รร.กทม.เพิ่มการตรวจตราดูแลพฤติกรรมเด็ก เตรียมจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงแนวทางการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการดูแลความปลอดภัยและป้องกันเหตุอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า สนศ.ได้มีหนังสือขอความร่วมมือเพิ่มความเข้มงวดการดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยกำชับให้สำนักงานเขตและโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษา กทม. และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอย่างเคร่งครัด และเพิ่มการตรวจตราสอดส่องดูและนักเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น รวมถึงดำเนินมาตรการเชิงรุกติดตามดูแลความประพฤติและพฤติกรรมของเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยขอความร่วมมือครูที่ปรึกษาทุกระดับชั้นและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสอดส่อง เฝ้าระวัง ดูแลพฤติกรรมของนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในบริเวณโรงเรียน บริเวณรอบโรงเรียน และบันทึกข้อมูลของนักเรียนที่เป็นกลุ่มรายบุคคล จัดการประชุมผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งระหว่างการประชุมจะให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กนักเรียน แนวทางการสอดส่อง เฝ้าระวัง ดูแลพฤติกรรมนักเรียน และแนะนำช่องทางการสื่อสารระหว่างครูกับผู้ปกครอง เพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงในกลุ่มเด็กนักเรียน อีกทั้งส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิเด็กในโรงเรียนโดยจัดการเรียนการสอนเรื่องสิทธิเด็กสิทธิมนุษยชน การปกป้องคุ้มครองตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ รวมทั้งภัยออนไลน์ต่าง ๆ ให้เด็กทุกคน
นอกจากนี้ ได้จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยให้โรงเรียนจัดครูที่ปรึกษา ครูประจำชั้น ครูให้คำปรึกษา ครูแนะแนว หรือครูที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นแต่ปฏิบัติหน้าที่ในทำนองเดียวกัน คอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหา หรือมีความเสี่ยงจะประสบปัญหา ซึ่งโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสังกัด กทม.ได้จัดชมรม TO BE NUMBER ONE ภายในชมรมมีกิจกรรมบริการให้คำปรึกษา บริการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ เรียนรู้ด้วยตนเอง บริการจัดกิจกรรมสร้างสุข และกิจกรรมศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นการช่วยเหลือดูแลและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุข ภายใต้แนวคิด “ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ” รวมถึงกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสามารถได้แสดงความสามารถของตนเอง และนักเรียนที่มีปัญหาได้มีที่พึ่งทางจิตใจ มีกิจกรรมที่ช่วยเหลือให้นักเรียนที่ประสบปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.ยังได้จัดประชุมผู้ปกครองทุกปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือผู้ปกครองสอดส่องดูแลนักเรียนให้มีความปลอดภัยทั้งขณะที่อยู่ภายในโรงเรียนและภายนอกโรงเรียน ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมทบทวนมาตรการดูแลเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.โดยเฉพาะแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการบูลลี่ในโรงเรียน รวมถึงความเสี่ยง หรือเหตุความไม่ปลอดภัยรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกรณีที่นักเรียนมีปัญหาด้านต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือนักเรียนตามความต้องการ
กทม.จับมือเครือข่ายฯ เฝ้าระวังป้องกันสารเสพติดรอบสถานศึกษา
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีข่าวพบร้านกัญชาใกล้โรงเรียนในพื้นที่เขตดอนเมืองว่า สนอ.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ให้คำแนะนำ และขอความร่วมมือร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่มบริเวณโดยรอบโรงเรียนสังกัด กทม.ในพื้นที่เขตดอนเมืองงดจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เพื่อป้องกันอันตรายและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน พร้อมทั้งชี้แจงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับกัญชาให้กับ 50 สำนักงานเขต เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับกัญชาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กรณีพบการจำหน่ายกัญชาในบริเวณใกล้สถานศึกษา ในพื้นที่สาธารณะ ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักการศึกษา กทม.จัดทำประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอบายมุขของโรงเรียนในสังกัด กทม.โดยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม. คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. และคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหาร กทม. ขณะเดียวกัน สนอ. โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ได้แจ้งต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.เขต) 50 เขต ให้ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังการจำหน่ายกัญชาในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณรอบสถานศึกษา หากพบการจำหน่ายกัญชาที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย หรือสุ่มเสี่ยงจะเกิดความไม่ปลอดภัยในด้านต่าง ๆ แก่เด็กและเยาวชน ให้ประสานแจ้งกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที และเมื่อวันที่ 30 – 31 ม.ค.67 ได้ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 54 แห่ง ที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาและสารเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตถึงปัญหากัญชา น้ำกระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดรอบสถานศึกษา
นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดโซนนิ่งร้านจำหน่ายกัญชาและสารเสพติดอื่นบริเวณรอบสถานศึกษาและศาสนสถานในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.กรณีพบการจำหน่ายกัญชา หรือสารเสพติดอื่น ๆ บริเวณโดยรอบสถานศึกษา สนอ.ได้ประสานความร่วมมือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อขอข้อมูลและที่ตั้งของร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยร่วมกับ สธ. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม.นำเข้าข้อมูลร้านค้าฯ ในแผนที่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นฐานข้อมูลการเฝ้าระวัง โดยปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขอความร่วมมือสำนักงานเขตเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ รวมทั้งกำชับแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ กทม.หากพบการจำหน่ายสิ่งของที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อีกทั้ง สนอ.ได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยกัญชาให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงบูรณาการป้องกันปัญหาจากการจำหน่ายกัญชาร่วมกับการดำเนินงาน 7 มาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ โดยจัดประชุมชี้แจงให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่รับผิดชอบครบทั้ง 437 โรงเรียนแล้ว รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องโทษพิษภัยของกัญชาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนสังกัด กทม. อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยยาและยาเสพติด อาสาสมัครสาธารณสุข กทม.ผู้นำชุมชน สมาชิกในชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังปัญหาจากการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน
กทม.เพิ่มมาตรการกำกับดูแลศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง-บ้านผู้สูงอายุบางแค 2 ให้ถูกต้องได้มาตรฐาน
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงมาตรการกำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานประกอบการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานว่า สพส.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ พ.ศ.๒๕๔๖ โดยสิทธิที่ผู้สูงอายุพึงได้รับตามมาตรา ๑๑ (๔) กำหนดให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริม สนับสนุนในด้านการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมฯ และมาตรา ๑๑ (๑๐) กำหนดให้ผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริม สนับสนุนที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง ซึ่ง สพส.ได้ดำเนินการตามข้อกฎหมายดังกล่าว โดยจัดบริการในรูปแบบศูนย์บริการผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางสังคมคือ ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง และจัดบริการในรูปแบบสถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุ คือ บ้านผู้สูงอายุบางแค ๒
สำหรับการเพิ่มมาตรการกำกับดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานประกอบการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด ในส่วนที่เป็นภารกิจของ สพส.ได้แก่ การให้บริการของศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง ซึ่งเป็นการจัดบริการในรูปแบบสโมสรผู้สูงอายุแบบไป-กลับ (Day Service) มีจำนวนผู้ใช้บริการ ประมาณ ๑๐๐ คน/วัน (ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญ จำนวน ๔๙๙ คน สมาชิกสมทบ จำนวน ๒๕ คน รวม ๕๒๔ คน) และบ้านผู้สูงอายุบางแค ๒ ซึ่งเป็นการจัดบริการสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง หรือต้องการได้รับการช่วยเหลือ สามารถรองรับผู้สูงอายุ จำนวน ๑๔๐ คน (ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเข้าพัก จำนวน ๑๓๖ คน) ซึ่งทั้ง ๒ แห่ง สพส.ได้ดำเนินงานตามระเบียบและมาตรการด้านความปลอดภัยในการให้บริการผู้สูงอายุของหน่วยงานที่สอดคล้องกับประกาศ สธ.เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของผู้รับบริการ พ.ศ.๒๕๖๔ อาทิ จัดทำและรวบรวมข้อมูลทะเบียนผู้ใช้บริการ ให้คำปรึกษาแนะนำโดยนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา จัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและใจถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ดูแลการรับประทานยา รวมถึงบริการส่งต่อโรงพยาบาล เมื่อผู้สูงอายุเกิดการเจ็บป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ และกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เช่น โควิด 19 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรการที่รัฐกำหนด เป็นต้น