ส่งทีมเฝ้า41จุด ชาวจีนหนาแน่นจัดรถFeederรับส่งฟรี
นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขาฯผู้ว่าฯกทม. และโฆษก กทม. เปิดเผยว่า กทม. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง ประกอบด้วย 1.จัดตั้งจุด เฝ้าระวังอันตรายตรุษจีน บริเวณจุดเสี่ยงทั่วพื้นที่ พร้อมเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับชุมชนที่มีความเสี่ยง หรือล่อแหลมสูง ให้สามารถเข้าระงับเหตุสาธารณภัยได้ทันท่วงที เช่น ศาลเจ้า อาคารบ้านเรือน สถานที่จัดกิจกรรม ตรวจสอบจำนวนถังดับเพลิงให้เหมาะสมกับพื้นที่ และให้คำแนะนำเรื่องการใช้งาน
รวมถึงกำหนดเส้นทางเข้า-ออก ลดความหนาแน่นพื้นที่จัดงาน และเส้นทางอพยพเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยประชาชนสามารถตรวจสอบจุดติดตั้งถังดับเพลิงในชุมชนได้ในระบบแผนที่เสี่ยงภัยของ กทม. (BKK Risk Map)
2.ขอความร่วมมือศาสนสถานและประชาชน ใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทนการจุดธูปเทียน บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนงดหรือลดการเผากระดาษเงินกระดาษทอง บรรเทาปัญหา PM 2.5 หากจำเป็นต้องจุดก็ขอให้ระมัดระวัง โดยต้องมีภาชนะทนไฟรองรับ มีผู้ดูแลจนกว่าไฟดับสนิท และเผาในเตาที่มีคุณภาพ หรือพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือควันจำนวนมาก
และ 3.ขอความร่วมมือสถานประกอบการที่ปิดทำการช่วงเทศกาล ตรวจสอบความปลอดภัยทางกายภาพ อาทิ อุปกรณ์ หรือระบบป้องกันอัคคีภัย สัญญาณเตือนภัย และ ถังดับเพลิง ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ และเดินสายดิน ป้องกันไฟรั่ว
ด้านนายสุริยชัย รวิวรรณ รองผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทน ผอ.สปภ. กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถดับเพลิงและกู้ภัยประจำจุดเฝ้าระวังอัคคีภัยรวม 41 จุด โดยเฉพาะบริเวณที่มีชาวไทยเชื้อสายจีนพักอาศัยหนาแน่น และมีความเสี่ยงเกิดอัคคีภัย และจัดชุดปฏิบัติการพิเศษและกู้ภัยทางน้ำเฝ้าระวังอุบัติภัยทางน้ำ โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำ โป๊ะเรือ ท่าเรือโดยสารที่เป็นจุดเสี่ยง พร้อมให้คำแนะนำวิธีป้องกันและระงับอัคคีภัย เบื้องต้นให้ผู้ดูแลศาลเจ้าและชุมชนแออัด
ขณะที่นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า มีการประสานความร่วมมือหน่วยงานอำนวยความสะดวกการเดินทางช่วงตรุษจีน ด้วยการ จัดรถ BMA Feeder ซึ่งเป็นรถ EV shuttle Bus ขนาด 20 ที่นั่งให้บริการเดินรถเวียน รับ-ส่งประชาชน ฟรี ( 4 คัน ออกทุก 30 นาที) ระหว่างวันที่ 10-12 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 12.00-23.00 น. ระหว่างพื้นที่ย่านเยาวราช กับย่านถนนข้าวสาร
ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่เยาวราชและโดยรอบ ให้สามารถใช้งานได้ปกติ หากประชาชนมีเหตุจำเป็นสามารถขอดูภาพที่บันทึกไว้ ย้อนหลังได้ (ไม่เกิน 14 วัน) โดยไปลงบันทึกประจำวันเพื่อแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุก่อน จากนั้นแจ้งความประสงค์ค้นไฟล์ภาพได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th หรือแอปพลิเคชันไลน์ @CCTV BANGKOK
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ก.พ. 2567