กทม.เตรียมพร้อมประตูระบายน้ำ-เครื่องสูบน้ำ รองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง 9-13 ก.พ.นี้
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 9-13 ก.พ.67 ว่า สนน.ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 9-13 ก.พ.67 ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและตรวจสอบความมั่งคงแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนง ความยาวประมาณ 88 กิโลเมตร โดยเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรของ กทม.ความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร แนวป้องกันของเอกชน หรือหน่วยงานราชการอื่น ความยาวประมาณ 3.85 กิโลเมตร และแนวป้องกันชั่วคราว หรือแนวป้องกันตนเองที่มีระดับน้ำต่ำและความมั่นคงแข็งแรงไม่เพียงพอ หรือแนวฟันหลอความยาวประมาณ 4.15 กิโลเมตร เช่น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน กองทัพเรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ศาสนสถาน หรือศาลเจ้า ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้า สถานประกอบการร้านอาหารริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น
ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมกระสอบทรายพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำกับเสริมความมั่งคงแข็งแรง เพื่อป้องกันน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูงให้เกิดความปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยเฉพาะบริเวณบ้านเรือนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำและบริเวณที่ยังไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร หรือแนวฟันหลอ รวมถึงพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวริมแม่น้ำ อีกทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวังในช่วงก่อนเวลาที่น้ำจะขึ้นทุกวันตามจุดที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งตามบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ตามแนวริมแม่น้ำทุกจุดให้พร้อมใช้งานได้ทันที พร้อมทั้งมีแผนปฏิบัติการให้สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาปฏิบัติการลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำ และเร่งสูบระบายหากเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่
นอกจากนั้น ได้ตรวจสอบความพร้อมประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความพร้อมใช้งานทุกจุด สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมต้องติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่ในแต่ละวันอย่างใกล้ชิดผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เตรียมปรับภูมิทัศน์-ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างในสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะบริเวณป้อมมหากาฬว่า สสล.ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ ได้ปรับปรุงพื้นที่โดยปลูกเพิ่มต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้บริการแก่ประชาชนได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ เพื่อทดแทนของเดิมที่ชำรุด ซึ่งตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.67 นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแผนการปฏิบัติงานปรับปรุงภูมิทัศน์ของสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ โดยจะปลูกไม้ดอกสีสันสวยงามหมุนเวียนตลอดทั้งปี เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมโบราณสถานป้อมมหากาฬ พร้อมกับการชื่นชมกับดอกไม้นานาชนิด
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.กล่าวว่า สวท.ร่วมกับสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) สำนักการระบายน้ำ (สนน.) และสำนักงานเขตพระนคร ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งท่องเที่ยวโดยภาพรวมตลอดแนวคลองรอบกรุง (คลองบางลำพู) และบริเวณจุดตัดคลองมหานาค ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะป้อมมหากาฬในปัจจุบัน ซึ่งอนาคตพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬและสวนสาธารณะสามารถเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญเช่นเดียวกับย่านสำราญราษฎร์ ย่านประตูผี ย่านวัดราชนัดดา-วัดเทพธิดาราม ย่านชุมชนสมมตอมรพันธ์ โดยมีเป้าหมายให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ พื้นที่นันทนาการ และแหล่งท่องเที่ยวของประชาชนต่อไป
ส่วนกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการฉายภาพท้องทะเลและตัวการ์ตูนต่าง ๆ ในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week ๒๐๒๔) จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ซึ่งการจัดแสดงดังกล่าว เป็นผลงานของศิลปินชาวอินโดนีเซียที่ต้องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยนำเสนอเรื่องราวของวิถีชีวิตริมทะเลของชาวอินโดนีเซียให้ชาวไทยได้ทราบ ทั้งนี้ มีผลงานจากศิลปินอีกหลายกลุ่มที่นำเสนอเรื่องราวที่แตกต่างกันไป โดยมีอาจารย์ ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ เป็นผู้ประสานงานหลัก ผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)
กทม.ประสานกรมธุรกิจพลังงานหารือแนวทางตรวจกำกับติดตามการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญในกรุงเทพฯ
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความปลอดภัยตู้น้ำมันหยอดเหรียญในกรุงเทพฯ ว่า สนอ.เตรียมประสานกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติการควบคุม กำกับการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย รวมทั้งประสานข้อมูลและความร่วมมือการตรวจกำกับติดตามการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญให้มีความปลอดภัย โดยผู้บริหาร กทม.ได้สั่งการให้ทุกสำนักงานเขตสำรวจสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยเฉพาะสถานประกอบการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ เพื่อกวดขันและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการมายื่นขอรับใบอนุญาตและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง หากผู้ประกอบการยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ สำนักงานเขตสามารถใช้อำนาจสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข หรือสั่งให้หยุดประกอบกิจการได้ โดย สนอ.จะประสานรายละเอียดกับสำนักงานเขตต่อไป
นอกจากนี้ กทม.ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลสถานที่ติดตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงสถานประกอบการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง และการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง (BKK Risk Map) ซึ่งได้พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดย สนอ.ได้จัดส่งข้อมูลสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การบรรจุ การขนส่งและการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) เพื่อลงระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map) โดยแผนที่เสี่ยงภัยสารเคมี ประกอบด้วย ข้อมูลสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและวัตถุอันตราย จำนวน 975 แห่ง และอยู่ระหว่างนำส่งข้อมูลสถานประกอบการดังกล่าวเพิ่มอีก 4,313 แห่ง ข้อมูลร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้ม ๓๘๔ แห่ง ข้อมูลสถานประกอบการสะสมพลุ ดอกไม้เพลิง ๗ แห่ง และข้อมูลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายระดับสูง 40 แห่ง ข้อมูลสถานประกอบการสารเคมีที่ไม่ได้จำแนกประเภทกิจการ 544 แห่ง ส่วนการจัดทำฐานข้อมูลสถานที่ติดตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างนำเข้าข้อมูลลงระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map)
ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยมีแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2564-2570 ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564-2570 ในรูปแบบของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการ การบูรณาการและความสามารถของหน่วยงานในการเผชิญเหตุได้อย่างเป็นระบบและเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์สาธารณภัยที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีแผนย่อย 9 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากโรคระบาด แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากวาตภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากภัยแล้ง แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นไหวและอาคารถล่ม แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากการคมนาคมขนส่ง และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากมลพิษทางอากาศประเภท PM2.5 ภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสถานประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ กทม.ได้เตรียมความพร้อมตามมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย ตลอดจนแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยเป็นแผนการปฏิบัติทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