ธนบุรีสแกนคิวอาร์โค้ดส่องตัวจริงผู้ค้าหน้าตลาดดาวคะนอง สุ่มวัดฝุ่นจิ๋วตรวจรถควันดำไซต์งานควินทารา มาย’เดน โพธิ์นิมิตร ยกจุดบริการด่วนมหานครขึ้นห้างเดอะมอลล์ท่าพระ ชมคัดแยกขยะคืนชีวิตขวดพลาสติกบริษัทน้ำมันพืชไทย

 

 

(2 ก.พ.67) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 215 ราย ได้แก่ 1.ตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. ฝั่งขาออก 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 74 ราย 2.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งขาออก 26ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 66 ราย 3.ถนนรัชดาภิเษก (ไทยช่วยไทย) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 4.สี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-21.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 74 ราย ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-24.00 น. 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 3.ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-24.00 น. 4.หน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-24.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ขนาดร้านค้าต้องไม่เกินขอบเขตที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พร้อมกันนี้ได้สแกนคิวอาร์โค้ดตรวจสอบตัวตนของผู้ค้าที่ได้ลงทะเบียนทำการค้าไว้กับทางเขตฯ เพื่อป้องกันบุคคลอื่นแอบสวมรอยเข้ามาทำการค้าในจุดดังกล่าว รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้ หรือจุดที่เขตฯ จัดทำ Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการควินทารา มาย’เดน โพธิ์นิมิตร (QUINTARA MHy’DEN PHO NIMIT) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 40 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 5 แห่ง ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 1 แห่ง ประเภทกิจการการผลิต สะสม แบ่งบรรจุธูป 1 แห่ง ประเภทอู่เคาะพ่นสียานยนต์ 8 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 3 แห่ง ประเภทกิจการขนส่ง 1 แห่ง เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการจัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ ติดตั้งผ้าใบคลุมฝุ่นโครงสร้างอาคารที่กำลังก่อสร้าง จัดหาเครื่องวัดค่าฝุ่นพร้อมติดตั้งจอแสดงผลค่าฝุ่นในจุดที่เห็นได้ชัดเจน เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำตลอดเวลาทำงาน ตรวจวัดควันดำรถยนต์ตามรอบที่กำหนด

ตรวจจุดบริการด่วนมหานคร (BMA Express Service) เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ เขตธนบุรี ซึ่งเขตฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด ให้ใช้พื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ บริเวณชั้น 3 ติดกับด้าน Harbor Land พื้นที่ 65 ตารางเมตร พร้อมทั้งสนับสนุนในการปรับปรุงพื้นที่ จัดหาวัสดุครุภัณฑ์บางส่วนและระบบสาธารณูปโภคโดยไม่คิดมูลค่า นับว่าเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเปิดให้บริการประชาชนแล้ว เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ตั้งแต่เวลา 10.30-18.30 น. ซึ่งเป็นการเพิ่มจุดให้บริการประชาชนที่มาติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร โดยเปิดให้บริการด้านงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชน ได้แก่ การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน การคัดรับรองสำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนชื่อบุคคล ทะเบียนครอบครัว การให้บริการงานของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ได้แก่ การบริการด้านผู้สูงอายุ คนพิการ ลงทะเบียนผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคมที่ขอรับความช่วยเหลือการจัดการสวัสดิการและการสงเคราะห์ต่างๆ (E-Case) การเปิดให้บริการงานของฝ่ายการคลัง ได้แก่ การรับชำระค่าธรรมเนียม รับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย โดยเปิดให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดระยะเวลาในการเดินทาง สามารถเข้าถึงงานบริการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงลดความแออัดของพื้นที่ให้บริการในสำนักงานเขต อีกทั้งสามารถเข้ารับบริการได้หลายช่วงเวลา นอกเหนือจากเวลาทำการปกติ หรือในวันหยุดราชการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการในแต่ละประเภทของงาน ประสิทธิภาพของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน เครื่องสแกนเอกสาร เครื่องสแกนลายนิ้วมือ ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การเชื่อมโยงฐานข้อมูล รวมถึงการจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ มาประจำจุด ให้เพียงพอกับจำนวนประชาชนที่มารับบริการ เพื่อให้งานบริการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) พื้นที่ 4,284 ตารางเมตร บุคลากร 148 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จัดให้มีจุดคัดแยกเศษอาหารสำหรับพนักงาน และส่งให้กับโครงการไม่เทรวม กทม.เพื่อนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล จัดให้มีจุดคัดแยกขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ในแต่ละชั้น โดยบริหารจัดการ ดังนี้ ขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติก PET และพลาสติกรวม ส่งให้กับโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน นำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ กิจกรรมรวมพลังคืนชีวิตให้ขวดน้ำมันพืช ขยะรีไซเคิลประเภทอื่นๆ เช่น กระป๋องน้ำอัดลม กล่องลัง นำไปจำหน่าย ส่วนกระดาษใช้แล้ว ส่งให้กับ SCGP Recycle เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ และแลกเปลี่ยนเป็นกระดาษ A4 ใหม่ เพื่อนำมาใช้ในสำนักงาน 3.ขยะทั่วไป จัดให้มีจุดคัดแยกขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ในแต่ละชั้น ประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย จัดให้มีจุดคัดแยกขยะอันตราย (ถังสีแดง) ในแต่ละชั้น ประสานเขตฯ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 37 กิโลกรัม/เดือน

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200