Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567

กทม.ปรับปรุงแก้ไขกายภาพสามแยก ถ.นวมินทร์ เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชน

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.ปลดป้าย “รถผ่านตลอด” บนสัญญาณไฟจราจรบริเวณสามแยกถนนนวมินทร์ หน้าแฮปปี้แลนด์ เนื่องจากการปล่อยรถผ่านไปการเคหะแห่งชาติ ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากรถที่เลี้ยวจากแฮปปี้แลนด์มาถนนนวมินทร์ว่า สจส.ได้ตรวจสอบบริเวณสามแยกถนนนวมินทร์ตัดถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 พบว่า การจัดการจราจรในทิศทางถนนนวมินทร์มุ่งหน้าการเคหะแห่งชาติ รถทางตรงและเลี้ยวขวาจะหยุดตามจังหวะสัญญาณไฟจราจรเขียว-แดง อย่างไรก็ตาม สจส.ได้ปรับปรุงแก้ไขกายภาพบริเวณดังกล่าว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนเรียบร้อยแล้ว


นอกจากนั้น ยังได้แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบริเวณอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูล หรือคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue มายัง สจส. หรือสายด่วน กทม.1555 เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไข เพื่อการเดินทางที่ปลอดภัยของประชาชนต่อไป

 

กทม.ติดตามการเฝ้าระวังปัญหาจากการใช้กัญชา กัญชง กระท่อมโรงเรียนในสังกัด

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินมาตรการป้องกันการดื่มน้ำกระท่อมในนักเรียนในสถานศึกษาของ กทม.ว่า สนศ.ได้สนับสนุนและส่งเสริมโรงเรียนสังกัด กทม.ให้ดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้แก่ มาตรการเฝ้าระวังการใช้ยา/สารเสพติด มาตรการป้องกันการใช้ยา/สารเสพติด มาตรการบำบัด รักษาการติดยา/สารเสพติด มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการบริหารจัดการ รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของยา หรือสารเสพติดประเภทต่าง ๆ ให้กับนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.ทุกระดับชั้น โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้แก่ (1) โครงการโรงเรียน กทม.ปลอดยาเสพติด การสนับสนุนให้โรงเรียนมีครูแกนนำและนักเรียนแกนนำยาเสพติด และดำเนินงานตามมาตรการสถานศึกษาปลอดยาเสพติด ซึ่งจะพัฒนาและให้ความรู้แก่ครูแกนนำและนักเรียนแกนนำอย่างต่อเนื่อง (2) โครงการครูตำรวจ (ครู D.A.R.E.) เป็นโครงการที่ตำรวจในพื้นที่เข้าจัดกิจกรรมให้การศึกษาต่อต้านการใช้ยาเสพติดให้กับนักเรียนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และมีภูมิคุ้มกันตนเอง และ (3) โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด TO BE NUNBER ONE ส่งเสริมให้นักเรียนได้จัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ตามความถนัดและความสนใจ นำมาบูรณาการกับกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด


นอกจากนี้ ภายหลังการประชาสัมพันธ์ประกาศ กทม.เรื่อง การเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชา กัญชง และกระท่อมในนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อแจ้งโรงเรียนในสังกัดถือปฏิบัติตาม สนศ.ได้ติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในสังกัดอย่างต่อเนื่องทุกปีการศึกษา จากการรายงานผลของโรงเรียนในสังกัดพบว่า ทุกโรงเรียนดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเข้มแข็ง มีการตรวจตราบริเวณทางเข้า-ออกของโรงเรียนในตอนเช้าและตอนเย็น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยตรวจตรา และขอความร่วมมือผู้ปกครอง ชุมชนร่วมกันสอดส่องดูแลนักเรียน รวมถึงรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือร้านค้าบริเวณรอบโรงเรียนไม่ให้จำหน่ายน้ำกระท่อม หรือกัญชาให้กับเด็กนักเรียน


