Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินไข้เลือดออก 15 เขตพื้นที่ระบาดสูง
 
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกของ กทม.ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ 762 ราย ซึ่งยังต่ำกว่ายอดผู้ป่วยเดือน ม.ค.66 (1,121 ราย) แต่มีค่ามากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง (661 ราย) อัตราป่วย/ประชากรแสนราย 13.87 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหากไม่รณรงค์ป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสม โดยพบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5-14 ปี รองลงมาได้แก่ อายุ 15-34 ปี ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต 

ที่ผ่านมา สนอ.ได้ร่วมกับสำนักงานเขตดำเนินมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยพัฒนาปรับปรุงระบบจัดการด้านสาธารณสุขเขตเมือง อาทิ การจัดการสุขาภิบาลในชุมชนแออัด การจัดการแหล่งน้ำขังอย่างมีประสิทธิภาพ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ 5ป 1ข คือ ปิด หรือคว่ำภาชนะ เพื่อป้องกันยุงวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ปล่อยปลาลงในอ่าง เพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ปลอดโปร่ง ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และขัดล้างไข่ยุงลาย โดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์ พร้อมทั้ง “3 เก็บป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้าน ไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง ทั้งในบ้าน ชุมชน และสถานที่สำคัญต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้ประสานความร่วมมือและจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย ภายในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน และสถานที่ราชการ ได้แก่ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยทุกครั้ง 

      นอกจากนั้น สำนักงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (สรส.) ยังได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีไข้เลือดออก (EOC) ในพื้นที่ 15 เขต ที่มีอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงสุด 15 ลำดับแรกของปี 2566 มีการแจ้งเตือนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.สัปดาห์ละครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแพร่ระบาด รวมทั้งจัดอบรมพัฒนาความรู้และซ้อมแผนการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อให้บุคลากรเจ้าหน้าที่มีความรู้ ความสามารถ และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที อีกทั้งรณรงค์ส่งเสริมความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด รวมถึงวิธีสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อแผ่นพับและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต เช่น ผู้ที่มีโรคอ้วน มีโรคประจำตัว (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง) หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับ มาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนังควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและให้รับประทานยาพาราเชตามอล (Paracetamol) และหลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

 

 

เขตจตุจักรเร่งตรวจสอบ-ประสานซ่อมแซมทางเท้าริมถนนลาดพร้าว ซอย 15-17

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนการขุดเจาะทางเท้าริมถนนลาดพร้าวไม่ปิดกลบให้เรียบ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรว่า จากการตรวจสอบข้อมูลตามข้อร้องเรียนดังกล่าว พบว่า บริเวณทางเท้าริมถนนลาดพร้าว เขตจตุจักร ข้างสะพานลอยคนข้ามระหว่างซอย 15 และซอย 17 มีการขุดเจาะแล้วไม่ปิดกลบให้เรียบ มีท่อสายไฟโผล่ขึ้นมาบนพื้นที่เป็นหลุมร่องตามแนวทางเดิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักการโยธา (สนย.) โดยได้อนุญาตให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟฟ้าแรงต่ำบนดินลงใต้ดิน ตั้งแต่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว-สี่แยกรัชดาลาดพร้าว สำนักงานเขตฯ จึงได้ประสาน แจ้ง สนย.ให้เร่งดำเนินการซ่อมแซม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนที่สัญจรบนทางเท้าในบริเวณดังกล่าวต่อไป

 

 

กทม.ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชน จากเหตุน้ำปนเปื้อนสารแอมโมเนียไหลลงคลองในเขตบึงกุ่ม
 
นายสมพร มีหาดทราย ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นแอมโมเนียรั่วไหลจากโรงงานผลิตน้ำแข็งว่า จากกรณีดังกล่าวสำนักงานเขตบึงกุ่ม ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษ และศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งในซอยนวมินทร์ 111 แยก 15 ซึ่งเป็นสถานประกอบการผลิตน้ำแข็ง ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประกอบกิจการประเภทการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ หรือขนส่งน้ำแข็ง โดยเจ้าของกิจการระบุเมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 เวลาประมาณ 08.30 น. คนงานแจ้งว่า ระหว่างถ่ายน้ำมันเสื่อมสภาพจากคอมเพรสเซอร์ทำความเย็นเกิดอุบัติเหตุ ทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพที่ปนเปื้อนสารแอมโมเนียหกรั่วไหลลงพื้นภายในอาคารโรงงาน คนงานจึงใช้น้ำฉีดล้าง ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารแอมโมเนียและน้ำเสียที่ปนเปื้อนน้ำมันเสื่อมสภาพไหลลงคลองตาหนัง โดยประชาชนในพื้นที่โดยรอบรับรู้กลิ่นในเวลาประมาณ 17.00 น. จากนั้นเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางชันได้เข้าตรวจสอบ แต่ไม่พบการรั่วไหลของก๊าซแอมโมเนีย กลิ่นดังกล่าวเกิดจากอุบัติเหตุน้ำมันเสื่อมสภาพที่ปนเปื้อนสารแอมโมเนียหกรั่วไหลลงบนพื้นภายในอาคารโรงงานผลิตน้ำแข็ง เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงจึงได้ระงับเหตุด้วยการฉีดโฟมคลุมจุดที่มีการรั่วไหลและใช้ทรายโรยปิดทับจุดที่หกรั่วไหล

