Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ-เครื่องจักรกล-หน่วย BEST รองรับสถานการณ์พายุฤดูร้อน

นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์จากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนในช่วงกลางเดือน ก.พ.และ มี.ค.67 ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมโดยเร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก พร้อมตรวจสอบเร่งระบายน้ำตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังและบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ รวมถึงให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำเพื่อให้ไหลได้สะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่ควบคุมสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อติดตั้งและตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม นอกจากนั้น ยังจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมให้ติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังสภาพอากาศตามการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาและตรวจสอบติดตามกลุ่มฝนด้วยเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. พร้อมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก กทม.แก้ไขปัญหา เช่น ต้นไม้ใหญ่หักโค่น ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่โค่นล้มและน้ำท่วมขัง อีกทั้งยังได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ เพื่อขอรับความช่วยเหลือหากประสบเหตุสาธารณภัยที่เกิดขึ้นจากพายุฤดูร้อนผ่านเว็บไซต์ https://dds.bangkok.go.th/, https://pr-bangkok.com/, Facebook:@BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ X(Twitter):@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร.02 248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)

 

 

กทม.สำรวจสภาพถนน-ทางเท้า-ไฟฟ้าทุก 2 สัปดาห์ ตรวจสอบอุปกรณ์จราจรลดปัจจัยเสี่ยงต่อผู้ใช้เส้นทาง

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงการสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทางว่า สนย.โดยศูนย์ก่อสร้างและบูรณะ มีรอบการสำรวจสภาพถนน ทางเท้า และไฟฟ้าในพื้นที่ทุก 2 สัปดาห์ และสำรวจตรวจสอบอุปกรณ์จราจรสงเคราะห์ เช่น ป้ายจำกัดความเร็ว ป้ายห้ามรถบรรทุกขึ้นสะพาน สัญญาณไฟกระพริบ เครื่องหมายจราจรบนผิวทาง พร้อมทั้งตรวจสอบราวกันตก ราวกันอันตรายทางโค้ง ผิวจราจร รอยต่อเพื่อการขยายตัวของสะพานข้ามทางแยกและอุโมงค์ทางลอดถนนที่อยู่ในความดูแลของ สนย.หากพบว่าชำรุดจะเร่งรัดจัดซ่อม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทางและทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ กรณีตรวจสอบพบไฟฟ้าส่องสว่างดับในอุโมงค์จะประสานสำนักการระบายน้ำดำเนินการแก้ไขทันที

ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เพื่อแจ้งข้อมูลมายังศูนย์ก่อสร้างและบูรณะในพื้นที่ เพื่อเข้าปรับปรุงสภาพถนน ทางเท้า สะพาน ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร ฯลฯ บริเวณจุดเสี่ยง จุดอันตราย และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง ศูนย์ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ประจำกลุ่มเขต และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อติดตามความคืบหน้าและแลกเปลี่ยนข้อมูล นอกจากนั้น ยังได้จ้างที่ปรึกษาสำรวจข้อมูลสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เช่น สแกนสภาพผิวถนน ร่องรอยแตกร้าว หลุมบ่อ สภาพฟุตบาท วิเคราะห์ข้อมูลและและจัดลำดับวิธีการซ่อมบำรุง การของบประมาณเพื่อซ่อมบำรุงต่อไป

 

 

กทม.ขอความร่วมมือประชาชน-ผู้ค้าตั้งวางถุงขยะในเวลาที่กำหนด ติดตั้งกรงตาข่าย เพิ่มถังขยะในจุดค้าขาย

