ในการประชุมกรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (31 ม.ค.67) นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ยื่นกระทู้ถามสด เรื่อง มาตรการความปลอดภัยของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่เขตดอนเมือง
เนื่องจากในพื้นที่เขตดอนเมืองมีกิจการตู้น้ำมันหยอดเหรียญให้บริการในชุมชนหลายแห่ง ซึ่งที่ผ่านมามีเหตุที่เกิดจากตู้น้ำมันหยอดเหรียญที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชน เช่น เกิดเหตุเพลิงไหม้ ไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ใช้บริการ และผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงกับตู้น้ำมันหยอดเหรียญดังกล่าว จึงขอสอบถามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้
1.กรุงเทพมหานครมีการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และควบคุมดูแลให้เกิดความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร
2.กรุงเทพมหานครมีการอบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้เข้าใจและตระหนักเรื่องความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร
3.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ทราบตำแหน่งที่ตั้งของตู้น้ำมันหยอดเหรียญในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีดับเพลิงแล้วหรือไม่ และมีการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังและระงับเหตุที่เกิดจากตู้น้ำมันหยอดเหรียญ อย่างไร
“ตู้น้ำมันหยอดเหรียญมีความเสี่ยงมากเพราะไม่รู้ว่าในตู้มีน้ำมันมากเท่าไหร่ หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจะก่อให้เกิดความเสียหายแค่ไหน หลังได้รับแจ้งผู้อำนวยการเขตดอนเมืองได้สั่งการให้ฝ่ายเทศกิจลงพื้นที่ไปตรวจสอบทันที ด้วยความรวดเร็ว และหลังการพูดคุยได้มีการรื้อถอนไปแล้ว 1 ตู้ จึงขอถามว่ากทม.ทราบหรือไม่ว่ามีการติดตั้งตู้ลักษณะนี้ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและควบคุมความปลอดภัย และอาจต้องมีการจัดเก็บภาษีเนื่องจากเป็นการจำหน่ายน้ำมันด้วย” ส.ก.กนกนุช กล่าว
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.รู้เรื่องนี้น้อยมากเพราะเป็นการขออนุญาตผ่านกรมธุรกิจพลังงาน จากข้อมูลพบว่าในพื้นที่กทม.มีจำนวน 53 ตู้ และกรมธุรกิจพลังงานได้มีมาตรฐานกำหนดไว้ โดยมีระยะห่างที่กำหนด แต่เชื่อว่าจะมีตู้มากกว่านี้ ซึ่งยังไม่มีการสำรวจแบบ 100% ซึ่งตู้ลักษณะนี้ต้องขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่ด้วยเพราะเป็นการประกอบกิจการที่เป็นอันตราย ซึ่งจะสั่งให้เขตปูพรมตรวจ ไม่เฉพาะที่ขออนุญาตแต่ต้องตรวจทุกที่และทุกตู้ โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ต้องตรวจมาตรฐานอุปกรณ์ความปลอดภัยด้วย กทม.จะขอรับไปดำเนินการและลงข้อมูลแผนที่ความเสี่ยงให้ครบทุกจุด ควบคู่กับการลงข้อมูลจุดติดตั้งถังดับเพลิงในพื้นที่ อย่างน้อยต้องได้โลเคชั่น และจุดที่มีอุปกรณ์ดับเพลิง และเคลื่อนย้ายตู้ที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการเกิดเหตุออกให้เร็วที่สุด สำหรับข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงาน ได้แก่ การต้องมีถังดับเพลิงเคมี ขนาด 6.8 กิโลกรัมต่อตู้ และต้องมีทรายขนาด 200 ลิตร ในบริเวณใกล้เคียง พร้อมติดตั้งป้ายห้ามสูบบุหรี่ ห้ามใช้ประกายไฟ และต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำตู้ตลอดเวลา หากพบว่าไม่เป็นตามมาตรฐานจะสั่งห้ามใช้งานในทันที
————————————-