ขณะเดียวกัน สนศ.ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต สำนักอนามัย และหน่วยงานภายนอกร่วมกันเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การรับรู้เกี่ยวกับโทษ พิษภัย และผลกระทบของยาเสพติดทุกชนิด น้ำกระท่อม กัญชา กัญชง ให้แก่นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และผู้ปกครอง โดยสอดแทรกเนื้อหาในหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรม การประชุม การอบรม สื่อสาร เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันตนเองและไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งลงพื้นที่รณรงค์สร้างกระแสทั้งในและนอกโรงเรียน ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และขอความร่วมมือร้านค้าร้านอาหารและเครื่องดื่มบริเวณโดยรอบโรงเรียนให้ปฏิบัติตามประกาศ กทม.งดการจำหน่ายอาหารขนมและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของยาเสพติดให้โทษประเภทต่าง ๆ กัญชา กัญชง และใบกระท่อม เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับนักเรียนจากการรับประทานอาหารที่มียาเสพติดให้โทษประเภทต่างๆ

 

กทม.เตรียมสำรวจกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน แนะขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)สนับสนุนให้ กทม.ออกกฎหมายควบคุมสถานประกอบการที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านว่า กรุงเทพมหานครกำหนดให้การประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการเป็นกิจการที่ต้องควบคุมภายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยอยู่ในกลุ่มกิจการที่เกี่ยวกับการบริการ ประเภทที่ ๙ (๒๐) ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.๒๕๖๑ ผู้ประกอบการต้องขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยสถานประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ มีลักษณะการประกอบกิจการที่เป็นการส่งพนักงานไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ (ไม่รวมถึงสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing Home) ซึ่งจะไม่มีการจัดสถานที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุในสถานประกอบกิจการ โดยจะมีเพียงสถานที่ หรือสำนักงานสำหรับการมาติดต่อของผู้มารับบริการเท่านั้น กรมอนามัย จึงได้ออกประกาศ สธ.เรื่อง มาตรการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ พ.ศ.๒๕๖๔ เพื่อให้มีแนวทางการจัดบริการที่มีคุณภาพผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้รับความคุ้มครองและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยได้กำหนดคุณสมบัติ การปฏิบัติของผู้ดำเนินกิจการ และผู้ให้บริการ รวมทั้งการจัดให้มีระบบกำกับติดตามการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ โดย สนอ.ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานเขตทราบเกี่ยวกับประกาศกระทรวงฯ เพื่อใช้เป็นข้อมูลแนะนำให้ผู้ประกอบการมาขออนุญาตและกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว


ทั้งนี้ สนอ.ได้ชี้แจงแนวทางการขออนุญาตประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ ให้สำนักงานเขตทราบในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานของเจ้าพนักงานสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค.๖๗ โดยที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงานเขตสำรวจกิจการและแนะนำให้ผู้ประกอบกิจการมาขออนุญาตและตรวจกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามประกาศ สธ.เรื่อง มาตรการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ พ.ศ.๒๕๖๔ ประกอบกับกรมอนามัยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและการขับเคลื่อนประกาศ สธ.เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ พ.ศ.๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๙ – ๓๐ ม.ค.๖๗ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเข้าร่วมประชุมด้วย โดยได้ชี้แจงการดำเนินการตามประกาศ สธ.และรับฟังปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าว เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 

กทม.บูรณาการจัดระเบียบจอดรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวรอบสนามหลวงและสะพานพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 8

นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร (กทม.) กล่าวกล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวจอดบริเวณรอบสนามหลวงและตั้งแต่สะพานปิ่นเกล้าจนถึงสะพานพระราม 8 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้กำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวสามารถจอดได้ที่ลานจอดรถฝั่งทิศเหนือในสนามหลวง ส่วนรถบัสสามารถจอดรับ-ส่งนักท่องเที่ยวได้บริเวณถนนผ่ากลางสนามหลวง แล้วจึงนำรถไปจอดรอรับนักท่องเที่ยวขากลับได้บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงสนามหลวง ซึ่งบางส่วนจะข้ามไปจอดที่ฝั่งสำนักงานเขตบางพลัด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสามารถลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ได้


