Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 31 มกราคม 2567

กทม.กำชับโรงเรียนในสังกัดเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย พร้อมจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนักเรียนถูกทำร้ายร่างกายในโรงเรียนย่านพัฒนาการ 26 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว สนศ.ได้ประสานฝ่ายการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภายหลังเกิดเหตุโรงเรียนสามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที โดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลในพื้นที่ให้เร่งเข้ามาช่วยเหลือปฐมพยาบาลทันที สำหรับโรงเรียนที่เกิดเหตุเป็นโรงเรียนที่มีการจัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) และมีครูการศึกษาพิเศษประจำโรงเรียน ซึ่งเป็นครูที่มีวุฒิทางการศึกษาพิเศษ คอยดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวทางป้องกันเหตุไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สนศ.จะจัดให้มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในกรณีที่นักเรียนมีปัญหาในด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม


อย่างไรก็ตาม สนศ.ได้แจ้งประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของ กทม.และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อให้โรงเรียนในสังกัดรับทราบและถือปฏิบัติ โดยโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 437 โรงเรียน ให้ซักซ้อม อบรม ชี้แจงเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงเรียนเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกภาคเรียน หรืออย่างน้อย 6 เดือน/ครั้ง และบุคลากรเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนทุกคนต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของสถานีตำรวจในพื้นที่ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โรงพยาบาลในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อป้องกันเหตุทำร้ายร่างกายในโรงเรียนและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. ได้กำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประสานความร่วมมือฝ่ายเทศกิจ สถานีตำรวจใกล้เคียงให้ช่วยตรวจตรา ดูแล และรักษาความปลอดภัยของนักเรียนในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน และตรวจตราบุคคลที่ผ่านเข้า-ออกโรงเรียนในแต่ละวัน และทุกโรงเรียนต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

นายบัญชา สืบกระพัน ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง กทม.กล่าวว่า เด็กนักเรียนที่ถูกทำร้ายร่างกายในโรงเรียนย่านพัฒนาการ 26 ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต มีประกันอุบัติเหตุตามโครงการเรียนดี เรียนฟรี โดยสำนักงานเขตได้ทำประกันกับบริษัท เคดับบลิวไอ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ขณะเดียวกันได้จัดให้มีแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยาจากศูนย์บริการสาธารณสุข 37 (ประสงค์-สุดสาคร ตู้จินดา) สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และสถาบันสุขภาพจิตเด็กราชนครินทร์ เข้าประเมินสุขภาพจิตและดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียน และบุคลากรที่อยู่ในเหตุการณ์


ทั้งนี้ กทม.มีมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานศึกษา เช่น การสุ่มตรวจการพกพาอาวุธ บุหรี่ไฟฟ้า สารเสพติดกัญชา หรือกระท่อมอย่างต่อเนื่อง จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบนโยบายเร่งด่วน 3 ประเด็น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ได้แก่ (1) การเพิ่มความเข้มข้นในการกวดขันการพกพาอาวุธของนักเรียน รวมถึงอุปกรณ์มีคมภายในโรงเรียน เช่น มีด กรรไกร เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยและพฤติกรรมเลียนแบบ แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีของเด็กด้วย (2) การบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน จัดกิจกรรม Homeroom ที่มีแผนการสอนที่ชัดเจน เพื่อให้รู้จักนักเรียนมากขึ้น สร้างบรรยากาศความไว้วางใจ ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ให้นักเรียนมีชุดคุณค่าความรู้ที่มีโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น รวมถึงการสื่อสารกับผู้ปกครองให้ร่วมสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานร่วมด้วย และ (3) การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย ยับยั้งเหตุการณ์ ทั้งด้านไฟฟ้าส่องสว่าง การมั่วสุมกันของเยาวชน โดยประสานความร่วมมือของสถานีตำรวจท้องที่และเทศกิจ

กทม.เปลี่ยนเต็นท์ศาลาที่พักผู้โดยสารชั่วคราวหน้า รพ.ตากสิน เตรียมติดตั้งป้ายถาวรภายในปี 67

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน เป็นป้ายชั่วคราวตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารแบบถาวรว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นป้ายหยุดรถโดยสารที่มีลักษณะเป็นเต็นท์ชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในช่วงที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม อย่างไรก็ตาม สจส.ได้เปลี่ยนเต็นท์ชั่วคราวหลังใหม่ทดแทนแล้ว ส่วนศาลาที่พักผู้โดยสารแบบติดตั้งถาวร คาดว่า จะดำเนินการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป

 

กทม.แจงกำหนดแนวถนนโครงการสาย ข 38 แก้ปัญหาพื้นที่ปิดล้อมยืนยันไม่มีเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวกรณีชาวหมู่บ้านวิชิตนคร ซอยพระราม 2 ที่ 39 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน ขอให้ชี้แจงการกำหนดแนวถนนโครงการสาย ข 38 ตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีวัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับจากการกำหนดแนวถนนดังกล่าวอย่างไรว่า แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่งตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) กำหนดแนวถนนโครงการสาย ข 38 เป็นถนนเดิมที่กำหนดให้ขยายเขตทางและถนนโครงการกำหนดให้ก่อสร้างใหม่ เพื่อเชื่อมต่อถนนพระรามที่ 2 กับถนนคู่ขนานถนนกาญจนาภิเษกด้านใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โครงข่ายการสัญจรและแก้ปัญหาพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ โดยกำหนดให้มีขนาดเขตทาง 16 เมตร ซึ่งถนนสายดังกล่าวมีแนวเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยจากกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 (ถนนสาย ข 78)


สำหรับการกำหนดแนวถนนโครงการในแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่งที่มีเขตทาง 16 เมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการถอยร่นของอาคารจากแนวถนน ทำให้มีที่โล่งว่าง ลดความแออัดของกิจกรรมที่เกิดขึ้นริมถนน โดยไม่มีเป้าหมายเพื่อเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่อย่างใด ซึ่งตามข้อกำหนดในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่กำหนดให้เฉพาะอาคารที่ก่อสร้างใหม่ในแนวถนนโครงการ จะต้องมีระยะถอยร่นจากกึ่งกลางถนน 8 เมตร ดังนั้น แนวถนนโครงการ จึงไม่กระทบกับบ้านเรือนของประชาชนที่อาศัยอยู่เดิม และการขออนุญาตก่อสร้างอาคารใหม่จะพิจารณาจากเขตทางที่ปรากฏอยู่จริง มิใช่เขตทางที่กำหนดตามผังเมืองรวม


ปัจจุบัน กทม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หากประชาชนต้องการเสนอความเห็นต่อถนนโครงการสายดังกล่าว สามารถยื่นข้อคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อรักษาสิทธิการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในช่วงปิดประกาศ 90 วัน โดยสามารถยื่นด้วยตัวเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.จนถึงวันที่ 29 ก.พ.67 หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (webportal.bangkok.go.th/cpud) โดยทุกข้อคิดเห็น กทม.จะรวบรวมและนำมาใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและนำเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ต่อไป

 

กทม.บูรณาการความร่วมมือเตรียมออกระเบียบห้ามดื่มน้ำกระท่อมในสถานศึกษา เข้มตรวจสอบร้านค้ารอบโรงเรียน

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินมาตรการป้องกันการดื่มน้ำกระท่อมในนักเรียนในสถานศึกษาของ กทม.ว่า สนอ.ได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม.เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 กรณีพบการจำหน่ายกัญชา กระท่อม ในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งกำชับแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ กทม.หากพบการจำหน่ายสิ่งของที่ไม่ถูกต้องตามข้อกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น และประสานแจ้งสายด่วน อย.1556 ตรวจสอบการจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อมในพื้นที่ จากการประสานกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เพื่อดำเนินคดีการจำหน่ายน้ำกระท่อมในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง บก.น.1 – 9 ดำเนินคดีแล้ว จำนวน 179 คดี และสถานีตำรวจนครบาล (สน.) มีนบุรี ดำเนินคดีช่วงเดือน มิ.ย.66 – ม.ค.67 รวมจำนวน 53 คดี ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักการศึกษาจัดทำประกาศ กทม.เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติด กัญชา กัญชง กระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอบายมุขของโรงเรียนสังกัด กทม.โดยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กทม. คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม.และคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหาร กทม.


นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ห้ามดื่มน้ำกระท่อมในสถานศึกษา โดยประชุมหารือร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานครและ บช.น.เพื่อแก้ไขปัญหาการจำหน่ายและการแพร่ระบาดของน้ำกระท่อมในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของน้ำกระท่อมให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ของ สนอ.เป็นวิทยากร รวมถึงบูรณาการป้องกันปัญหาจากการจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อมร่วมกับการดำเนินงานตามมาตรการสถานศึกษาปลอดบุหรี่ โดยจัดประชุมชี้แจงให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่รับผิดชอบครบทั้ง 437 แห่ง รวมทั้งจัดประชุมสร้างความเข้าใจกับอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 54 แห่ง ที่เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาและสารเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ทราบถึงปัญหากัญชา น้ำกระท่อม บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติดรอบสถานศึกษา

นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวว่า สนท.ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบร้านค้าบริเวณโดยรอบสถานศึกษา โดยการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราบริเวณโดยรอบโรงเรียนทุกโรงเรียน หากพบร้านขายใบกระท่อมตั้งร้านขายบนถนน หรือทางเท้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจะจับปรับตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ รวมทั้งตรวจตราไม่ให้ขายน้ำและใบกระท่อมให้แก่เด็กนักเรียน ตลอดจนขอความร่วมมือร้านค้าที่อยู่นอกโรงเรียนติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจถึงโทษและอันตรายของยาเสพติด

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200