กทม.เตรียมพร้อมรองรับดูแลรักษาผู้ป่วย 3 โรคที่คาดการณ์จะระบาดและ 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวังในปี 67
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดและการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ว่า สนอ.คาดการณ์สถานการณ์ปี 2567 มีโรคที่จะระบาด 3 โรค ได้แก่ (1) โรคโควิด 19 สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอน (2) โรคไข้หวัดใหญ่ มักเริ่มระบาดเดือน พ.ค.ป้องกันได้โดยฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง ฉีดพร้อมวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และ (3) โรคไข้เลือดออก คาดในปี 2567 จะพบผู้ติดเชื้อสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เป็นการระบาดต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งโรคไข้เลือดออกจะพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงที่ระบาดสูงสุดคือ ช่วงฤดูฝนในเดือน ส.ค.-พ.ย. และจากข้อมูลพบว่า กลุ่มที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเข้ารับการรักษาช้าและเกิดในกลุ่มที่ติดเชื้อครั้งที่ 2 ซึ่งอาการจะรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรกและมีโรคประจำตัวร่วม
สำหรับ 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) โรคอุจจาระร่วง หรืออาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเด็กนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งปีที่ผ่านมามีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนหลายแห่ง (2) วัณโรค จากการคาดการณ์พบว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 10,000 ราย/ปี และเนื่องจากต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจรับยาไม่ครบและเกิดเป็นวัณโรคดื้อยาได้ (3) โรคมือเท้าปาก มักพบในเด็กเล็กในโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กช่วงเปิดภาคเรียน (4) โรคเอชไอวี/เอดส์ ปี 2567 คาดว่า จะพบผู้ป่วยรายใหม่ 867 ราย เสียชีวิต 1,073 ราย (5) โรคซิฟิลิส พบในกลุ่มเยาวชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมา 3-4 ปีแล้ว และจะยังคงพบมากในปีนี้ (6) โรคหนองใน มีแนวโน้มลดลง แต่ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศและใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ (7) โรคสุกใส (8) โรคชิคุนกุนยา ซึ่งปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 1,389 ราย และในปี 2567 มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยมากขึ้น โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด (9) โรคไวรัสซิกา ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 157 ราย โรคนี้เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์และมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีศีรษะเล็กและมีปัญหาต่อสติปัญญาและพัฒนาการได้ (10) โรคฝีดาษลิง คาดจะพบผู้ป่วยต่อเนื่อง แม้จำนวนผู้ป่วยจะไม่มาก แต่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะติดเชื้อในกลุ่มชายรักชาย พบการติดเชื้อสูงสุดช่วงหลังจากเดือน มิ.ย.ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) (11) โรคพิษสุนัขบ้า แม้ในกรุงเทพฯ จะยังไม่พบโรคพิษสุนัขบ้าในคนมากว่า 6 ปีแล้ว แต่ปีที่ผ่านมาพบโรคดังกล่าวในสุนัขค่อนข้างมาก จึงยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นและใกล้ชิด และ (12) โรคตาแดง ในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 3,208 ราย เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายในสถานที่แออัด เช่น เรือนจำ ค่ายทหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยใน 3 โรคที่คาดการณ์จะระบาด และ 12 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ยารักษาโรค วัคซีน และทีมสอบสวนควบคุมโรคหากมีการระบาด ส่วนประชาชนควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เก่าเก็บค้างคืน พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีความกระฉับกระเฉง ไม่ง่วง และควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงโรคติดต่อทางเดินหายใจ
กทม.ตรวจสอบความแข็งแรงต้นไม้-ป้ายโฆษณา เตรียมพร้อมหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนออกช่วยเหลือประชาชน
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพายุฝนฟ้าคะนองว่า สสล.ได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ รวมทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและถนนสายต่าง ๆ โดยแจ้งสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งรับผิดชอบดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกบนทางเท้า ถนน และในที่สาธารณะทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งพื้นที่สีเขียวที่ปลูกต้นไม้เพิ่มในสวน 15 นาที ให้จัดทีมเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ขนาดใหญ่ ทั้งบริเวณทางเท้าและเกาะกลางที่มีประชาชนสัญจร รวมถึงต้นไม้ที่ปลูกในที่สาธารณะย่านชุมชน กรณีมีต้นไม้ขนาดสูงใหญ่ หรือต้นไม้ที่มีความเสี่ยง เช่น ลำต้นเอนเอียงและปลูกใกล้บ้านเรือนประชาชน มีพุ่มใบหนาทึบเสี่ยงสูงต่อการต้านลม ให้พิจารณาตัดแต่งกิ่ง ลดน้ำหนักทรงพุ่ม และค้ำยันต้น เพื่อลดความเสี่ยงโค่นล้มหากเกิดลมกระโชกแรง และกรณีตรวจพบกิ่งไม้ฉีกหัก กิ่งแห้ง กิ่งผุ ให้เร่งตัดแต่งทันทีตามหลักรุกขกรรม เพื่อป้องกันต้นไม้หักโค่นล้มจากลมกระโชกแรง หรือพายุขณะเดียวกันได้เตรียมพร้อมจัดชุดเร่งด่วน 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยเครื่องมือและยานพาหนะที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาต้นไม้หักโค่นในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งแจ้งให้สำนักงานเขต 50 เขต เตรียมความพร้อมหน่วยเร่งด่วน 24 ชั่วโมงประจำทุกเขต โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ ยานพาหนะ และเครื่องทุ่นแรงพร้อมอุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนตัดแต่งเคลื่อนย้ายต้นไม้ที่อาจโค่นล้ม หรือกิ่งไม้หักกีดขวางการจราจร หรือทำความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชน หรือเหตุจากป้ายโฆษณาได้อย่างรวดเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน สามารถเปิดทางสัญจรผ่านได้โดยเร็วที่สุด
นอกจากนั้น ได้ประสานความร่วมมือปฏิบัติการเร่งด่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อแก้ไขเหตุที่เกิดจากพายุฝนตกลมแรงได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หากพบต้นไม้อยู่ในสภาพเสี่ยงโค่นล้ม หรือระสายไฟฟ้า สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน กทม.1555 หรือผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดแต่งต้นไม้ กิ่งไม้ รวมถึงเก็บกวาดกิ่งไม้ หรือต้นไม้ที่หักโค่นกีดขวางในที่สาธารณะ โดยหากประชาชนประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ ซึ่งมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม.กำหนดไว้