ส่วนกรณีรถรับจ้างสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถสามล้อเครื่องจอดรอรับผู้โดยสารอย่างไม่เป็นระเบียบ กีดขวางการจราจรโดยรอบพระบรมมหาราชวัง และมีพฤติกรรมหลอกลวงนักท่องเที่ยว สำนักงานเขตฯ ได้ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยมีสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่ทั้ง สน.ชนะสงคราม สน.พระราชวัง และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการปัญหาจราจรโดยรอบพระบรมมหาราชวัง โดยได้เชิญผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะเข้าร่วม เพื่อขอความร่วมมือไม่จอดรอรับผู้โดยสารบริเวณโดยรอบพระบรมมหาราชวัง ซึ่ง สน.ท้องที่ทั้ง สน.ชนะสงครามและ สน.พระราชวัง จะจัดหาจุดจอดรอรับผู้โดยสารให้อย่างเหมาะสม ไม่กีดขวางเส้นทางจราจร เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะปฏิบัติตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก ทั้งเรื่องการแต่งกาย การไม่หลอกลวงนักท่องเที่ยว หรือรับจ้างในลักษณะเหมาทัวร์พาเที่ยวหลายจุด ซึ่งผิดกฎหมาย โดยผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะยินดีปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและภาพลักษณ์ที่ดีของการท่องเที่ยวของประเทศ


สำหรับปัญหาขยะและหาบเร่แผงลอยโดยรอบพระบรมมหาราชวัง สำนักงานเขตฯ ได้มีนโยบายยกเลิกผู้ค้าโดยรอบพระบรมมหาราชวังภายในปี พ.ศ.2567 ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตฯ ได้จัดประชุมทำความเข้าใจถึงเหตุผลความจำเป็นกับผู้ค้าเรียบร้อยแล้ว ส่วนปัญหาคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลางเนื่องจากมีผู้ใจบุญมาแจกอาหารบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาขยะและความไม่สะอาดของพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้มาแจกอาหารไปแจกที่จุดแจกที่สำนักงานเขตฯ ได้จัดไว้ที่บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและซอยสาเก ซึ่งจะกำหนดช่วงเวลาและจำนวนอาหารในการแจก เพื่อไม่ให้เกิดการแจกอาหารเกินความต้องการ

นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาการจอดรถบัสรับ-ส่งนักท่องเที่ยวบริเวณสะพานพระปิ่นเกล้าจนถึงสะพานพระราม 8 โดยประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจงานจราจร สถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางยี่ขัน มีข้อสรุป ดังนี้ (1) กรณีมีรถจอดกีดขวางป้ายรถประจำทาง หรือถนนช่วงที่เป็นทางโค้ง งานจราจร สน.บางยี่ขัน ได้จัดสายตรวจจราจรจัดระเบียบการจอดรถบัสเป็นระยะตามวงรอบ โดยพยายามให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ทางให้น้อยที่สุด (2) ประชาสัมพันธ์ให้รถที่จอดกีดขวางย้ายไปจอดในพื้นที่ที่ไม่กีดขวางการจราจร ซึ่งมีพื้นที่รองรับ 2 แห่ง คือ บริเวณร้านอาหารต้นตำรับไทย และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ-ปิ่นเกล้า (สายใต้เก่า) และ (3) สำนักงานเขตฯ จัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเทศกิจตรวจสอบบริเวณดังกล่าว หากพบการจอดรถบัสกีดขวางทางสัญจร เกิดปัญหาการจราจร จะประสานงานจราจร สน.บางยี่ขันดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นายสุรเดช อำนวยสาร รองอำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการเเทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวว่า สนท.ได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตบางพลัด และ สน.บางยี่ขัน เพื่อจัดระเบียบการจอดรถบัส โดยให้ไปจอดในพื้นที่ 2 แห่ง คือ ในร้านอาหารต้นตำรับไทย และสถานีขนส่งปิ่นเกล้า (สายใต้เก่า) ส่วนบริเวณพื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสนามหลวง สนท.ร่วมกับสำนักงานเขตพระนครจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ดูแลด้านการจราจร ด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดระเบียบผู้ค้าไม่ให้ลักลอบทำการค้าบนทางเท้าโดยเด็ดขาด

 

