Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนความชัดเจน-เหมาะสมโครงการบึงรับน้ำคลองคู้บอน

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตบึงรับน้ำคลองคู้บอน ไม่มีในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ว่า โครงการบึงรับน้ำคลองคู้บอนเคยเป็นหนึ่งในโครงการป้องกันน้ำท่วมของ กทม.โดยสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้ออกแบบโครงการดังกล่าวเบื้องต้นแล้ว แต่กระบวนการจัดหาพื้นที่ยังไม่แล้วเสร็จ ต่อมา สนน.มีแผนพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองสายหลักในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม ได้แก่ คลองพระยาสุเรนทร์ คลองบางชัน คลองคู้บอน ให้มีประสิทธิภาพการระบายน้ำลงสู่คลองแสนแสบด้านใต้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาระบบระบายน้ำต่าง ๆ ตามแผนงาน รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาทบทวนโครงการบึงรับน้ำคลองคู้บอนอีกครั้งว่า ยังมีความจำเป็นและเหมาะสมหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ จึงไม่มีความชัดเจนของโครงการเพียงพอ ประกอบกับสภาพพื้นที่ปัจจุบันไม่มีสภาพเป็นบึงรับน้ำ จึงไม่ได้กำหนดเป็นพื้นที่รับน้ำตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

 

กทม.จัดทำแผนเฝ้าระวังภัยแล้ง – เชิญชวนจิตอาสาร่วมซ่อมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ กทม.เพื่อช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้งของ กทม.ประจำปี 2565 ซึ่งใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้หน่วยงาน กทม.ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องทั้งสำนักและสำนักงานเขตจัดทำแผนรองรับและติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค ด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ด้านปัญหาน้ำเค็มเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ด้านถนนทรุดตัว ด้านการสาธารณสุข (โรคระบาด) และด้านเพลิงไหม้อาคารและเพลิงไหม้หญ้า รวมทั้งเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนั้น ได้ประสานสำนักงานเขตทุกแห่งให้ประชาสัมพันธ์รณรงค์เชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ร่วมซ่อมสร้างและบำรุงรักษาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่และวางแผนการเพาะปลูกในช่วงสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างเหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตร ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 หรือสายด่วน กทม.1555 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

เขตจตุจักรตั้งถังขยะพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสะอาดทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ม.เกษตรศาสตร์

นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพขยะจำนวนมาก บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการทิ้งขยะบริเวณทางเท้าหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงหน้าทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน โดยนำถังรองรับขยะมูลฝอย ประกอบด้วย ถังขยะทั่วไป ถังขยะเศษอาหาร ถังขยะอินทรีย์ ถังและถังวัสดุรีไซเคิล พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ตรวจตราดูแลรักษาความสะอาดบริเวณดังกล่าวและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อสร้างความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200