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.แก้ไขปัญหาการตั้งวางถุงขยะที่ผู้ค้านำมากองไว้บริเวณบริเวณป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางว่า สสล.ได้ร่วมกับสำนักงานเขต 50 เขต บริหารจัดการขยะสำหรับอาคารและบ้านเรือนประชาชนบริเวณถนนสายหลัก สายรอง โดยสำนักงานเขตออกประกาศกำหนดจุดทิ้งขยะบริเวณถนนสายหลักและสายรอง เพื่อให้ประชาชนรับทราบ โดยกำหนดเวลาทิ้งขยะ ระหว่างเวลา 18.00 – 03.00 น. พร้อมจัดเก็บให้แล้วเสร็จภายในเวลา 05.30 น. ของทุกวัน ขณะเดียวกันได้ติดตั้งกรงตาข่ายที่จุดทิ้งขยะ เพื่อรองรับถุงขยะจากประชาชนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยตั้งวางกรงตาข่ายระหว่างเวลา 18.00 – 05.00 น. และจัดเก็บกรงตาข่ายหลังจากเก็บขยะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ ได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เขตนำขยะใส่ถุงที่ไม่รั่วซึม มัดปากถุงให้สนิท และทิ้งในจุดทิ้งขยะตามเวลาที่สำนักงานเขตกำหนด

อย่างไรก็ตาม สสล.และสำนักงานเขตจะได้ประสานความร่วมมือในการพิจารณากำหนดจุดทิ้งและการจัดเก็บขยะในถนนสายหลัก สายรองให้เหมาะสม รวมถึงพิจารณาตั้งวางถังขยะสำหรับพื้นที่ค้าขายให้เพียงพอ พร้อมกำหนดแผนการล้างทำความสะอาดจุดทิ้งขยะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ต่อไป

 

 

เขตปทุมวันกวดขันห้ามให้อาหารสัตว์ริมคูคลองในซอยต้นสน ประสานกรมอุทยานฯ พิจารณาควบคุมจำนวนตัวเงินตัวทอง
     
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์พบตัวเงินตัวทองจำนวนมากในซอยต้นสนว่า สำนักงานเขตปทุมวัน ได้ตรวจสอบและพิจารณาแนวทางประชาสัมพันธ์และกวดขันมิให้มีการให้อาหารสัตว์ในที่สาธารณะบริเวณริมคูคลองในซอยต้นสน เขตปทุมวัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและความปลอดภัยของประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านไป-มา หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ตามมาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใด (1) ทิ้งสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอยลงบนที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามลำดับที่ 19 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้พิจารณาแนวทางการควบคุมและจำกัดจำนวนตัวเงินตัวทองในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจะประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ต่อไป
   
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกเลื้อยคลาน สามารถพบเห็นอยู่ทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง และบึงต่าง ๆ หรือในท่อระบายน้ำ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินซากสัตว์เป็นอาหาร มีนิสัยขี้ตกใจ เมื่อพบคน หรือสุนัขตามบ้านเห่าจะหาที่หลบซ่อน จึงมักวิ่งหลบเข้าไปในบ้านเรือนของประชาชน จากสถิติการบริการให้ความช่วยเหลือประชาชนกรณีตัวเงินตัวทองเข้าบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปี 2564 จำนวน 7,557 ครั้ง ในปี 2565 จำนวน 6,827 ครั้ง และในปี 2566 จำนวน 6,960 ครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยจับตัวเงินตัวทองมาแล้วจะนำส่งให้ อส.และบางส่วนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้ ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือจับงู ตัวเงินตัวทอง กำจัดรังต่อ รังแตน ผึ้ง หรือสัตว์อื่น ๆ สามารถแจ้งผ่านสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

เขตสัมพันธวงศ์จับมือ สน.พื้นที่จัดระเบียบย่านสำเพ็ง-เยาวราช กวดขันผู้ค้ารถเข็น-จยย.ส่งของ-คนเร่ร่อน

