Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.เตรียมพร้อมดูแลความปลอดภัย-เฝ้าระวังอัคคีภัยช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 67

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัยพื้นที่จัดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ประจำปี 2567 ว่า สนอ.ได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากสำนักงานเขต 50 เขต จัดกิจกรรมรณรงค์ลดควันธูป การเผากระดาษ ในศาลเจ้าช่วงเทศกาลตรุษจีน เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายจากควันธูป รวมถึงให้คำแนะนำการบริหารจัดการเพื่อลดมลพิษจากการจุดธูปให้แก่สำนักงานเขต เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลศาสนสถาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนในการบริหารจัดการเพื่อลดมลพิษจากการจุดธูปในศาลเจ้าช่วงเทศกาลตรุษจีน ขณะเดียวกันได้กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ลดควันธูปการเผากระดาษในศาลเจ้าช่วงเทศกาลตรุษจีน พร้อมมอบหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละอองให้แก่ประชาชนที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองในวันที่ 6 ก.พ.67 ณ ศาลเจ้าไต้ฮงกง (มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง) และศาลเจ้าหลีตี้เมี้ยว เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และในวันที่ 9 ก.พ.67 ณ ศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร
นอกจากนัั้น สนอ.ได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตคลองสามวา สำนักงานเขตบางคอแหลม สถานีดับเพลิงและกู้ภัยพื้นที่ และตำรวจชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง หรือสารเคมีอันเป็นส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิงที่ได้รับใบอนุญาตตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เขตคลองสามวา และบริษัท หะรินพาณิชย์ จำกัด เขตบางคอแหลม เพื่อดูแลปกป้องสุขภาพอนามัย ป้องกันอุบัติเหตุ ตลอดจนสร้างเสริมความปลอดภัยให้แก่ประชาชน


ทั้งนี้ กทม.ได้พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักและ สนอ.เป็นหน่วยงานสนับสนุน โดย สนอ.ได้จัดส่งข้อมูลสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีการจัดเก็บ การผลิต การสะสม การบรรจุ การขนส่งและการใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้ สวพ.ลงระบบฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงภัย (BKK Risk Map) ในส่วนของแผนที่เสี่ยงภัยสารเคมี ประกอบด้วยข้อมูลสถานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและวัตถุอันตราย 544 แห่ง และอยู่ระหว่างนำส่งข้อมูลสถานประกอบการดังกล่าวเพิ่มอีก 4,313 แห่ง ข้อมูลร้านจำหน่ายก๊าซหุงต้ม 384 แห่ง ข้อมูลสถานประกอบการสะสมพลุ ดอกไม้เพลิง 7 แห่ง และข้อมูลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายระดับสูง 40 แห่ง

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีนของ กทม.ประจำปี 2567 เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการให้หน่วยงานสังกัด กทม.ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ ทั้งในช่วงก่อนเทศกาล ช่วงเทศกาล และช่วงหลังเทศกาล ขณะเดียวกันได้มีประกาศ กทม.เรื่อง การป้องกันอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2567 เพื่อขอความร่วมมือศาสนาสถานและประชาชนในการใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทนการจุดธูปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และขอให้งด หรือลดการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อป้องกันและลดปัญหาฝุ่น PM2.5 รวมถึงการจุดประทัดต้องจุดในที่โล่ง และไม่ปล่อยบุตรหลานจุดประทัด หรืออยู่ใกล้สถานที่จุดประทัดโดยไม่มีผู้ดูแล เป็นต้น ส่วนสถานประกอบการขอให้ตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัย สัญญาณเตือนภัย และถังดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา


