กทม.สำรวจตู้น้ำมันหยอดเหรียญ 50 เขต ส่งพิกัดลงแผนที่ความเสี่ยง พบไม่มี ใบอนุญาตเอาออกทันที/เขตดอนเมืองสั่งระงับ 3 แห่งในพื้นที่พร้อมเฝ้าระวังลักลอบเปิด
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทั้ง 50 เขต สำรวจตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่ ตามใบอนุญาตของกรมธุรกิจพลังงาน ให้มีมาตรการความปลอดภัยตามกฎหมายกำหนด กรณีไม่ถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่มีใบอนุญาตให้ระงับเอาออกทันที
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักฯ กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขตดอนเมือง เพื่อสำรวจที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่ พบว่า มีจำนวนรวม 3 ตู้ โดยตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้านเลขที่ 7/154 ซอยวัดเวฬุวนาราม 36 จำนวน 2 ตู้ และข้างวินรถจักรยานยนต์ ซอยวัดเวฬุวนาราม 21 จำนวน 1 ตู้ ขณะตรวจสอบไม่พบว่า มีการติดตั้งถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์ช่วยดับเพลิงแต่อย่างใด ส่วนในเขตพื้นที่อื่นๆ สปภ.จะประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญและตรวจสอบรูปแบบให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมธุรกิจพลังงานกำหนด พร้อมทั้งจะจัดส่งพิกัดจุดที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) ลงข้อมูลในแผนที่ความเสี่ยง (BKK Risk Map) ต่อไป อีกทั้งได้กำชับสถานีดับเพลิงและกู้ภัย ทุกแห่งเตรียมความพร้อมยานพาหนะและ อุปกรณ์โฟมเคมีไว้ให้พร้อม เพื่อรองรับเหตุ อัคคีภัย หรืออุบัติภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จากตู้น้ำมันหยอดเหรียญ เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัย สามารถขอความช่วยเหลือมาทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน นายสาโรจน์ พลฤทธิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กล่าวว่า ในส่วน พื้นที่เขตจากกรณีสภากทม.สอบถามมาตรการความปลอดภัยของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่เขตดอนเมืองนั้น สำนักงานเขตได้ร่วมกับสถานีดับเพลิงดอนเมืองตรวจสอบตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ในพื้นที่ พบจำนวน 3 แห่ง ทุกแห่งเปิดประกอบการโดยไม่ได้อนุญาตจาก เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจแนะนำโดยแจ้งให้ระงับการประกอบกิจการ และจากการตรวจติดตามผลพบว่า ผู้ประกอบการได้ยกเลิกกิจการโดยเคลื่อนย้ายตู้น้ำมันออกจากพื้นที่แล้ว 1 แห่ง หยุดบริการ/ไม่เปิดจำหน่าย 1 แห่ง และอยู่ระหว่างจัดทำคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ให้หยุดประกอบกิจการ 1 แห่ง ขณะเดียวกัน สำนักงานเขตได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ ฝ่าย เทศกิจ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรักษาความสะอาด ตรวจสอบ เฝ้าระวัง การลักลอบติดตั้งตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่ รายงานข้อมูลให้ผู้บริหารเขต รับทราบเป็นระยะ รวมทั้งขอความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เช่น ผู้นำชุมชน วินรถจักรยานยนต์ ช่วยสอดส่องดูแลเฝ้าระวังมิให้มีการลักลอบเปิดกิจการในพื้นที่ และให้คำแนะนำวิธีปฏิบัติตนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนั้น ได้เตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันอันตรายและแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย หรืออุบัติภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากสถานประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชน เพื่อดูแลและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดทำฐานข้อมูลสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงภัย ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดแผนการสำรวจสถานประกอบการที่มีการใช้ การจัดเก็บ การสะสม การผลิต การจำหน่าย หรือการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย และ สุ่มตรวจสอบสถานประกอบกิจการ เพื่อปฏิบัติให้เป็นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ตรวจสถานประกอบกิจการเพื่อต่อใบอนุญาตประจำปี ส่งเสริมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและพนักงานผู้ปฏิบัติงานชุมชนเกี่ยวกับ การเก็บรักษาสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการ การจัดทำแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย และเตรียมความพร้อมต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย ร่วมกับชุมชนและสถานีดับเพลิงดอนเมือง จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุนการจัดการเหตุฉุกเฉิน และซักซ้อมเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนหลังเกิดเหตุ เป็นต้น
ทั้งนี้ การประกอบกิจการ ตู้น้ำมันหยอดเหรียญเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ประเภทที่ 12.3 การผลิต สะสม กลั่น หรือขนส่งปิโตรเลียม หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งเข้าลักษณะกิจการ “การสะสมปิโตรเลียม” ตามกฎกระทรวงควบคุมสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2560 โดยสำนักงานเขตจะแจ้งแนะนำให้ความรู้แก่ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการดังกล่าวปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกฎหมาย มีมาตรการดูแลด้านความปลอดภัย และจะต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น (ผู้อำนวยการเขต) ก่อนเปิดดำเนินการ การฝ่าฝืนประกอบกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อตรวจพบเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และหลักเกณฑ์ ด้านความปลอดภัย และแจ้งให้ระงับประกอบกิจการทันที พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งกรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง โดยสำนักงานเขตจะตรวจติดตามเป็นระยะ
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 6 ก.พ. 2567