Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียนประจำวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.เร่งตรวจสอบความปลอดภัยป้ายโฆษณา-ต้นไม้ใหญ่ รองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน


นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับพายุฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน ก.พ.และ มี.ค.67 ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนย.ได้ประสานเจ้าของอาคารตรวจสอบป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากอิทธิพลพายุฤดูร้อน หากเป็นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ต้องควบคุมป้ายให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยในการใช้ป้าย ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติด หรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 ซึ่งได้กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือมาตรฐานที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง หากเป็นป้ายที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเกินหนึ่งปี เจ้าของป้ายต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ ตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบและหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ.2548 ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมพร้อมป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้ม โดยกำชับเจ้าของป้ายขนาดใหญ่ให้ตรวจสอบการใช้งานและความมั่นคงแข็งแรงของป้าย หากเป็นป้ายถูกกฎหมาย แต่มีสภาพเก่า ชำรุด อันอาจก่อให้เกิดภยันตราย ต้องมีคำสั่งให้เจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หรือให้รื้อถอน และดำเนินคดีกับเจ้าของป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเร่งรัดการรื้อถอน นอกจากนี้ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณาที่อาจล้ม  หรือหักโค่นขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง พร้อมจัดเตรียมเครื่องมือกล เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากป้าย


        นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า สสล.ได้แจ้งเตือนสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ที่รับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้ใหญ่และความมั่นคงแข็งแรงของอุปกรณ์ค้ำยันต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะที่อาจมีผลกระทบกับประชาชนหากเกิดเหตุต้นไม้หัก โค่นล้มจากพายุ ฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง โดยเฉพาะต้นไม้บริเวณถนน ทางเท้า หรือสวน 15 นาที ในย่านชุมชน หากพบกิ่งไม้แห้ง ผุ กิ่งหัก กิ่งเป็นโรค หรือพุ่มใบหนาทึบไม่สมดุลกับระบบรากและขนาดลำต้นให้เร่งตัดแต่ง หรือสางโปร่งให้ลมผ่านได้ ไม่ต้านลมจนเป็นเหตุให้โค่นล้ม หากพบลำต้นเอนเอียงให้ค้ำยัน หรือตัดแต่งลดน้ำหนักพุ่มใบตามหลักรุกขกรรม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากพายุฤดูร้อน 

นอกจากนั้น ได้เตรียมความพร้อมหน่วยเร่งด่วนออกปฏิบัติงานแก้ไขระงับเหตุต้นไม้หัก โค่นล้มกีดขวางถนนและการจราจร หรือกระทบต่อบ้านเรือนทรัพย์สินของประชาชน เพื่อเปิดการสัญจร ช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนโดยเร็วที่สุด รวมทั้งประสานแจ้งกรณีมีประกาศเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เตรียมจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเร่งด่วนฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง เพื่อเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาต้นไม้ล้ม กิ่งไม้หักกีดขวางถนนตามที่ได้รับแจ้งเหตุผ่านทางโทรศัพท์ หรือระบบ Traffy Fondue หรือสื่อออนไลน์ และเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และยานพาหนะให้พร้อมออกปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงโค่นล้ม หรือระสายไฟฟ้า สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ โดยหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม.กำหนดไว้

 

 

กทม.ประสาน กฟน.แก้ไขคืนสภาพผิวทางเท้าริมถนนลาดพร้าว ซอย 15-17

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนการขุดเจาะทางเท้าริมถนนลาดพร้าวไม่ปิดกลบให้เรียบ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรว่า สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า จุดดังกล่าวอยู่บริเวณด้านข้างสะพานลอยคนเดินข้ามระหว่างซอยลาดพร้าว 15 และซอยลาดพร้าว 17 ซึ่งอยู่ระหว่างการขุดเจาะวางท่อไฟฟ้าแรงต่ำโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แต่คืนสภาพผิวทางเท้าชั่วคราวไม่เรียบร้อย สนย.จึงได้ประสาน กฟน.เร่งปรับปรุงแก้ไข ซึ่งปัจจุบัน กฟน.ได้ดำเนินการแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยแล้ว

 

 

กทม.กำชับเทศกิจเข้มงวดสอดส่องห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ

นายสุรเดช อำนวยสาร รองอำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวถึงการเน้นย้ำแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.และเพิ่มความเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะว่า สนท.ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจของสำนักเทศกิจและฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตให้ตรวจสอบและสอดส่องการสูบกัญชาในที่สาธารณะ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนการจำหน่ายกัญชาบนถนน หรือสถานที่สาธารณะเป็นกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากพบการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันได้ประสานกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อบูรณาการร่วมตรวจและบังคับการผู้ที่ฝ่าฝืน เช่น ในพื้นที่เขตพระนคร เขตวัฒนา เป็นต้น

 

 

กทม.ปรับปรุงพื้นที่-พัฒนาสภาพแวดล้อมภายในสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ

นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตบริเวณพื้นที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬมีไฟฟ้าส่องสว่างไม่เพียงพอว่า จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค. – 4 ก.พ.67 มีการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ในบริเวณพื้นที่ป้อมมหากาฬ โดยฉายภาพท้องทะเลและตัวการ์ตูนต่าง ๆ บนกำแพงและตัวป้อมมหากาฬ ซึ่งผู้ประสานงานโครงการฯ ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์จากสำนักการโยธา (สนย.) เพื่อขอให้ดับกระแสไฟฟ้าชั่วคราวขณะแสดงผลงานระหว่างช่วงเวลา 18.00-22.00 น. โดยหลังจากเสร็จสิ้นงานในเวลาดังกล่าว สนย.ได้เปิดใช้งานไฟฟ้าส่องสว่างเช่นเดิม

สำหรับสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม โดยได้ปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในสวน เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ พื้นที่นันทนาการ และแหล่งท่องเที่ยวของประชาชน รวมถึงได้จัดทำแผนพัฒนาปรับปรุง หรือจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป

 

 

 

กทม.บูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหาคนไร้บ้าน-ขอทานต่างด้าวถนนสุขุมวิท เตรียมรณรงค์งดให้เงินขอทาน
 
นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์พบขอทานต่างด้าวเพิ่มขึ้นบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แนวถนนสุขุมวิทว่า สำนักงานเขตคลองเตยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ และสถานีรถไฟฟ้าอโศก พบผู้พิการมาแสดงความสามารถพิเศษ (ร้องเพลง) บริเวณสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ 1 ราย และหญิงขอทานบริเวณใต้สะพานลอยข้ามแยกอโศก 1 ราย โดยในส่วนของผู้พิการได้แนะนำให้ไปแสดงบริเวณหน้าอุทยานเบญจสิริ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่แสดงความสามารถพิเศษ กรณีหญิงขอทาน เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ได้วิ่งหนีไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องขอทาน คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาสังคมและสวัสดิการสังคมตรวจสอบคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ขอทาน ตลอดแนวถนนสุขุมวิท ถนนรัชดาภิเษกเป็นประจำ ส่วนกรณีคนต่างด้าวได้ประสานส่งต่อสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพื่อผลักดันออกนอกประเทศ หากเป็นคนไทยจะนำส่งศูนย์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พม.แต่ส่วนใหญ่จะไม่ขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2547 การให้ความช่วยเหลือจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจและฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมร่วมตรวจสอบบริเวณถนนสุขุมวิทเป็นประจำทุกวัน 
     
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.ได้แก้ไขปัญหาคนขอทานต่างด้าว ขอทาน และคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ฯลฯ โดยกรณีพบคนขอทานต่างด้าวและขอทานได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในบริเวณที่มีผู้ทำการขอทาน เช่น ย่านธุรกิจ ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT โดยสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพในที่สาธารณะ กรณีพบผู้ทำการขอทานต่างด้าว จะนำส่งสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึก การจับกุม เปรียบเทียบปรับ และส่งไป สตม.เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้ถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 กรณีพบคนเร่ร่อน ได้เปิดพื้นที่สวัสดิการ “จุดบริการสวัสดิการสังคม (drop in)” ในพื้นที่เขตพระนคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและบริเวณตรอกสาเก ให้บริการทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเร่ร่อนให้ดีขึ้น โดยจุดบริการฯ ทั้ง 2 แห่ง ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาในด้านต่าง ๆ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์สภาพปัญหา เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมสนับสนุนบริการที่จำเป็นตามสิทธิที่พึงได้รับ เช่น การทำบัตรประจำตัวประชาชน การรักษาพยาบาล ส่งเสริมด้านอาชีพ จัดหาที่พักอาศัย ฯลฯ รวมถึงประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีคนเร่ร่อนประสงค์กลับคืนสู่ครอบครัวและการรวบรวมข้อมูล เพื่อติดตามประเมินผลการให้ความช่วยเหลือ

        นอกจากนั้น สพส.ได้ร่วมกับ พม.กำหนดแนวทางเพิ่มมาตรการเข้มงวดกวดขันตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิททั้งปัญหาผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ขอทาน คนเร่ร่อน และการนำสุนัขมานั่งขอทาน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีแผนการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติงดการให้เงินแก่ผู้ทำการขอทานตามแนวสถานีรถไฟฟ้าและพื้นที่สาธารณะของ กทม.โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือน มี.ค.67 ในรูปแบบการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาพม่า และภาษาญี่ปุ่น เพื่อลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายข้างต้นมิให้ใช้พื้นที่สาธารณะหารายได้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
       
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีการนำสุนัขมานั่งขอทานนั้น อาจเป็นการใช้สัตว์ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ เจ้าของสัตว์ต้องจัดสวัสดิภาพให้เเก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่ง กทม.จะประสานกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมฯ และประกาศกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 การทารุณกรรม หมายความว่า การกระทํา หรืองดเว้นการกระทําใด ๆ ที่ทําให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกาย หรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทําให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์ที่กําลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทํางานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทํางานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชรา หรืออ่อนอายุ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200