อย่างไรก็ตาม จากการกระทำของคนงานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานเขตฯ จึงได้ออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.67 และได้ประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สำนักอนามัย กทม.ได้สำรวจสภาพแวดล้อมเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดก๊าซแอมโมเนียด้วยเครื่องวัดปริมาณก๊าซพิษในบรรยากาศ (Toxic gas) ชนิดอ่านค่าได้ทันทีบริเวณภายในและภายนอกสถานประกอบการ ปรากฏผลค่าความเข้มข้นของก๊าซแอมโมเนียที่ตรวจวัดได้บริเวณด้านหน้าอาคารโรงงานและบ้านพักอาศัยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีค่าอยู่ที่ระดับ 1 หมายถึง ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่เนื่องจากก๊าซแอมโมเนียมีความเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระดับ 3 ซึ่งมีความเป็นอันตรายสูง สำนักอนามัยจึงได้แนะนำให้สำนักงานเขตฯ ตรวจติดตามการแก้ไขและบำรุงรักษาระบบทำความเย็นของสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุในลักษณะดังกล่าวซ้ำอีก

ขณะเดียวกันกรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนและโรงงานพบว่า ในพื้นที่อาคารโรงงานจุดที่มีการหกรั่วไหลของน้ำมันเสื่อมสภาพ มีค่าสารแอมโมเนียในอากาศ เท่ากับ 10 ppm ซึ่งมีค่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 50 ppm พื้นที่ชุมชนด้านท้ายลมในระยะ 50 และ 100 เมตร ตรวจไม่พบสารแอมโมเนียในอากาศ ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ ได้สอบสวนโรคพบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 23 ครัวเรือน จำนวน 113 คน ส่วนใหญ่ได้รับกลิ่นจากแอมโมเนียและมีอาการแสบตาเล็กน้อย มีผู้ป่วยที่เป็นโรคที่หอบเมื่อได้รับกลิ่นจากแอมโมเนีย ทำให้ต้องพ่นยาเพิ่มเติมจากปกติ ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานน้ำแข็งได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว

นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามการดำเนินการของบริษัทฯ ตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ปรับปรุงแก้ไขภายใน 7 วัน พบว่า บริษัทฯ ได้จัดสถานที่ประกอบการให้ถูกสุขลักษณะตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการประกอบการก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ พร้อมทั้งดำเนินการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้กับพนักงานเรื่องการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารแอมโมเนียรั่วไหล พร้อมดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำแข็งดังกล่าวได้ยื่นหนังสือขอขยายเวลาการแก้ไขตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากการจัดให้มีบ่อพักน้ำทิ้งไว้สำหรับรองรับน้ำทิ้งจากพื้นที่โรงงานก่อนระบายออกสู่ภายนอก เพื่อป้องกันการหกรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นอีก บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 7 วัน เพราะต้องวางแบบแปลนระบบการระบายน้ำทิ้งใหม่ รวมถึงการจัดส่งเอกสารการตรวจสอบการรับรองความปลอดภัยของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญชำนาญการและมีคุณสมบัติในการตรวจรับรอง บริษัทฯ ได้ประสานผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าดำเนินการแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเข้ามาตรวจสอบและออกเอกสารรับรองให้ทันภายใน 7 วัน จึงขอขยายเวลาดำเนินการเป็นเวลา 30 วัน โดยจะปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ก.พ.67 

ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ สรุปผลจากการตรวจสอบได้ว่า การรั่วไหลของแอมโมเนียดังกล่าวมิได้รั่วไหลจากท่อของระบบทำความเย็นโดยตรง ซึ่งไม่ได้มีผลกระทบที่จะต้องปิดปรับปรุงระบบทั้งหมด จึงไม่ต้องสั่งปิดสถานประกอบกิจการเพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบแต่อย่างใด ส่วนการชดเชยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตฯ ได้ประสานสำนักอนามัยและกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหารือเรื่องการชดเชยกรณีเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมกรณีเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย รวมถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้ติดตามตรวจสอบผลการดำเนินการเป็นระยะ ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสานศูนย์บริการสาธารณสุข 56 ทับเจริญ เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสุขภาพประชาชนริมคลองตาหนัง และสำนักการระบายน้ำ เพื่อขอความอนุเคราะห์เพิ่มการระบายน้ำ ขุดลอกคลอง และปรับปรุงสภาพคลองตาหนังต่อไป

 

 

เขตจตุจักร-สน.บางเขนร่วมตรวจสอบพื้นที่ป้องกันการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถบนที่สาธารณะ 

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุมีผู้เรียกเก็บเงินค่าจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้าคันละ 20 บาท บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะมีการจัดงานเกษตรแฟร์ที่ผ่านมาว่า สำนักงานเขตจตุจักรได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางเขน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมตรวจสอบพื้นที่และป้องกันบุคคลลักลอบแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์ เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะเดียวกันได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ไม่ให้เรียกเก็บเงินค่าจอดรถจักรยานยนต์บนพื้นที่สาธารณะโดยเด็ดขาด นอกจากนั้น ได้ประชาสัมพันธ์และขอความร่วมมือไม่ให้นำรถจักรยานยนต์มาจอดกีดขวาง ทางสัญจรบนทางเท้า เพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่สัญจร

 

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200