กทม.กำชับโรงเรียนในสังกัดเฝ้าระวัง-กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออกและโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า สนศ.ประสานสำนักงานเขตพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 437 โรงเรียน ก่อนเปิดภาคเรียนและช่วงระยะการระบาดของยุงลาย พร้อมกำชับให้โรงเรียนป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย โดยสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษาก่อนที่จะเปิดให้ใช้อาคารเรียน และพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะที่พักในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดความหนาแน่นของยุงพาหะนำโรค พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลาย หากพบผู้ป่วยให้รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรค และควบคุมโรคทันที ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลายได้ทางเว็บไซต์ของสำนักอนามัย www.bangkok.go.th/health หากพบผู้ป่วยให้รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรคและควบคุมโรคทันที ตลอดจนสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบ ได้แก่ การจัดการสิ่งแวดล้อมและการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านตนเอง วิธีการป้องกันยุงกัด อาการที่ควรไปพบแพทย์ และวิธีการดูแลตนเองเมื่อสงสัยป่วยเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลาย
นอกจากนั้น สำนักอนามัยร่วมกับองค์กรเครือข่ายภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ดำเนินโครงการ “รณรงค์ลดไข้เลือดออกในโรงเรียนเป็นศูนย์” (Dengue-zero school project) ร่วมกับบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท คาโอ อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) จำกัด โดยจัดกิจกรรม One day camp อบรมครูและนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 10 โรงเรียน เพื่อเป็นนักเรียนอาสาปกป้องครอบครัวห่างไกลไข้เลือดออก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกและสื่อสารความรู้ด้านการป้องกันโรคไข้เลือดออก
กทม.เตรียมระบบเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลตรุษจีน-เทศกาลแห่งความรัก
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลแห่งความรักที่อาจมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นว่า โรงพยาบาลสังกัด กทม.ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล และโรงเรียนได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลแห่งความรัก โดยจัดเตรียมพื้นที่ตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล ตรวจวัดอุณหภูมิ จัดวางเจลล้างมือให้ประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรค สำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย เตรียมพร้อมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคโควิด 19 โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่มีโรคประจำตัว พร้อมให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันโรคเบื้องต้น
ขณะเดียวกันได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ สร้างความตระหนัก และกระตุ้นเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรไปรับวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” หรือผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถ โทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ ขอให้ติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง และสามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม.ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
เขตพระโขนงเข้มงวดตรวจสอบแก้ปัญหาคนเร่ร่อน ไร้บ้าน ขอทานบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแนวถนนสุขุมวิท
นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาขอทานต่างด้าว ขอทาน และคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณสถานีรถไฟฟ้าตามแนวถนนสุขุมวิทว่า สำนักงานเขตพระโขนงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนขอทานตลอดแนวถนนสุขุมวิท ขาออก ระหว่างซอยสุขุมวิท 81 ถึงซอยสุขุมวิท 101/1 และถนนสุขุมวิท ขาเข้า ระหว่างซอยสุขุมวิท 64/2 ถึงซอยสุขุมวิท 54 พบชายเร่ร่อน จำนวน 2 ราย ผู้ทำการขอทาน จำนวน 1 ราย โดยชายเร่ร่อนรายที่ 1 ตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากทำบัตรหาย เจ้าหน้าที่จึงได้นัดหมายเข้าทำบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อวันที่ 13 ก.พ.67 เพื่อจะได้ใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และชายเร่ร่อนรายที่ 2 ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน เนื่องจากทำบัตรหาย เจ้าหน้าที่จึงได้แนะนำขั้นตอนการขอมีบัตรใหม่และแนะนำขั้นตอนการเข้ารับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึกอาชีพวัดธรรมมงคล เพื่อจะได้มีงานมีรายได้เลี้ยงชีพ มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ส่วนผู้ทำการขอทานตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นผู้พิการ ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนและยังไม่เคยมีบัตรประจำตัวผู้พิการ เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายเข้าทำบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อวันที่ 13 ก.พ.67 โดยสำนักงานเขตพระโขนงจะได้นำส่งตรวจร่างกาย เพื่อขอใบรับรองความพิการ เพื่อจะได้เข้าถึงสวัสดิการจากทางภาครัฐ
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิท ทั้งปัญหาผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ขอทาน คนเร่ร่อน และการนำสุนัขมานั่งขอทาน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ตรวจตราอย่างเคร่งครัดและมอบหมายให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม หากพบบุคคลที่มาทำการขอทาน หรือบุคคลเร่ร่อนในพื้นที่ให้ประสานตรวจสอบข้อมูลบุคคล ประสานศูนย์พักพิงบ้านมิตรไมตรี เขตดินแดง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันผู้ค้ามิให้ตั้งวาง หรือทำการค้าในที่สาธารณะและผลักดันออกจากพื้นที่ต่อไป