นอกจากนั้น สปภ.ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถดับเพลิงและกู้ภัยประจำจุดเฝ้าระวังอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน จำนวน 41 จุด โดยเฉพาะบริเวณที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนพักอาศัยหนาแน่นและมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุอัคคีภัย รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการพิเศษและกู้ภัยทางน้ำเฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำ โป๊ะเรือ ท่าเรือโดยสารที่เป็นจุดเสี่ยงอันตราย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยตรวจให้คำแนะนำความปลอดภัยและวิธีป้องกันและระงับอัคคีภัยเบื้องต้นให้กับผู้ดูแลศาลเจ้าและชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยง เพื่อสร้างความตระหนักและความร่วมมือของประชาชนในการเพิ่มความระมัดระวังและป้องกันอันตรายจากอัคคีภัย รวมถึงอุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประจำปี 2567 ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและระงับเหตุอัคคีภัย รวมทั้งอุบัติภัยต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยร่วมกับฝ่ายเทศกิจสำนักงานเขตบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการแพทย์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ อาสาสมัคร เป็นต้น จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อย พร้อมประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวังบริเวณบ้านเรือนประชาชนและสถานที่จัดงานในด้านความปลอดภัยและการเกิดอัคคีภัยจากการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง และการจุดประทัดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ การจัดงานเทศกาลในสถานที่สำคัญ ๆ เช่น เยาวราช สนท.และสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ได้ร่วมกันจัดกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัย อำนวยการจราจร การจัดระเบียบพื้นที่และการตั้งวางสินค้าตลอดการจัดงาน และพื้นที่จัดงานอื่น ๆ จะมีแนวทางดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวว่า สจส.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยจัดรถ “BMA Feeder” ซึ่งเป็นรถ EV shuttle Bus ขนาด 20 ที่นั่งให้บริการเดินรถเวียน รับ-ส่งประชาชน ฟรี (จำนวน 4 คัน ออกเดินรถทุก ๆ 30 นาที) ช่วงวันที่ 10 – 12 ก.พ.67 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 23.00 น.ระหว่างพื้นที่ย่านเยาวราชกับย่านถนนข้าวสาร โดยมีเส้นทางเดินรถ BMA Feeder (ขาไป) จากถนนเยาวราช มุ่งหน้าถนนมหาไชย แยกซ้ายไปซอยสำราญราษฎร์เข้าสู่ถนนศิริพงษ์ผ่านเสาชิงช้า และแยกขวาไปตามถนนดินสอ มุ่งหน้าถนนพระสุเมรุ ถนนบวรนิเวศน์ มุ่งสู่ย่านข้าวสาร จากนั้น (ขากลับ) รถจะวิ่งไปตามถนนราชดำเนินนอกเข้าสู่ถนนดินสอ ผ่านเสาชิงช้า ไปยังถนนศิริพงษ์ ไปถึงแยกสามยอดและแยกซ้ายไปตามถนนเจริญกรุง ถนนผดุงด้าว A มุ่งหน้าไปยังถนนเยาวราช โดยมีจุดจอดรถรับส่ง 9 ป้าย ดังนี้ ป้ายเฉลิมบุรี ป้ายตลาดเก่าเยาวราช ป้ายหน้าอาคาร Mega Plaza สะพานเหล็ก (คลองโอ่งอ่าง) ป้ายศาลาว่าการ กทม. (ถนนดินสอ) ทั้งขาไปและกลับ ป้ายวัดบวรนิเวศวิหาร (ใกล้ถนนข้าวสาร) ป้ายก่อนถึงอนุสวรีย์ประชาธิปไตย (ระหว่างแยกคอกวัวและอนุสวรีย์ฯ) ป้ายโรงเรียนเบญจมราชาลัย (ใกล้เสาชิงช้า) ป้ายสถานีรถไฟฟ้าสามยอด และป้ายแอมไชน่าทาวน์


ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่อยู่ในพื้นที่เยาวราชและบริเวณโดยรอบให้สามารถใช้งานได้ปกติ เพื่อติดตามดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่จัดงานอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา หากประชาชนมีเหตุจำเป็นสามารถขอดูภาพที่บันทึกไว้ย้อนหลังได้ (ไม่เกิน 14 วัน) โดยไปลงบันทึกประจำวันเพื่อแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุก่อน จากนั้นแจ้งความประสงค์ค้นไฟล์ภาพได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th หรือแอปพลิเคชันไลน์ @CCTVBANGKOK

 

กทม.กำชับเทศกิจเข้มงวดจัดระเบียบทางเท้า-ให้ตัวแทนผู้ค้ามีส่วนร่วมดูแลพื้นที่

นายสุรเดช อำนวยสาร รองอำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ข้อความระบุมีกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่เทศกิจและผู้ค้า โดยแจ้งเตือนล่วงหน้าหากมีผู้บริหารมาตรวจพื้นที่ ทำให้ไม่พบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยว่า การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าหาบเร่แผงลอย สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจให้กวดขัน ดูแล และบังคับการตรวจสอบพื้นที่ทางเท้าและที่สาธารณะอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกปลอดภัยในการใช้ทางเท้าสัญจร โดยการทำการค้าต้องอยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์และกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น หากพบการปล่อยปละละเลยและประชาชนได้รับผลกระทบ รวมถึงการเรียกรับผลประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามลำดับ


ส่วนการปฏิบัติหน้าที่โดยการสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ เป็นแนวทางหนึ่งของการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว สามารถส่งรูปภาพการปฏิบัติงานทันที และตามประกาศ กทม.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะได้กำหนดให้ผู้ค้ามีส่วนร่วมดูแลพื้นที่ โดยมีผู้แทนผู้ค้าจำนวน 3-9 คน ช่วยกันดูแลพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ จึงต้องสื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ค้า ซึ่งได้กำชับให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง หรือหากพบพฤติกรรมตามที่ปรากฏในสื่อ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยตามลำดับต่อไป กรณีการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue เจ้าหน้าที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและแจ้งผลการแก้ไขผ่านทางระบบให้ผู้ร้องได้ตรวจสอบผลการดำเนินการทันที


