื้อเพลิง จัดตั้งและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า บูรณาการความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งราษฎรจิตอาสา เข้าร่วมป้องกันและแก้ปัญหามลพิษและหมอกควัน ร่วมมือเฝ้าระวัง ลาดตระเวน ดับไฟป่า การฟ้นฟูทรัพยากรฯและสุขอนามัยของประชาชน พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย โดยสื่อประชาสัมพันธ์ช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ จัดทำคำสั่งเวรยาม และลาดตระเวนตรวจตรา ดูแลพื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าและหมอกควัน ถือเป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่น และราษฎรในพื้นที่ และพื้นที่ข้างเคียง
เกิดไฟป่าลามหลายจุด-จนท.เร่งดับ
ด้านศูนย์บัญชาการปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จ.เชียงใหม่ รายงานว่า พบจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 14 จุด ในพื้นที่ อ.ฮอด 9 จุด อ.เชียงดาว 2 จุด อ.สันป่าตอง 1 จุด อ.อมก๋อย 1 จุด และ อ.แม่แจ่ม 1 จุด รวมพบจุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงปัจจุบันทั้งหมด 223 จุด
ส่วนอุทยานแห่งชาติแม่โถ อ.ฮอด ซึ่งพบไฟป่าลุกลามมาตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปัจจุบันกำลังเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถดับไฟได้ เนื่องจากเกิดไฟปะทุเป็นหย่อมๆ ก่อนลุกลามขยายวงกว้าง ขณะที่สภาพป่าค่อนข้างกว้าง สูงชันยากต่อการเข้าพื้นที่และดับไฟให้สนิทลงได้ ปัจจุบันผืนป่าเริ่มแห้งแล้ง ใบไม้แห้งเพิ่มมากขึ้น และทิศทางลมส่งผลให้กระแสลมพัดเข้าสู่แอ่งกระทะ คือตัวเมืองเชียงใหม่ ด้านฝั่งเหนือของจังหวัด ตั้งแต่ อ.แม่ริม ป่าในอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง อ.แม่แตง อ.เชียงดาว เริ่มเกิดไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว
โดยฝ่ายปกครองร่วมกับชาวบ้านและอาสาสมัครในพื้นที่ออกทำแนวป้องกันไฟป่าเพื่อสกัดการลุกไหม้ของเศษใบไม้กิ่งไม้แห้ง ส่วนฝั่งใต้จาก อ.หางดง อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง อ.ฮอด อ.แม่แจ่ม อ.อมก๋อย กำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้เร่งเข้าไปปักหลักในป่าลึก หลังพบการเผาไหม้ผืนป่าลุกลามจาก 2-5 ไร่ เพิ่มเป็น 60 ไร่ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจชาวบ้านที่อยู่อาศัยตามป่าเขา เนื่องจากพบการเผาไร่ของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านแจ้งว่าได้ขอจัดการเชื้อเพลิงและได้รับคำอนุมัติแล้ว แต่ล่าสุดศูนย์บัญชาการฯสั่งระงับการจัดการเชื้อเพลิงทุกพื้นที่ แต่ชาวบ้านยังไม่ทราบเรื่องเนื่องจากในพื้นที่การสื่อสารติดต่อไม่ได้ ต้องแจ้งผ่านหมู่บ้านข้างเคียงแจ้งข่าวต่อกันเป็นทอดๆ ไป
เชียงรายเข้มป้องกันพีเอ็ม2.5
ที่ จ.เชียงราย สถานการณ์หมอกควันยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย ชายแดนไทย-เมียนมา มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง ซึ่งกรมควบคุมมลพิษวัดค่าได้ 33-34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ส่วนพื้นที่ อ.เชียงของ อยู่ระดับสีส้ม วัดได้ 39.1 มคก./ลบ.ม. ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก
นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย เป็นประธานปล่อยแถวขบวนรณรงค์ป้องกันไฟป่าและหมอกควัน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยว รวมทั้ง อปท. และผู้นำชุมชนในพื้นที่เข้าร่วม โดยจัดรถติดป้ายประชาสัมพันธ์ รถดับเพลิง และรถกู้ภัย ออกรณรงค์ประชาชนพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ด่านพรมแดนไทย-เมียนมา จนถึงชุมชนรอบนอก เพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือป้องกันไม่ให้มีการเผาโดยเด็ดขาด ในห้วงประกาศห้ามเผาระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567
‘บิ๊กต่อ’สั่งสกัดไฟป่าฝุ่นกาญจน์
ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (รอง ผอ.รมน.) กล่าวถึงบทบาทการทำหน้าที่ของ กอ.รมน. และเรื่องที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการดำเนินการในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ว่า นายกฯได้กล่าวชมเชย จ.เชียงใหม่ที่บูรณาการเรื่องป้องกันไฟป่า ในฐานะ ผอ.รมน.ได้มอบหมายให้ ผอ.รมน.ภาค 3 หรือแม่ทัพภาค 3 เป็นผู้บังคับบัญชาที่จะบูรณาการทุกหน่วยงาน ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าปัจจุบันนี้ งานต่างๆ ที่ทำในเชียงใหม่เป็นผล และเห็นเป็นรูปธรรม จึงให้เป็นแนวทางแก่ทุกภาคส่วนราชการ ว่าแต่ละงานต้องมีเจ้าภาพ ซึ่งแล้วแต่ว่าใครจะเป็น แต่ กอ.รมน.จะเป็นผู้ประสานงาน อำนวยการ และบูรณาการกับทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วน จ.กาญจนบุรี ที่นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง ทั้งเรื่อง ของจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้น และปัญหาของเถื่อนต่างๆ นั้น ทราบว่าที่ จ.กาญจนบุรีได้ดำเนินการคู่ขนานกันไป เพียงแต่บางอย่างไม่ได้ขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมาย แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการในพื้นที่ก็ได้ร่วมมือกัน ประสานกับพื้นที่ใกล้เคียง และไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามต่อไป
เมืองกาญจน์จุดความร้อนอื้อ
ที่ จ.กาญจนบุรี พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวม 195 จุด โดยอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พบมากที่สุด 110 จุด รองลงมาอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ 35 จุด และอุทยานแห่งชาติลำคลองงู 20 จุด อุทยานแห่งชาติไทรโยค 13 จุด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 12 จุด อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 3 จุด สำหรับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบจุดความร้อนสะสมระหว่างวันที่ 3-12 กุมภาพันธ์ รวม 437 จุด และจุดความร้อนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน รวม 560 จุด
นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สั่งการและติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน (War Room) รรท.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กล่าวว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ติดตามสถานการณ์ และมอบหมายนายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กำกับควบคุมดูแลแก้ไขสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด
ระดมจนท.เร่งเข้าสกัดไฟป่า
“โดยสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระบริเวณในท้องที่ อ.ศรีสวัสดิ์ พบจุดฮอตสปอตปรากฏบริเวณห้วยแม่ปลาสร้อย ห้วยแม่ละมุ่น 5 จุด ทิศทางหน้าไฟเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 กำลังไหลลงสู่ห้วยแม่ละมุ่น ด้านซ้ายมือขาขึ้นห้วย ส่วนบริเวณตอนปลายลำห้วยต้นน้ำมีแนวไฟอยู่ในป่าดิบชื้นไหลลงช้าๆ เจ้าหน้าที่จึงเดินเท้าเข้าไปกวาดแนวในร่องห้วยที่แห้งช่วงปลายประมาณ 300-500 เมตร ส่วนที่ 2 แนวลำห้วยตอนกลางจนถึงปากลำห้วย ไฟไหลลงมาถึงแนวกันไฟและลำห้วยแล้วยังไม่ข้ามลงมาทางตอนใต้ของลำห้วย หรือทางปีกซ้ายขาลงเป็นแนวป่ายังไม่ถูกไฟไหม้ อีกทิศทางกำลังขึ้นเขา ป่าดิบชื้นมีควันหนาแน่น หากปล่อยให้ดับเองอาจใช้เวลาหลายวัน กลุ่มฮอตสปอตที่หนาแน่นบริเวณ ท่าแพขนานยนต์ แนวไฟลงถนนและน้ำล่าสุดดับแล้ว ส่วนบนยอดเขาไม่สามารถส่งคนขึ้นได้ เนื่องจากลาดชันและมีช้างป่าจำเป็นต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ดับไฟ ขณะที่ไฟไหม้ป่าในส่วนที่ไม่ใช่ฮอตสปอตเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าดับไฟทันที” นายมานะกล่าว
ชี้’แม่กระบุง’ต้องใช้ฮ.สนับสนุน
นายมานะกล่าวว่า สำหรับบริเวณอุทยานเอราวัณ ช่วงเขาตับเต่า ลงไปบ้านแก่งแคบ ตลอดแนวขอบถนนเกิดการไหม้จนไม่มีเชื้อเพลิงแล้ว บริเวณอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์ ยังมีปรากฏช่วงแม่กระบุง ลึกเข้าไปในป่า ยากต่อการเข้าถึง จำเป็นใช้เฮลิคอปเตอร์ และส่วนของบริเวณบ้านเขาโจดถึงอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ยังคงมีไฟป่าประปราย เจ้าหน้าที่เข้าถึงซึ่งการปฏิบัติการดับไฟป่าในครั้งนี้ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ รวม 200 นาย และเฮลิคอปเตอร์ของ ทส.และ ปภ. มาประจำพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ 2 ลำ นอกจากนี้ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท.เข้าร่วมปฏิบัติการในการควบคุมพื้นที่ราบ แนวถนน พื้นที่เกษตร รวมทั้งทำแนวกันไฟและสนับสนุนเสบียง
กังวล6ข้อลอบเผา-จี้จัดชุดปราบ
“ยังมีข้อกังวล คือ 1.การเผาเตรียมพื้นที่การเกษตรของราษฎรที่มีพื้นที่ติดป่า ไม่ได้ทำแนวป้องกันไฟลุกลามเข้าพื้นที่ป่า ซึ่งต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎร 2.ยังมีการลักลอบเข้าป่าจุดไฟ เพื่อเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ในพื้นที่ ได้ตั้งจุดสกัดป้องกันไปพร้อมกับการดับไฟ 3.หากมีไฟไหม้ในหลายพื้นที่ การสนับสนุนกำลังอาจถูกดึงกำลังไปสนับสนุนที่อื่นหรือหมู่ดับไฟอาจลดลง 4.พื้นที่บริเวณห้วยแม่ละมุ่น อีกฝั่ง ลงมาถึงท่ากระดาน เกาะบุก ในเขตฯสลักพระยังไม่มีไฟไหม้ จึงจำเป็นต้องเสริมกำลัง และเพิ่มความถี่ในการเฝ้าระวังมากขึ้น 5.พื้นที่มีช้างป่าอาศัยอยู่มาก การเข้าถึงภาคพื้นดินเป็นไปได้ยาก ส่งกำลังเข้าไม่ได้ ดังนั้นควรต้องใช้อากาศยานสนับสนุน และ 6.พื้นที่หน้าผาเขาสูงชัน เมื่อเกิดไฟป่าเข้าดับได้ยาก ควรใช้อากาศยานสนับสนุนการทำงานของชุดดับไฟภาคพื้นดิน มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้เฮลิคอปเตอร์ทั้งของ ปภ.และ ทส.ประจำการไว้ในพื้นที่ หรือเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดับไฟที่กระจายเพิ่มหลายจุด เพื่อป้องปรามการจุดไฟ และควรมีชุดปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนของ กอ.รมน., ทส. และ อส.อำเภอ ป้องปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่า ล่าสัตว์ ในพื้นที่รอบแนวป่าที่เหลือจากไฟไหม้ รวมทั้งเข้มงวดกวดขันการค้าของป่า สัตว์ป่า และล่าสัตว์ในแนวพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าไปในป่าลึกหลังแนวไฟไหม้ และเนื่องจากปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการเข้าป่าล่าสัตว์และเก็บหาของป่า ดังนั้นควรจัดชุดปราบปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่าอย่างเข้มงวด” นายมานะกล่าว
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 18 ก.พ. 2567 (กรอบบ่าย)