นายวัลลภ เกียรติศรีวรกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตภายในตรอกสำเพ็งมีสภาพแคบแออัด แต่มีรถจักรยานยนต์ส่งของเข้าไปวิ่งภายในซอย รวมถึงมีรถเข็นขายสินค้าและคนเร่ร่อน อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในย่านเยาวราชว่า สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ละวันมีประชาชนและนักท่องเที่ยวหมุนเวียนมาจับจ่ายซื้อสินค้าจำนวนมากในทุกพื้นที่ทำการค้า ซึ่งมีทั้งที่อนุญาตให้ทำการค้าได้และพื้นที่นอกจุดพื้นที่ทำการค้า รวมทั้งเป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรทั้งทางรถและทางสัญจรที่ใช้เดิน หรือทางเท้า ส่วนพื้นที่บริเวณตรอกสำเพ็ง หรือซอยวานิช ๑ เป็นซอยที่เป็นพื้นที่ทำการค้ามีผู้ค้าจับจ่ายซื้อสินค้าจำนวนมากเช่นกัน จึงทำให้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ไม่สามารถใช้สัญจรเข้า-ออกได้ตามปกติ ซึ่งเป็นไปโดยสภาพการจราจร

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ประสานขอความร่วมมือสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่จัดระเบียบทั้งผู้ค้า ผู้ค้ารถเข็น ผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และคนเร่ร่อน โดยกรณีผู้ค้าได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจัดระเบียบการตั้งวางสินค้า หรือสิ่งของต่าง ๆ ของผู้ค้าให้อยู่ในขอบเขตที่เจ้าหน้าที่กำหนดและอนุญาตเฉพาะผู้ค้าที่มีรายชื่อจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่เท่านั้น หากมีผู้ค้ารายใหม่ หรือผู้ค้าจรลักลอบเข้ามาทำการค้า หรือผู้ค้ารายใดฝ่าฝืนข้อกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจัดเจ้าหน้าที่เข้ากวดชัน ๓ ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเช้า ตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๒.00 น. ช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา ๑๒.00 – ๑๙.๐๐ น. และช่วงกลางคืน ตั้งแต่เวลา ๑๙.0๐ – 0๒.๐๐ น. กรณีรถเข็นที่มีทั้งผู้ค้ารถเข็น ที่ได้รับอนุญาตและไม่ได้รับอนุญาต หรือผู้ค้ารถเข็นรายใหม่ สำหรับผู้ค้ารถเข็นที่ได้รับอนุญาตจะกำหนดขอบเขตและมีจุดจอดรถเข็นในบริเวณที่ไม่กีดขวางทางสัญจรโดยไม่อนุญาตให้เข็นเข้า-ออก หรือเคลื่อนย้าย หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผู้ค้ารถเข็นที่ไม่ได้รับอนุญาตลักลอบเข้าพื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้า หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ หรือกรณีมีผู้แจ้งจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

สำหรับกรณีคนเร่ร่อน เจ้าหน้าที่เทศกิจได้ลงพื้นที่กวดขันตามเวลา หากตรวจพบจะผลักดันให้บุคคลเร่ร่อนออกจากพื้นที่ โดยประสานส่งต่อฝ่ายพัฒนาชุมชน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือตามความยินยอมของบุคคลเร่ร่อน เช่น ส่งกลับภูมิลำเนา ส่งเข้ากระบวนการของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนรถจักรยานยนต์ส่งของที่วิ่งในซอย เจ้าหน้าที่เทศกิจได้ประสาน สน.ในพื้นที่ร่วมตรวจตราและกวดขันประชาสัมพันธ์ให้รถจักรยานยนต์ใช้ทางอื่นแทน หรือให้ใช้ความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น และใช้ทางสัญจรด้านใดด้านหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กรณีรถจักรยานยนต์และรถยนต์ที่ใช้ซอยดังกล่าวในการสัญจรมีจำนวนน้อยสามารถควบคุมการขับขี่ได้ ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายห้ามรถจักรยานยนต์เข้า-ออกในซอยต่าง ๆ บริเวณย่านเยาวราช รวมถึงซอยวานิช ๑ จะต้องพิจารณาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประชาคมในพื้นที่ สน.พลับพลาไชย ๒ และ สน.จักรวรรดิ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นของการห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งเข้า-ออกในแต่ละช่วงเวลา

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200