เขตดอนเมืองสั่งระงับกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่ 3 แห่ง พร้อมเฝ้าระวังลักลอบเปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กทม.กล่าวกรณีสภา กทม.สอบถามมาตรการความปลอดภัยของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่เขตดอนเมือง พร้อมแนะเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในกรุงเทพฯ ว่า สำนักงานเขตฯ ร่วมกับสถานีดับเพลิงดอนเมืองได้ตรวจสอบตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่เขตดอนเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบจำนวน 3 แห่ง ทุกแห่งเปิดประกอบการโดยไม่ได้อนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ตรวจแนะนำโดยแจ้งให้ระงับการประกอบกิจการ และจากการตรวจติดตามผลพบว่า ผู้ประกอบการได้ยกเลิกกิจการโดยเคลื่อนย้ายตู้น้ำมันออกจากพื้นที่แล้ว 1 แห่ง หยุดบริการ/ไม่เปิดจำหน่าย 1 แห่ง และอยู่ระหว่างจัดทำคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หยุดประกอบกิจการ 1 แห่ง ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ เช่น ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรักษาความสะอาด ตรวจสอบ เฝ้าระวังการลักลอบติดตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่ ซึ่งจะรายงานข้อมูลให้ผู้บริหารเขตรับทราบเป็นระยะ รวมทั้งจะขอความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เช่น ผู้นำชุมชน วินรถจักรยานยนต์ ช่วยสอดส่องดูแลเฝ้าระวังมิให้มีการลักลอบเปิดกิจการในพื้นที่ และให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติตนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน


นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้เตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย หรืออุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสถานประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดทำฐานข้อมูลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดแผนการสำรวจสถานประกอบการที่มีการใช้ การจัดเก็บ การสะสม การผลิต การจำหน่าย หรือการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย เขตดอนเมือง สุ่มตรวจสอบสถานประกอบกิจการ เพื่อปฏิบัติให้เป็นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ตรวจสถานประกอบกิจการเพื่อต่อใบอนุญาตประจำปี ส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและพนักงานผู้ปฏิบัติงานชุมชนเกี่ยวกับ การเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย และเตรียมความพร้อมต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุอัคคีภัยร่วมกับชุมชนและสถานีดับเพลิงดอนเมือง จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุนการจัดการเหตุฉุกเฉิน และซักซ้อมเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนหลังเกิดเหตุ เป็นต้น


ทั้งนี้ การประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ประเภทที่ 12.3 การผลิต สะสม กลั่น หรือขนส่งปิโตรเลียม หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเข้าลักษณะกิจการ “การสะสมปิโตรเลียม” ตามกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 โดยสำนักงานเขตฯ จะแจ้งแนะนำให้ความรู้แก่ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกฎหมาย มีมาตรการดูแลด้านความปลอดภัย และจะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น (ผู้อำนวยการเขต) ก่อนเปิดดำเนินการ ดังนี้ (1) ตู้น้ำมันหยอดเหรียญเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดประเภท หรือขนาดของกิจการ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้ขออนุญาตจะต้องดำเนินการก่อนการพิจารณาออกใบอนุญาต พ.ศ.2561 ที่ต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบ และต้องจัดสุขลักษณะ ประเมินอนามัยสิ่งแวดล้อมของกิจการ ก่อนพิจารณาออกใบอนุญาต (2) ต้องจัดสถานที่ประกอบการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 หากมีการจัดเก็บวัตถุอันตรายต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกำหนดมาตรการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้วย (3) ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และ (4) การฝ่าฝืนการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อตรวจพบการประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยข้างต้น และแจ้งให้ระงับประกอบกิจการโดยทันที พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนสำนักงานเขตจะตรวจติดตามเป็นระยะ

นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวว่า สปภ.ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขตดอนเมือง เพื่อสำรวจที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่เขตดอนเมือง พบว่า มีจำนวนรวม 3 ตู้ โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 7/154 ซอยวัดเวฬุวนาราม 36 จำนวน 2 ตู้ และข้างวินรถจักรยานยนต์ ซอยวัดเวฬุวนาราม 21 จำนวน 1 ตู้ ขณะตรวจสอบไม่พบว่า มีการติดตั้งถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ช่วยดับเพลิงแต่อย่างใด ส่วนในเขตพื้นที่อื่น ๆ สปภ.จะประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญและตรวจสอบรูปแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานกำหนด พร้อมทั้งจะจัดส่งพิกัดจุดที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ลงข้อมูลในแผนที่ความเสี่ยง (BKK Risk Map) ต่อไป อีกทั้งได้กำชับสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งเตรียมความพร้อมยานพาหนะและอุปกรณ์โฟมเคมีไว้ให้พร้อม เพื่อรองรับเหตุอัคคีภัย หรืออุบัติภัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากตู้น้ำมันหยอดเหรียญ เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200