กกท.แจงโมเดลขยายวีซ่าต่างชาติเรียนมวยไทย 1 ปี ไม่ใช่อนุมัติครั้งแรกจบ แต่ต้องยื่นขอขยายเวลาพำนักเป็นคราวๆ
ความคืบหน้าการดำเนินการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ในส่วนของกีฬามวยไทย ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการด้านกีฬาในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยนายพิมลวางแผนการผลักดันมวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไว้หลายเรื่อง ทั้งการทำหลักสูตรทดสอบครูมวยที่ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบครูมวยที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก การร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทำบันทึกความตกลงร่วมกันในการนำมวยไทยบรรจุในการเรียนวิชาพลศึกษา นำร่อง 20 โรงเรียนของ กทม. โดยจะลงนามกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ในวันที่ 29 มกราคม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า รวมถึงนำนักมวยไทยชื่อดังอย่าง รถถัง จิตรเมืองนนท์, ซุปเปอร์บอน, บัวขาว บัญชาเมฆ ไปเปิดสอนมวยไทยที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงเดือนเมษายน 2567 ส่วนเรื่องการมอบวีซ่าพิเศษเพื่อพำนักในไทยนาน 90 วันในการมาเรียนมวยไทย จากปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ได้เต็มที่ 60 วัน จะขยายให้อีก 30 วัน เป็น 90 วันหากมาเรียนมวยไทย วีซ่าลักษณะดังกล่าวจะเป็นวีซ่า NON-IMMIGRANT Type ED โดยประสานกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มกราคม นายพลัฏฐ์ สุวรรณาเมธากร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดถึงกรณีกระแสข่าวการขยายเวลาอยู่ไทยของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเรียนมวยไทยเป็น 1 ปีว่า เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อน เพราะยังมีความเข้าใจผิดอยู่ ข้อเท็จจริงอย่าเหมารวมว่าขยายเวลาทีเดียว 1 ปีเลย แต่เป็นการขยายจาก 90 วันไปได้อีก 3 ครั้ง ครั้งละ 90 วัน ขณะนี้มวยไทยเป็นซอฟต์ พาวเวอร์และชาวต่างชาติที่เรียนมวยไทยมีจำนวนมากในค่ายมวยต่างๆ ทางสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. กำลังรวบรวมสถิติจากปีที่แล้วว่า ที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนมวยไทยในค่ายมวยจำนวนเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาบางค่ายไม่ได้แจ้งตัวเลขกลับมายังสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย เพื่อพิจารณาวีซ่าแก่สำนักงานมวยฯ
“สมมุติว่า นาย ก. จะมาเรียนมวยไทยที่ค่ายหนึ่งในเมืองไทย ค่ายมวยเหล่านั้นต้องมาขอใบรับรองจากทางสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. เป็นค่ายมวยที่ได้รับการรับรองจริง โดยกระทรวงการต่างประเทศก็ยินยอมให้นาย ก. มาเรียนได้ ที่ผ่านมาเราก็ทำอยู่แล้ว ทุกค่ายที่มีนักมวยต่างชาติมาเรียนก็ทำอยู่แล้ว ได้ 60 วัน หรือ 90 วันอยู่แล้ว” นายพลัฏฐ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีตัวเลขชัดเจนหรือไม่ว่าค่ายมวยทั่วประเทศที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. มีจำนวนกี่ค่าย และภูมิภาคไหนมากที่สุด นายพลัฏฐ์กล่าวว่า ในระบบการเก็บข้อมูลมวยไทยมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากเพิ่งใช้มา 1 ปีแล้ว บางจังหวัดยังเป็นข้อมูลเก่า ยังเป็นรูปแบบกระดาษ จากข้อมูลที่มีอยู่นักมวยไทยที่ขึ้นทะเบียนในระบบมีอยู่ 6,000 คน สนามมวย เวทีมาตรฐานมีอยู่ 13 แห่ง อดีตนักมวยไทยมีอยู่ 2,000 กว่าคน หัวหน้าค่ายมวยมีอยู่ 3,000 กว่าคน ผู้ตัดสินที่ขึ้นทะเบียนไว้ 1,051 คน ผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมจาก กกท.มีอยู่ 1,290 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่บางอย่างยังไม่เต็มรูปแบบ เพราะนักมวยที่จะขึ้นทะเบียนได้ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป
