ปัจจัยอะไรทำให้การเลือกตั้ง “สภาเด็ก” ของกรุงเทพมหานครกลายเป็นจุดสนใจ
คำตอบ 1 เพราะว่าเป็นการเลือกตั้งใน 30 เขตของกรุงเทพมหานคร อันป็นพื้นที่ที่สำคัญไม่เพียงแต่ในทางเศรษฐกิจหากแต่ในทางการเมือง
คำตอบ 1 เพราะกรุงเทพมหานคร มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
คำตอบ 1 เพราะเป็น “การเลือกตั้ง” โดยบรรดาเด็กและเยาวชน มิได้เป็น “การแต่งตั้ง” มาจากโรงเรียนมาจากครูหรือมาจากผู้ใหญ่
ถามว่านี่จะมีเพียง “กรุงเทพมหานคร” เท่านั้นหรือ
คำถามที่ตามมายังอยู่ที่เมื่อเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มีอะไรที่เร้าเย้ายวนใจ
คำตอบ 1 เห็นได้จากการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางและครึกโครม กระแทกเข้าไปในหัวใจและความสนใจของสังคม
มิได้กระทบต่อ “เด็ก” และ “เยาวชน” เท่านั้น หากกว้างกว่านั้น
คำตอบ 1 เห็นได้จากการประสานลงไปในแต่ละ “โรงเรียน” อันเป็นรากฐานของเด็กและเยาวชน และถือเอาโรงเรียนเป็น “หน่วยเลือกตั้ง”
ทั้งเป็นการเลือกตั้ง “ออนไลน์” ด้วยระบบ”บล็อกเชน”
คำว่า “บล็อกเชน” คำว่า “ดิจิทัล” คำว่า “ออนไลน์” กลายเป็นคำที่อยู่ในความนิยม
ตอนที่พรรคเพื่อไทยประกาศ “ดิจิทัลวอลเล็ต” ก็ยังยืนยันว่าจะอยู่ในระบบอย่างที่เรียกว่า “ซูเปอร์ แอพพลิเคชั่น” อิงอยู่กับ “บล็อกเชน”
เงิน 1 หมื่นบาทก็เร้าอยู่แล้ว นี่ยังเป็น “บล็อกเชน” อีก
พลันที่การเลือกตั้ง “ออนไลน์” ปรากฏ พลันที่แอบอิงอยู่กับ “บล็อกเชน” ภาพแห่งการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคตก็เรียงแถวเข้ามาให้พิจารณา
ส่งคำถามไปยัง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ “กกต.”
ยอมรับเถิดว่าการเมืองยุคใหม่แนบแน่นอยู่กับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การเมืองกรุงเทพมหานครส่งผลสะเทือนถึง “การกระจาย อำนาจ” อย่างไร การเลือกตั้งผ่านระบบ “ออนไลน์” ก็จะกระแทกไปยังระบบของ “กกต.” อย่างนั้น
เมื่อมีสิ่งนี้ “ปรากฏ” ก็ย่อมกระทบไปยังสิ่งนั้น สิ่งโน้นโดยพลัน
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 19 ม.ค. 2567 (กรอบบ่าย)