ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (17 ม.ค.67) : นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยของอาคาร สะพาน เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานครมีนโยบายให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มากขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) มีน้ำหนักมากกว่ารถยนต์ทั่วไปประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อคัน ทำให้อาคารเก่ารวมทั้งสะพานต่าง ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับน้ำหนักรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) อาจเกิดอันตรายหรือความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรุงเทพมหานครจึงควรกำหนดมาตรการความปลอดภัยของอาคารที่มีการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ให้กับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น กำหนดให้ชั้นล่างหรือชั้นใต้ดินของอาคารเก่าเป็นที่จอดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) การตรวจสภาพโครงสร้างสะพาน ให้สามารถรองรับน้ำหนักรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) หรือมาตรการอื่นที่เหมาะสม รวมทั้ง การออกแบบสถานที่จอดรถยนต์ที่จะก่อสร้างใหม่ให้มีความแข็งแรงและปลอดภัย
“จากข้อมูลพบว่ารถEV หนักกว่ารถสันดาป 300-500 กิโลกรัม ประกอบกับแนวโน้มของแบตเตอรี่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้น และหนักมากขึ้น ปัจจุบันมีรถEV ป้ายแดงกว่า 50,000 คัน อนาคตอาจมีรถEVจำนวนร้อยละ 10 ของจำนวนรถทั้งหมดในประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าอาคารเก่าจะสามารถรับน้ำหนักได้ 400 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ในกรุงเทพมหานครชั้นในมีอาคารพาณิชย์และห้องแถวเก่าจำนวนมาก จึงเป็นคำถามว่าอาคารหรือสะพานต่าง ๆ ในกทม.จะมีความปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมระบบดับเพลิงหากเกิดเหตุด้วยหรือไม่” ส.ก.กิตติพงศ์ กล่าว
จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และนายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท ได้ร่วมอภิปรายเพื่อสนับสนุนญัตติ
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความสามารถในการรับน้ำหนักของอาคารและสะพานในกทม.เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และได้ออกแบบไว้เผื่อมากพอ สูงกว่าน้ำหนักของรถEVที่เกิดขึ้นจริง เป็นไปตามมาตรฐานของUK แต่เรื่องระบบดับเพลิง สำนักการโยธา กทม. ร่วมกับวิศวกรรมสถานฯ และกรมโยธาธิการและผังเมือง จะออกแบบมาตรการการจัดที่จอดรถสำหรับรถEVใหม่ให้ได้มาตรฐานต่อไป
รศ.ทวิดา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องความปลอดภัยของสถานีชาร์จไฟ ว่า กทม.ได้ขอข้อมูลจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน วิศวกรรมสถานฯ และการไฟฟ้านครหลวง เพื่อลงข้อมูลสถานีในแผนที่ Risk Map และจะใช้ในการออกมาตรการกำกับควบคุมล่วงหน้า ส่วนเรื่องของข้อกำหนดใหม่ ทั้งการจัดทำแผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้มีการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ การกำหนดความห่างของจุดชาร์จกับตัวอาคาร การจัดหาสปริงเกอร์ กทม.จะร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง วิศวกรรมสถานฯ จัดทำแนวทางต่อไป
—————-