กทม.เดินหน้านโยบายจัดหางานให้ผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะส่งเสริมการจ้างงาน
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตถึงนโยบายจัดหางานให้ผู้สูงอายุของ กทม.ว่า สพส.มีภารกิจการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในหลายมิติ อาทิ การจัดหางานให้กับผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานและส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะยากลำบาก หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลัง มีพลังความคิด มีประสบการณ์ หรือคลังปัญญาที่มีคุณค่า มีความต้องการทำงานสามารถทำงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ ขณะเดียวกัน กทม.มีนโยบายการจัดหางานให้ผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้บริการด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเข้าใช้บริการที่โรงเรียนฝึกอาชีพทั้ง 10 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพสัญจร 5 แห่ง โดยจะได้รับการส่งเสริมทักษะอาชีพทั้งในเชิงของการ Upskill Reskill และ Newskill ในกลุ่มที่ต้องการหางานเพื่อสร้างทางเลือกการฝึกทักษะตามความต้องการ สำหรับหลักสูตรที่เปิดให้บริการในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หลักสูตรการใช้งาน Mobile Application Course หลักสูตรซ่อมแซมและดัดแปลงเสื้อผ้า หลักสูตรงานประดิษฐ์จากผ้าสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดบริการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มเปราะบางบริเวณใต้เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เช่น วิชาตัดผมบุรุษ ซ่อมโทรศัพท์มือถือ และซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหากประสงค์จะเรียนวิชาอื่น ๆ สามารถประสาน สพส. ให้จัดส่งวิทยากรเพื่อให้การฝึกอบรมได้
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมด้านอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ โดยพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับค้นหาอาชีพ/หางาน ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อฐานข้อมูลนายจ้าง องค์กร หน่วยงาน และสถานประกอบการที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ โดยสามารถดูข้อมูลของผู้สมัครได้ตรงตามความต้องการ สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่ง สพส.จะประสานกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้เข้าไปรับสมัครงานตามสถานที่ต่าง ๆ และส่งต่อข้อมูลให้กรมการจัดหางานตามคุณสมบัติที่สถานประกอบการต้องการ และสนับสนุนทุนประกอบอาชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ จำนวนไม่เกินครอบครัวละ 5,000 บาท/ปี รวมถึงให้ความช่วยเหลือกรณีประสบปัญหาความเดือดร้อนในด้านต่าง ๆ ตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564
ทั้งนี้ กทม.ได้ศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่มีอาชีพให้ได้รับการจ้างงาน เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิผู้สูงอายุที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เกษียณอายุได้เผยแพร่องค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงสร้างความตระหนักในคุณค่าและคุณประโยชน์ของผู้สูงอายุต่อสังคมและเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลประกอบการจ้างงานผู้สูงอายุ กทม.ให้มีโอกาสได้รับการจ้างงาน
กทม.เตรียมเสนอ บช.น.ออกข้อบังคับจราจรจำกัดความเร็วไม่เกิน 50 กม./ชม.ใน 40 ถนนพื้นที่ชั้นใน
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สจส.ให้ความสำคัญกับการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านการดำเนินการของศูนย์ความปลอดภัยทางถนน ระดับกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน การสร้างความตระหนักและรณรงค์เสริมสร้างจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยและวินัยจราจร รวมถึงบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนทั้ง 5 แนวทางให้ปลอดภัย ได้แก่ 1) ใช้มาตรการด้านวิศวกรรมจราจร 2) จำกัดความเร็วในพื้นที่เขตชุมชนและชุมชนเมือง 3) จัดการกลุ่มดื่มแล้วขับ 4) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงความเสี่ยง และ 5) จัดการแก้ไขปรับปรุงกายภาพถนนโดยเฉพาะบริเวณจุดเสี่ยง
ขณะเดียวกันได้ทำงานร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางถนนทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยมาตรฐานการประเมินความปลอดภัยทางถนนระดับนานาชาติ (iRAP) พบว่า ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม.ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นความเร็วที่สูงเกินไปและไม่ปลอดภัยต่อผู้เดินทางด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และผู้สัญจรบนทางเท้า จึงเสนอให้ กทม.พิจารณากำหนดพื้นที่จำกัดความเร็ว (Speed Limit Zone) ใหม่ในเขตเมือง หรือชุมชน ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ iRAP ขณะนี้ สจส.ได้พิจารณาถนนสำคัญและมีความเสี่ยงสูงเสนอกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ให้พิจารณาออกข้อบังคับจราจร จำกัดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 50 กม./ชม.ในเขตพื้นที่กรุงเทพชั้นใน จำนวน 40 ถนน และเมื่อมีข้อบังคับจราจรแล้ว สจส.จะเร่งติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วทันที รวมทั้งใช้กล้องตรวจจับความเร็วตรวจจับผู้กระทำผิด พร้อมส่งข้อมูลให้ บช.น.เปรียบเทียบปรับสูงสุด เพื่อลดปัญหาการขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนดต่อไป