นายพลัฏฐ์กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งศูนย์ทดสอบครูมวยของ กกท. จะมีการตั้งร่วมกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงต่างประเทศ กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคใน 5 จังหวัด เชียงใหม่, นครราชสีมา, ชลบุรี, สงขลา และสุพรรณบุรี สาเหตุที่ต้องตั้งศูนย์ทดสอบ เพราะที่ผ่านมา มีกรณีศึกษาในหลายประเทศ เช่น มีครูมวยได้รับการว่าจ้างไปสอนมวยไทยที่ประเทศจีน ในอัตราค่าจ้าง 150,000 บาทต่อเดือน เมื่อสอนไปได้ 1 เดือนโดนเรียกเก็บวีซ่า ทำให้ค่าจ้างลดลงเหลือ 50,000 บาททันทีเพราะไม่มีวีซ่ากลับ ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายประเทศ ดังนั้นรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ออกใบรับรองให้เมื่อเกิดเหตุขึ้น ผู้ที่ได้รับใบรับรองจากรัฐบาลไทยสามารถไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูตไทยประจำ ประเทศนั้นๆ ได้ทันที
ด้านเสี่ยโบ๊ท-นายณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์มวยไทยชื่อดังจากค่ายเพชรยินดี เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานักมวยต่างชาติมีปัญหากับการอยู่เมืองไทยมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเมื่อวีซ่าครบก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศแล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ การจะอยู่ยาวเป็นปัญหามาตลอด การปรับวีซ่าเพิ่มเป็น 90 วันและขยายได้ถึง 1 ปี ถือเป็นการอำนวยความสะดวก ให้กับนักมวยเหล่านี้
“วันนี้ต้องยอมรับว่ามีต่างชาติเข้ามาเรียนมวยที่ประเทศไทยเยอะมาก โดยเฉพาะที่ภูเก็ต เป็นฮับของค่ายมวยเลยก็ว่าได้ เป็นโอกาสดี ที่จะสามารถรับชาวต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น” นายณัฐเดชกล่าว
นายณัฐเดชกล่าวว่า ตอนนี้นักมวยต่างชาติ ที่มาเมืองไทยก็มีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง การอำนวยความสะดวกนี้ก็จะช่วยทำให้มีเข้ามาได้มากขึ้น เพราะปกติแล้วคนที่จะมาเรียนแบบจริงจัง ต้องใช้เวลา 6 เดือน-1 ปี ดังนั้น การขยายฟรีวีซ่าแบบนี้ก็เป็นช่วงเวลาเหมาะสม สามารถเรียนได้ ซ้อมได้ หรือแข่งขันได้ด้วย
นายณัฐเดชกล่าวต่อว่า ทุกวันนี้เทรนเนอร์มวยไทยนับเป็นสินค้าส่งออก ทั่วโลกอยากได้ ครูมวยไทยไปสอนในแต่ละพื้นที่ แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะครูมวยเก่งๆ ในประเทศไทยแทบไม่เหลือเลย ไปต่างประเทศกันหมด ซึ่งห้ามกันไม่ได้เพราะรายได้ต่างประเทศมากกว่า สิ่งที่อยากเสนอแนะคือให้ส่งเสริมครูมวยในประเทศไทย ทำอย่างไรจะสร้างรายได้ สร้างศักดิ์ศรี เพราะมวยไทยถือว่าเป็นศิลปศาสตร์อย่างหนึ่งที่ควรยกย่องและให้เกียรติ เพื่อ ครูมวยเหล่านี้ไม่ต้องบินไปสอนต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า การเปิดศูนย์ทดสอบครูมวยกระจายออก 5 ภาคตามจังหวัดนำร่องคือ เชียงใหม่, นครราชสีมา, ชลบุรี, สงขลา และสุพรรณบุรี จะช่วยส่งผลดีอย่างไรบ้างนั้น นายณัฐเดชกล่าวว่า เป็นเรื่องดีมากๆ จะได้มี ครูมวยเพิ่มขึ้น แต่อยากให้ช่วยสนับสนุน ค่ายมวยไปพร้อมกัน เพราะตอนนี้ค่ายมวยหายไปมาก จากระดับหมื่นค่ายเหลือไม่ถึงพันค่าย
“ในการพัฒนาอยากให้ช่วยพัฒนากันไป ทั้งระบบ ทั้งนักมวย, ครูมวย, ค่ายมวย เพื่อที่ จะได้มีจำนวนมากขึ้นและช่วยส่งเสริมกันไป ทั้งระบบ” นายณัฐเดชกล่าวปิดท้าย
ที่มา: นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 27 ม.ค. 2567