(2 ก.พ. 67) เข้าสู่วันที่ 2 ของงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง นอกจากจะมีการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) และหน่วยงานในสังกัด เพื่อสนับสนุนการนำงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองและชุมชนท้องถิ่นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการพบกับนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเพื่อเกิดการจับคู่นําผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปขับเคลื่อนต่อในพื้นที่ของตนเอง รวมถึงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาเมืองกรุงเทพ ฯ ให้น่าอยู่ด้วยนวัตกรรมงานวิจัย ผ่านธีมหลักของวันนี้คือ “เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City)” โอกาสนี้ กรุงเทพมหานคร โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช ได้ประกาศความร่วมมือ โครงการการกําหนดตัวชี้วัดและการพัฒนาศักยภาพในการติดตามความเป็นเมืองน่าอยู่สําหรับทุกคนของกรุงเทพมหานคร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และได้ร่วมขึ้นเสวนา “การขับเคลื่อนเมืองกรุงเทพฯ ให้ฉลาด อัจฉริยะ และน่าอยู่” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า โจทย์เมืองนั้นไม่ง่าย สิ่งที่เราพูดเสมอคือ หากเราตอบคำถามเดิมให้ถูกขึ้นเรื่อยๆ เราจะได้แค่การปรับปรุง ถ้าอยากได้นวัตกรรมต้องเริ่มจากการตั้งคำถามใหม่และการตั้งคำถามใหม่เหล่านั้นจะถูกตอบอย่างไร การจะได้คำถามใหม่สามารถมาได้จากหลายทาง และที่ที่ดีที่สุดคือจากประชาชน กรุงเทพมหานครจึงมีความพยายามอย่างสูงที่จะเปิดรับไอเดียจากช่องทางอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าการคิดไปเรื่อยๆ หรือไปดูว่าต่างประเทศหรือเมืองอื่นทำอย่างไรนั้นก็จะเห็นตัวอย่าง แต่หากจะนำมาใช้กับบริบทของกรุงเทพมหานครได้หรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้
ดังนั้นจึงต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีเวลามากพอที่จะหาคำตอบเหล่านี้ให้ นั่นก็คือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญจึงเป็นที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปถึงการวัดผลของการแก้ปัญหาให้ประชาชนว่ามี 2 แบบ คือ
1. ประชาชนบอกได้ว่าชีวิตเขาดีขึ้น
2. ต้องมีสิ่งที่บอกเราได้ว่ามันดีขึ้นนั่นคือการมีตัวชี้วัด
กทม. หวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่การทำให้ กรุงเทพฯ ดีขึ้น หรือแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างเรากับประเทศต่างๆ หรือหน่วยงานที่เป็นมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ 4 เกลียวการพัฒนานวัตกรรมของ กทม. ได้แก่
เกลียวที่ 1 ประชาชนจะรู้สึกได้จริงว่าเมืองดีขึ้น
เกลียว 2 เครือข่ายนักวิชาการจะได้ประโยชน์จากการการทำงานวิจัยนี้
เกลียว 3 เครือข่ายภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ เชื่อมั่นมากพอที่จะช่วยกันทำให้ประเทศมีการลงทุนที่เป็น SDGs
เกลียว 4 ทำให้ กทม. ปรับระบบการทำงานหรือแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่เหมาะกับการพัฒนาในโลกอนาคตได้
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมีการนำกรอบตัวชี้วัดเมืองน่าอยู่ของ EIU (Economist Intelligence Unit) มาเป็นกรอบในการพัฒนาและปรับให้เหมาะสมเข้ากับบริบทของ กทม. ซึ่งจำแนกออกเป็น 9 ด้าน 9 ดี
แม้ว่า กทม .จะได้รับนโยบายและพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่แล้วนั้น พบว่าสิ่งที่ดำเนินการไปยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่องและยังมีช่องว่างในการพัฒนา ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนว่าตัวชี้วัดต่างๆ ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถวัดผลได้และตอบโจทย์ความต้องการและสร้างการรับรู้ของประชาชน โดยในปี 2567 นี้
สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม . ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำโครงการเพื่อกำหนดตัวชี้วัดและการพัฒนาศักยภาพในการติดตามความเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน มีเป้าหมายหลักในการทบทวนและกำหนดตัวชี้วัดของเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน เหมาะสมและสอดคล้องตอบโจทย์ให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงการพัฒนารวมถึงตอบโจทย์มาตรฐานสากลเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติได้ และอีกหนึ่งเป้าหมายของ กทม. คือ อยากจะสร้างบุคลากร กทม. ที่มีส่วนรับผิดชอบตัวชี้วัดนี้ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถรวบรวม ดูแลชุดข้อมูลให้เป็นปัจจุบันและนำมาสะท้อนถึงสถานะความก้าวหน้าของ กรุงเทพฯ ได้
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อการขับเคลื่อนเมืองกรุงเทพฯ ให้ฉลาด อัจฉริยะ และน่าอยู่ โดยฉายภาพทิศทางของกรุงเทพมหานครผ่านการทำงานด้านข้อมูลที่จัดการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งเปิดให้ประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจร่วมกัน เป็นการคืนข้อมูลให้กับประชาชนและเข้าถึงได้สะท้อนถึงความโปร่งใส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ตอบแค่ตัวชี้วัดเท่านั้น แต่จะทำให้รู้ว่าเรายังอยากทำอะไรเพื่อการพัฒนาและสามารถใช้บริหารจัดการเมืองได้ด้วย
สำหรับงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง ซึ่ง “3 มุมเมือง” มีนัย 3 ประการ ได้แก่ การสะท้อน “ประเด็นปัญหาที่สําคัญ” ของเมืองและชุมชนท้องถิ่น ครอบคลุมหลายกลุ่มเป้าหมาย และสื่อถึง “พื้นที่จัดงาน” โดยจัดแบ่งเป็นสามโซนที่สําคัญ ได้แก่ เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้(Learning City) พื้นที่บริเวณภายในหอศิลป์ฯ และบริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน ซึ่งมีบอร์ดนิทรรศการต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยเนื้องานเกี่ยวกับย่านสุขภาพ ย่านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ย่านการศึกษาและการเรียนรู้ ย่านเศรษฐกิจและชุมชนและย่านการจัดการเมืองและการมีส่วนร่วม เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) พื้นที่บริเวณภายหน้าหอศิลป์ฯ ประกอบไปด้วย CityLab Livabele and Smart City และการจําหน่ายหนังสืองานวิจัย และเมืองนวัตกรรมสําหรับทุกคน (Innovative City for All) เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต ได้แก่ พื้นที่บริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน จะมีการออกร้านสินค้าชุมชน งานหัตถกรรม สินค้าเกษตรงานหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรม โดยจัดกิจกรรมวันที่ 1 – 3 กุมภาพันธ์ 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน
โอกาสนี้ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN HABITAT) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมงานด้วย
————-