(11 ม.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่มอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ตามโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย แผ่นเสริมซึมซับ สำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับมัสยิดซีรอยุดดีน (บ้านเกาะบัวขาว) ซอยบัวขาว 17 ถนนรามคำแหง 174 เขตมีนบุรี ซึ่งกรุงเทพมหานครโดยศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี ได้มีการจัดทำโครงการดังกล่าวขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผ่านสำนักงานเขตมีนบุรี เพื่อจัดหาผ้าอ้อมผู้ใหญ่มอบให้กับคนไทยที่มีภาวะพึ่งพิง และมีค่าคะแนนระดับควาสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนี บาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน และคนไทยที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ทุกสิทธิการรักษาในพื้นที่เขตมีนบุรี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปกติศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีการเยี่ยมบ้านเป็นโฮมวอร์ดอยู่แล้ว อาสาสมัครที่อยู่ตามชุมชนก็จะทราบว่ามีผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ และคนที่ขับถ่ายปัสสาวะที่เป็นไปตามเงื่อนไขของทางการแพทย์เท่าไหร่ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2566 มียอดอยู่ที่ประมาณ 500-600 คน แต่ว่าในช่วงพฤศจิกายน 2566 ยอดไปที่ 4,730 คน ทำให้เห็นว่าการลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง ใช้ทุกส่วนในการประชาสัมพันธ์ เช่น เฟซบุ๊ก ข่าวสาร หรือผ่านฝ่ายพัฒนาสังคม จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนและเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ที่จะมีการจัดสรรผ้าอ้อมให้ไม่เท่ากัน และยอดผู้ที่ต้องการใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในตอนนี้ทั้งหมดของในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 8,000 คน จาก 2,071 ชุมชน ใน 50 เขต โดยมีข้อมูลทั้งชื่อ-นามสกุล ประวัติทางการแพทย์ และสำนักอนามัยมีการรายงานยอดที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ช่วง 2 เดือนที่ผ่าน เขตมีนบุรีมีการแจ้งยอดผู้ขอรับผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพิ่มราว 38 คน และขณะเดียวกันเขตอื่น ๆ ก็มีการแจ้งยอดเพิ่มเช่นกัน รวมยอดที่เพิ่มมาทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าคน รวมคร่าว ๆ ตอนนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 10,000 คน ที่ต้องมีการจัดสรรให้
สำหรับงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช. มีเพียงพอ เพียงแต่อาจต้องมีการขอจัดสรรเพิ่มในแต่ละครั้งประมาณ 10% เผื่อในกรณีที่คนแจ้งเพิ่มแบบเร่งด่วนเพื่อที่ประชาชนไม่ต้องรอนาน เพราะในสังคมผุ้สูงอายุไม่ได้หมายความว่าต้องป่วยหนักป่วยเบา บางครั้งภาวะการเคลื่อนตัวลำบาก การนอนติดเตียง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ก็มีความต้องการใช้ และจำนวนอาจจะเพิ่ม ซึ่งงบประมาณ สปสช. สนับสนุน ไม่ได้ใช้เฉพาะกรณีมีผู้ป่วยแล้วค่อยใช้ แต่มีการพูดถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นเมื่อสูงอายุขึ้นแต่ไม่ป่วยและแข็งแรง ดูแลสุขภาพดี รวมถึงทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสริมกิจกรรมที่จะช่วยดูแลสุขภาพ จำนวนผู้ป่วยติดเตียงหรือคนที่ต้องการผ้าอ้อมในส่วนนี้ก็จะน้อยลง ซึ่งมาตรการคงมีหลายอันที่ช่วยกัน แต่ในวันนี้เราจัดการในเรื่องของผ้าอ้อมก่อนเพราะว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ที่กรุงเทพมหานคร และ สปสช. ร่วมมือกัน ยังมีเรื่องร้านขายยาที่ประชาชนสามารถไปรับได้โดยที่ไม่ต้องโรงพยาบาล ในตอนนี้กรุงเทพมหานครมี 4 โรงพยาบาลในสังกัดที่จ่ายยาสำหรับบางโรคมาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางโรงพยาบาล ไม่ต้องไปรอนาน ไปแออัดโดยไม่จำเป็น ซึ่งก็ได้มีการพูดคุยประสานความร่วมมือเพิ่มเติมกับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อาทิ เลิดสิน ราชวิถีนพรัตน์ เพราะจะต้องมีการส่งรายชื่อคนไข้ระหว่างกันไม่ใช่แค่เฉพาะของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ได้มีหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข และ กับ UHosNet (ยูฮอสเน็ต) ดึงโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งในปีนี้จะต้องผลักเรื่องนี้เกิดขึ้นให้ได้ และที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีการประกาศตรวจสุขภาพ 1 ล้านคนไปแล้ว และในการตรวจสุขภาพประชาชนมีความตั้งใจจะทำในส่วนของ Digital Health book คือทำให้ข้อมูลสุขภาพคืนให้ไปที่ประชาชน เมื่อไปรับบริการที่ไหนสามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในการรักษาพยาบาลได้ ตั้งเป้าไว้กลางปีนี้ต้องมีออกมาบ้าง
ด้านเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ได้ทำงานร่วมกับ กทม. ในการช่วยเหลือประชาชนที่มีภาวะติดบ้านติดเตียงและก็ที่ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ วันนี้มาแจกผ้าอ้อม ซึ่งการแจกผ้าอ้อมมีมาระยะหนึ่งแล้ว และจากข้อมูลที่ทาง กทม. ได้สำรวจชุมชนแล้วพบว่าที่ไหนมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ก็ได้ร่วมกันดำเนินการ ซึ่งหากประชาชนมีญาติหรือคนรู้จักที่มีความจำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมกรุณาสามารถติดต่อทางหน่วยงานของ กทม. ได้ทางศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสำนักงานเขตต่าง ๆ ซึ่ง กทม. ได้มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง สำหรับงบประมาณในโครงการนี้เป็นงบกองทุนสุขภาพระดับตำบล ซึ่ง สปสช. มีงบประมาณสนับสนุน กทม. เรื่องนี้ปีละประมาณ 20-30 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอและยังไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยจะขึ้นอยู่กับความจำเป็นของพื้นที่และตัวของผู้ป่วยและประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้
ในการลงพื้นที่วันนี้ มีผู้บริหารสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตมีนบุรี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่
————————— (พัทธนันท์…สปส./ณิชนันทน์…นศ.ฝึกงาน รายงาน)