สำหรับความคืบหน้าการจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในจุดผ่อนผัน หรือพื้นที่ทำการค้าที่ กทม.ประกาศอนุญาต ผู้ค้าจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หากฝ่าฝืน หรือถูกตักเตือน หรือได้รับการร้องเรียนบ่อยครั้ง หรือสภาพไม่เหมาะที่จะทำการค้า จุดนั้นจะต้องถูกยกเลิกพื้นที่ทำการค้า เช่น ซอยอารีย์ 1 เขตพญาไท ถนนคอนแวนต์ ฝั่งซ้ายหน้าอาคารโรเล็กซ์ เป็นต้น รวมถึงพื้นที่นอกจุดผ่อนผันเมื่อปี 2565 ได้สำรวจและจัดทำบัญชีไว้ 726 จุด ผู้ค้า 15,858 ราย ปัจจุบันได้จัดระเบียบ ยกเลิก ยุบรวมจุดที่มีปัญหากรณีที่ไม่สามารถจัดระเบียบได้ ผู้ค้าไม่ให้ความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นจะต้องยกเลิกจุดดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 191 จุด คงเหลือ 544 จุด ผู้ค้า 13,210 ราย และในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ได้ตั้งเป้าหมายดำเนินการเพิ่มอีก 110 จุด ซึ่งดำเนินการได้แล้ว 27 จุด และมีจุดอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเป้าหมายแต่พบว่ามีปัญหาได้ยกเลิกไปแล้วอีก 14 จุด จัดระเบียบ 5 จุด เป็นต้น

 

กทม.ตั้งศูนย์ประสานงานบริหารจัดการน้ำพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกพร้อมรับภัยแล้ง

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งว่า สพส.ร่วมกับสํานักการระบายน้ำและสํานักงานเขตหนองจอกจัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ติดตามข่าวสารสถานการณ์และปริมาณน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ หาวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา หลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์เอลนีโญในพื้นที่ด้านตะวันออกของ กทม. พ.ศ.2566 ซึ่งได้มอบหมายภารกิจทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งช่วงเดือน ธ.ค.66 – เม.ย.67 นอกจากนี้ สพส.ร่วมกับสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานครเฝ้าระวัง ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำและได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เช่น การขอยืมรถแบคโฮและเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันที
ขณะเดียวกัน สพส.ได้ดําเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ กทม.ในเรื่องการเตรียมการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยประสานโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษา กรมชลประทาน และสํานักการระบายน้ำเพื่อติดตามสถานการณ์ ปริมาณน้ำ และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตฝั่งตะวันออกของ กทม.ตลอดจนประสานสํานักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบข้อมูล ให้เกษตรกรติดตามข่าวสาร สถานการณ์และปริมาณน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ หาวิธีการป้องกัน แก้ไข หลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมประสานนายกสมาคมชาวนาไทยติดตามสถานการณ์น้ำในคลองอย่างใกล้ชิด ทั้งยังได้ร่วมลงพื้นที่ให้คําปรึกษาแนะนําเกษตรกร เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้นในช่วงเกิดภัยและหลังเกิดภัย หากเกิดเหตุความเสียหายจากภัยแล้ง สพส.จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประสบภัยพิบัติตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรณีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) และแนวทางการให้ความช่วยเหลือของ กทม. (กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือไม่ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรก่อนเกิดภัย)


ทั้งนี้ สพส.จะจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นการเกษตรฝั่งพระนคร ประกอบด้วย กลุ่มพื้นที่กรุงเทพตะวันออก 16 เขต ในวันที่ 21 ก.พ.67 ณ ห้องประชุม สพส.เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ วางแผนการเพาะปลูก เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร สํานักการระบายน้ำ และสํานักงานเขตชั้นนอก เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการทำเกษตรของประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่

เขตบึงกุ่มแจงจัดเก็บขยะริมถนนในตรอกซอยตามโครงการ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา”

นายสมพร มีหาดทราย ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตบริเวณถนนนวมินทร์-หน้าแฮปปี้แลนด์ ไม่มีการตั้งถังขยะ ประชาชนต้องนำถุงขยะมาวางเรียงไว้ สร้างความสกปรกให้พื้นที่ว่า บริเวณริมถนนสายหลักสายรอง กรุงเทพมหานคร มีนโยบายการจัดเก็บขยะตามโครงการ “ทิ้งเป็นที่ เก็บเป็นเวลา” โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและกำหนดเวลาให้ประชาชนนำขยะใส่ถุงขยะมาตั้งวาง เพื่อรอรับการจัดเก็บ ตั้งแต่เวลา 18.00 – 03.00 น. และเจ้าหน้าที่จะจัดเก็บให้แล้วเสร็จไม่เกินเวลา 04.00 น. เป็นประจำทุกวัน ส่วนการจัดเก็บขยะในตรอก ซอย หมู่บ้าน ชุมชน กำหนดจัดเก็บขยะวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สอดส่องสังเกตสิ่งผิดปกติและวัตถุต้องสงสัย หากพบสิ่งผิดปกติแจ้งสำนักงานเขตบึงกุ่ม โทร. 0 2364 7389 หรือ 0 2364 7419 เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200