นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง โครงการจัดบริการรถสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น หรือที่รู้จักในชื่อ Taxi คนพิการ ซึ่งดำเนินการมาแล้วหลายปี และ กทม.มอบอำนาจให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นผู้ดำเนินการระยะ 4 ปี (1 ต.ค. 59-30 ก.ย.63) โดย กทม.สนับสนุนงบบางส่วน ขณะที่เคทีจัดหาผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน งบประมาณ 66 สำนักการจราจรและขนส่งให้เงินอุดหนุนแก่เคทีทำโครงการต่อ แต่หลังสิ้นสุดข้อตกลงเคทียังคงสนับสนุนบริการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก่อนจะยุติในวันที่ 31 ม.ค. 67
สำหรับปัญหาการให้บริการคือ เข้าถึงบริการได้ยาก การให้บริการไม่ครอบคลุม(มีการใช้งานเพียงบางกลุ่ม) ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้งบประมาณสูง ไม่คุ้มค่ากับเที่ยวรถ ดังนั้น กทม.จึงต้องหาแนวทางทำให้การบริการนี้ยั่งยืน และดีขึ้น
ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รอง ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า ปัจจุบันรถบางส่วนเสื่อมสภาพตามการใช้งาน คงเหลือรถที่สามารถใช้งานได้ 20 คัน ในจำนวนนี้อยู่ในกระบวนการรับโอนมาที่ กทม. โดยสำนักการแพทย์รับ 18 คัน สำนักพัฒนาสังคมรับ 2 คัน โดยสำนักการแพทย์จะกระจายการใช้อยู่ในรพ.สังกัดกทม. ส่วนของสำนักพัฒนาสังคมจะใช้ดูแลผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขผู้ใช้บริการในรพ.สังกัดกทม. เป็นประจำพบมีผู้พิการ 5,000 คน มีผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบากประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง จึงต้องจัดระบบรถบริการที่มีทั้ง 20 คัน อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะเปิดให้ผู้พิการและผู้สูงอายุ สามารถจองผ่านระบบในหลายช่องทาง อาทิ ไลน์แอดของรพ. โทรศัพท์มายังศูนย์ข้อมูลของสำนักการแพทย์ หรือระบบ Easy Chat ทางแอปพลิเคชัน หมอ กทม. ส่วนเงื่อนไขจะประเมินความจำเป็นโดยพิจารณาตามข้อบ่งชี้ ทั้งด้านร่างกายและด้านสังคม
ด้านลักษณะการให้บริการ จะให้บริการไม่เกิน 4 เที่ยว/วัน/คัน และต้องนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ จะเปิดรับจองอีกครั้งวันที่ 7 ก.พ.นี้ ก่อนเริ่มให้บริการวันที่ 14 ก.พ. พร้อมขอเวลารวบรวมข้อมูลอีก 3 เดือนก่อนขยายบริการไปกลุ่มเป้าหมายรองต่อไป.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 31 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)