กทม.เร่งตรวจสอบ-รื้อถอนป้ายโฆษณาเถื่อน พร้อมดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวกรณีสื่ออออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุบริเวณปากซอยราชปรารภ 14 มีการเจาะทางเท้าและติดตั้งป้ายเสาโฆษณาของเอกชนว่า สจส.ได้ตรวจสอบการติดตั้งป้ายเสาโฆษณาบริเวณดังกล่าวพบว่า เป็นป้ายเสาเหล็กสูงประมาณ 2 เมตร ติดตั้งบนทางเท้าสาธารณะ ใช้ระบบไฟพลังงานแสงอาทิตย์ มีการโฆษณาสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานสังกัด กทม.และยังมีเจตนาจงใจลักลอบติดตั้งอย่างผิดกฎหมายอีกหลายพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง เขตดินแดง เขตบางกอกน้อย เขตราชเทวี เขตจตุจักร และเขตพญาไท ซึ่ง สจส.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับป้ายโฆษณาให้สิทธิเอกชนที่ติดตั้งบริเวณพื้นที่สาธารณะไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ประสานแจ้งข้อมูลพิกัดตำแหน่งป้ายผิดกฎหมายต่าง ๆ ให้สำนักงานเขตพื้นที่ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติม เร่งรัดดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดสูงสุดกับผู้กระทำผิดและให้รื้อถอนป้ายผิดกฎหมายดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดิน หรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้สัญจรบนทางเท้า ขณะเดียวกันได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานเขต 50 เขต สำนักเทศกิจ สำนักงานกฎหมายและคดี และสำนักการโยธา ร่วมหารือแนวทาง หรือกำหนดมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว
สำหรับป้ายที่ติดตั้งบริเวณทางเท้าตามถนนสายต่าง ๆ อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นป้ายประชาสัมพันธ์ของ กทม.ตามสัญญาให้สิทธิเอกชน จำนวน 2 สัญญา ประกอบด้วย (1) ป้ายให้สิทธิบริษัท แพลนบี จำกัด ใช้ป้ายประชาสัมพันธ์ของ กทม.จำนวน 1,170 ป้าย ลักษณะเป็นเสาสูงไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร ขนาดป้าย 1.20×1.80 เมตร จุดสังเกตบริเวณป้ายจะมีตรา (Logo) Plan B เห็นได้ชัดเจน และ (2) ป้ายให้สิทธิบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ใช้ป้ายประชาสัมพันธ์ของ กทม.จำนวน 247 ป้าย ลักษณะและขนาดเช่นเดียวกัน จุดสังเกตบริเวณป้ายจะมีตรา (Logo) Q-Ads เห็นชัดเจน โดยมีพิกัด และข้อมูลป้ายตาม QR Code ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นป้ายที่ไม่ใช่ลักษณะดังกล่าวให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นป้ายที่มีผู้ลักลอบติดตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมายและสามารถแจ้งข้อมูล หรือแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ Traffy Fondue หรือสายด่วน กทม.1555 เพื่อแจ้งให้สำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดทันที เพื่อจัดระเบียบทางเท้าให้เรียบร้อยไม่กีดขวางการสัญจรของประชาชนต่อไป
กทม.เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจโทษ-พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันอันตรายสุขภาพเด็ก เยาวชน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการดำเนินการตามมาตรการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อม เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนว่า สนพ.ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักการศึกษา สำนักอนามัย และสำนักงานเขต ยกระดับการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และกระท่อมอย่างใกล้ชิดในสถานศึกษาของ กทม. พร้อมประชาสัมพันธ์เรื่องโทษของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา หรือกัญชง และกระท่อม ที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่งที่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชนในวัยเรียนได้
นอกจากนั้น ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษและพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนและสถานพยาบาลของ กทม.โดยโรคปอดจากบุหรี่ไฟฟ้า แตกต่างจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่แบบมวน เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง มะเร็งปอด วัณโรค หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อโรคอื่น ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในคนที่สูบบุหรี่มานานนับสิบปีขึ้นไป โดยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียง 2-3 ปี เกิดขึ้นในคนอายุน้อย แข็งแรง แต่เกิดภาวะเจ็บป่วยอย่างรวดเร็ว และเกิดการอักเสบขึ้นทั่วปอด จนปอดไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ ทำให้มีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ และปอดล้มเหลว ข้อพึงสังเกตจะมีอาการเหนื่อย ไอแน่นหน้าอก ไอปนเลือด เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ คลื่นไส้ อาเจียน ไข้หนาวสั่น ปวดท้อง ใจสั่น หายใจเร็ว ออกซิเจนในเลือดต่ำ และอาจมีอาการรุนแรงจนถึงภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือหากต้องการปรึกษาเรื่องสุขภาพสามารถ โทร. สายด่วน 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง