กทม.เร่งเปลี่ยนฝาท่อระบายน้ำในเขตบางกอกใหญ่
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุกรณีฝาท่อระบายน้ำบริเวณหน้าร้านซักอบรีด ถนนเพชรเกษม ใกล้กับสี่แยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แตกหัก ทำให้พลัดตกลงไปในท่อว่า สนน.ได้ตรวจสอบสาเหตุการหักชำรุดของฝาท่อระบายน้ำดังกล่าวพบว่า สภาพขอบฝาท่อที่เป็น ค.ส.ล.เสื่อมสภาพ จึงหลุดจากเหล็กขอบ ประกอบกับใช้เหล็กแบนขนาด 5 เซนติเมตร เชื่อมเป็นโครง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าขนาดของฝาบ่อพักท่อระบายน้ำ จึงรองรับน้ำหนักต่าง ๆ ได้ไม่ดี ส่งผลให้ฝาดังกล่าวชำรุดและแตกหัก อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นได้แก้ไขฝาท่อบริเวณจุดเกิดเหตุด้วยการปิดและเปลี่ยนฝาท่อใหม่และล้อมรั้วแก้ไขไว้ชั่วคราว เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ และในระหว่างนี้ได้เร่งหล่อฝาท่อให้มีขนาดตามมาตรฐานโดยจะเปลี่ยนฝาท่อแบบถาวรในวันที่ 16 ม.ค.67 ขณะเดียวกัน สนน.ได้ประสานสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุดังกล่าว รวมทั้งได้ประสานสำนักงานเขตต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง หากพบการชำรุดทั้งฝาท่อ กทม.และฝาสาธารณูปโภค ขอให้ประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่แก้ไขโดยทันที เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ใช้ทางเท้า หรือผู้ใช้ทางสัญจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ต่อไป
กทม.เน้นย้ำมาตรการป้องกันส่วนบุคคล – รับวัคซีนโควิด 19 ประจำปี ป้องกันติดเชื้อโควิด 19
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1-11 ม.ค.67 มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 สะสมจำนวน 9,843 คน เป็นคนไทย 9,630 คน ต่างชาติ 213 คน ส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก สำหรับความคืบหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 สนอ.ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทั้ง 69 แห่ง ทุกวันพุธ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขและพยาบาลเยี่ยมบ้าน สำรวจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนประจำปี หรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนดให้มารับวัคซีนโดยเร็ว โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นการฉีดวัคซีนประจำปี ปีละ 1 ครั้ง แนะนำให้ฉีดก่อนฤดูฝน ตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นไป เนื่องจากคาดว่า เชื้อจะระบาดมากในช่วงฤดูฝน โดยใช้วัคซีนชนิดใด รุ่นใดก็ได้โดยไม่ต้องนับว่า เป็นเข็มที่เท่าใด เว้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือจากประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายประมาณ 3 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง (กลุ่ม 608 และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี) กลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสแพร่เชื้อ (พนักงานบริการ หรือผู้ที่มีอาชีพต้องสัมผัสคนจำนวนมาก หรืออยู่ในสถานที่แออัด) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า เพื่อลดอาการป่วยหนัก เสียชีวิต และรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศก่อนการระบาดของโควิด 19 ตามฤดูกาล ส่วนประชาชนทั่วไปที่ต้องการลดความเสี่ยงการติดเชื้อสามารถรับวัคซีนได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ ทั้งนี้ มาตรการส่วนบุคคลยังเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก และเมื่ออยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 ตลอดจนป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข วัคซีน ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น รวมถึงระบบการส่งต่อ หากประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด 19 (ATK) พบว่า ติดเชื้อโควิด (SARS-CoV-2) จะแบ่งการรักษาเป็นกลุ่มที่ 1 ไม่มีอาการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับยาแล้วกลับไปพักรักษาตัวในที่พักอาศัย ไม่ต้องรับประทานยาต้านไวรัส ปฏิบัติตามมาตรการ DMH ประกอบด้วย Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน Mask Wearing สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และ Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการ กลุ่มที่ 2 มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง รักษาแบบผู้ป่วยนอกตามอาการและดุลยพินิจของแพทย์ ปฏิบัติตามมาตรการ DMH อย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่มีอาการโดยประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ติดเชื้อโควิด 19 สามารถรับบริการผ่าน 4 แอปพลิเคชันประกอบด้วย (1) แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดยบริษัท คลิกนิก เฮลท์จำกัด https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 รับผู้ป่วยโควิด 19 อาการสีเขียวและเหลือง รวมถึงกลุ่ม 608 ให้บริการทั่วประเทศ (2) Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดยบริษัท โททอลเล่เทเลเมด https://lin.ee/a1lHjXZn รับผู้ป่วยโควิด 19 ทุกประเภท เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) ให้บริการทั่วประเทศ (3) แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดยบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p รับผู้ป่วยโควิด 19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการทั่วประเทศ และ (4) แอปพลิเคชัน Saluber MD โดยบริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี www.telemed.salubermdthai.com รับผู้ป่วยโควิด 19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) ให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด ส่วนผู้มีสิทธิเบิกราชการ หรือประกันสังคม ให้ไปรับยาได้ที่สถานพยาบาลที่มีสิทธิอยู่ ซึ่งนอกจากพบแพทย์ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังมีการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยด้วย
สำหรับกลุ่มที่ 3 มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง หรือกลุ่มที่มีปอดอักเสบ แต่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน พิจารณาตามอาการของผู้ป่วยโดยแพทย์ อาจรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือรับไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด และกลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีอาการปอดอักเสบ ต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจน รับรักษาไว้ในโรงพยาบาล ให้ยาต้านไวรัสเร็วที่สุด ร่วมกับยาแก้อักเสบ ผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรง ในระยะ 5 วัน นับจากเริ่มมีอาการ ควรงดออกจากบ้านไปยังชุมชน หากจะออกไปให้ไปเท่าที่จำเป็น และให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMH เมื่อพ้นระยะ 5 วันแรกแล้ว สามารถออกไปในชุมชนได้มากขึ้น แต่ควรปฏิบัติตามมาตรการ DMH ต่อไปอีก 5 วัน รวม 10 วัน หลังจากนั้นสามารถประกอบกิจกรรมทางสังคมและทำงานได้ตามปกติตามนิวนอร์มอล ระหว่างนี้หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนําให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางตลอดเวลา หลังจากครบกําหนดการกักตัวตามระยะเวลาดังกล่าวแล้ว
กทม.เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวเตรียมพร้อมระบบระบายน้ำรองรับสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองจากอิทธิพลของสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนน.ได้จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมเฝ้าระวังติดตามการพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงใช้เรดาร์ตรวจอากาศของ กทม.ติดตามกลุ่มฝน พร้อมแจ้งเตือนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ขณะเดียวกันได้เร่งลดระดับน้ำในคูคลอง บ่อสูบน้ำ และแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (หน่วย BEST) เข้าพื้นที่ขณะที่มีฝนเริ่มตก พร้อมตรวจสอบเร่งระบายน้ำตามจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวัง และบริเวณทางอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ รวมทั้งจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงช่องรับน้ำฝน ขยะหน้าตะแกรงหน้าสถานีสูบน้ำ และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขัง จัดเก็บขยะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกรวดเร็ว จัดเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเครื่องสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำและบ่อสูบน้ำตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองประจำสถานีสูบน้ำกรณีไฟฟ้าขัดข้อง จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) รถเครน รถบรรทุกติดตั้งเครนยกไฮโดรลิค บอลลูนไลท์ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบแก้ไขเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลที่ใช้งานในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม พร้อมทั้งประสานความร่วมมือหน่วยงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา หรือเปิดทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม.เช่น โครงการก่อสร้างคูระบายน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตของกรมทางหลวง โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ส่วนพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ ได้ประชุมหารือร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณเขตรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อาจได้รับผลกระทบให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กทม.ได้เปิดช่องทางการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนให้ประชาชนรับทราบแบบเรียลไทม์ ตลอดจนช่องทางแจ้งเหตุ เพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ http://dds.bangkok.go.th/, www.prbangkok.com, Facebook : @BKK.BEST, X(Twitter) : @BKK_BEST รวมถึงรับแจ้งเหตุปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.โทร.02 248 5115 หรือแจ้งปัญหาทางระบบ Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า สปภ.ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งแจ้งสำนักงานเขตในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสำนักงานเขตให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะและถนนสายต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์กรณีเกิดเหตุต้นไม้ฉีกหัก หรือโค่นล้มจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักและพื้นที่ชุมชนที่อาจส่งผลกระทบต่อการสัญจรและความปลอดภัยของประชาชน หากมีเหตุพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อสาธารณชนและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของประชาชน หรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ อันเป็นสาธารณภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ขอให้ผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามมาตรา 37 ประกอบกับมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้สำรวจความเสียหายต่าง ๆ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหาย และออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อขอรับการสงเคราะห์และฟื้นฟูจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ตลอดจนเพิ่มความระมัดระวังการใช้รถใช้ถนนขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบเหตุสาธารณภัย ซึ่งเกิดขึ้นจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง