‘ชัชชาติ’ยันจะดูให้ยุติธรรมที่สุด ปมผู้ค้าตลาดจตุจักรร้องยกเลิกสัญญาเช่า

“ชัชชาติ” รับเคลียร์ ผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ร้องยกเลิกสัญญาเช่าปี 2567 ดูให้ยุติธรรม ที่สุด คนไม่พอใจอาจเลือกขายที่อื่น ขู่ปัญหามากนักอาจคืน ร.ฟ.ท.ดูเอง

วันที่ 10 ม.ค.2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรยื่นหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกประกาศสำนักงานตลาด รวมถึงสัญญาให้เช่าแผงค้าในตลาดนัดจตุจักร ปี 2567 ว่า จตุจักรเป็นตลาดสำคัญ แต่ก็เหมือนกับตลาดทั่วไปที่มีการเช่าพื้นที่ค้าขาย อาจมีกฎที่ไม่ถูกใจผู้ค้าก็มีสิทธิ์จะเลือกว่าจะขายตลาดไหน เป็นเรื่องของธุรกิจซึ่งมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ กทม.จะดูแลเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ตลาดจตุจักรเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มติ ครม. ให้กรุงเทพมหานครดูแล ก็คงต้องดูว่าสุดท้ายแล้วมีประโยชน์หรือไม่ที่จะให้ กทม.ดูแลในอนาคต หรือจะคืนไปให้ ร.ฟ.ท.ดูแล หากมีปัญหามากนัก

“จตุจักรมีคนทั้งพอใจและไม่พอใจพ่อค้าแม่ค้า เราก็พยายามดูแลให้ดีที่สุดเพราะเป็นตลาดที่สำคัญ แต่ก็เหมือนกับตลาดทั่วไปที่เราไปเช่าพื้นที่ค้าขายอาจมีกฎที่ไม่ถูกใจ ก็มีสิทธิ์จะเลือกว่าจะขายตลาดไหน อาจต้องเลือกถ้าทำธุรกิจที่นี่แล้วมีปัญหาก็ต้องพิจารณาว่ามีที่อื่นไหม ขอไปดูรายละเอียดอีกทีว่ามีปัญหาตรงไหน ก็จะพยายามดูแลให้ยุติธรรมที่สุด ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวกลับคืนมา ก็หวังว่าจะเห็นตลาดจตุจักรฟื้นคืนมา” ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าว

ด้าน นายสุธน สุวรรณภานนท์ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรมีนักท่องเที่ยวกลับมาแล้ว จำนวนที่เข้ามาเดินวันละเกือบ 2 แสนคน ตกเดือนละประมาณ 1.2- 1.5 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% คนไทย 30% มีเงินสะพัดในตลาดประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท/เดือน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมาด้วยขนส่งสาธารณะ ตลาดก็ต้องให้บริการดูแลความสะดวกและปลอดภัย

“ค่าเช่าแผงในสัญญาปี 2567 ค่าเช่าแผง 1,800 บาท หากไปให้เช่าช่วง ต่อต้องจ่าย 20% เพราะที่ผ่านมาเราห้ามแต่ก็มีการให้เช่าช่วงต่อมาตลอด ก็เลยเก็บส่วนนี้เป็นรายได้ให้นำไปพัฒนาตลาด รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ เราไม่ได้คิดเอง มีที่ปรึกษามาประเมินวิเคราะห์คิดอัตราที่เหมาะสมให้ จากที่เปิดให้มาต่อสัญญาปีนี้ ถึง 6 ม.ค.2567 โครงการ 1-5 มีกว่า 1,500 แผง เข้ามาต่อสัญญาแล้ว 600 กว่าราย คิดเป็น 39% ก็ไม่ได้ติดใจอะไร ส่วนกรณีแผงค้าด้านในที่ขายไม่ดี เราก็จัดกิจกรรมให้ที่หอนาฬิกาเพื่อให้คนเดินเข้าไป แต่การค้าขายปัจจุบันเปลี่ยนไปตั้งแต่โควิดมามีการขายออนไลน์มากขึ้น ผู้ค้าก็ต้องปรับตัวพัฒนาสินค้าด้วย ซึ่งเราก็จัดแพลตฟอร์มทำตลาดออนไลน์ให้ขายส่งคนลงไปช่วยสอนให้ เราพยายามพัฒนาตลาดทุกวันนี้เปิดขาย 6 วัน ยกเว้น วันจันทร์” ผอ.สุธนกล่าว

สำหรับ ประเด็นร้องเรียนของกลุ่มผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรบางส่วน มีดังนี้ ประเด็นที่ 1 ค่าบริหารส่วนกลาง 1,000 บาทและค่าปรับ เดิมค่าเช่าอยู่ในการบริหารของ ร.ฟ.ท. 3,600 บาท/เดือน เมื่อมาให้ กทม.บริหารเหลือเพียง 1,800 ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไม่เคยมีการปรับขึ้น ค่าเช่า หากชำระค่าเช่าเกินกำหนดปรับ วันละ 90 บาท จนกว่าจะมาชำระ สำนักงาน ตลาดได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินค่าเช่าที่เหมาะสม ซึ่งบอร์ดและอนุกรรมการตลาดนัดจตุจักรพิจารณาแล้วอาจมีปัญหาจึงกำหนดค่าเช่าทุกแผง 1,800 บาท/เดือนเท่าเดิม แต่ให้เก็บค่าทำเลแผงค้าที่อยู่ในทำเลดีมีผู้ใช้บริการเดินผ่านมาก เช่น ริมราง 1,000 บาท ส่วนแผงค้าตามซอยย่อยๆไม่มีการจัดเก็บเพิ่ม และให้มีการจัดเก็บค่าบริหารพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการเพิ่ม 800 บาท ซึ่งจะเห็นว่าแม้จะเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่แผงค้าในทำเลดีก็ยังจ่ายเท่ากับที่เคยจ่ายให้กับ ร.ฟ.ท.

จากการที่ให้ผู้ค้าโครงการ 1-5 ซึ่งมีจำนวน 1,585 แผงค้า เข้ามาต่อสัญญา ก่อนในช่วงสัปดาห์แรกของมกราคม 2567 ปรากฏว่ามีผู้มาต่อสัญญาแล้ว 628 แผงค้า คิดเป็น 39.67% (ถึงวันที่ 6 ม.ค.2567) ซึ่งทุกรายไม่ติดใจในอัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กำหนด

ประเด็นที่ 2 ต้องการให้รถเข้ามาจอดในตลาดนัดจตุจักรได้ทั้งวัน ปัจจุบันตลาดไม่ให้รถเข้า-ออกในวันสุดสัปดาห์ตั้งแต่ 12.00-18.00 น. มาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้มาใช้บริการเดินบนถนนจำนวนมาก ประเด็นเรื่องร้องเรียนนี้มีการชี้แจงต่อหน่วยงานต่างๆ มากมายหลายครั้งแล้วก็ยังคง ร้องเรียนอยู่ ยืนยันไม่สามารถทำตามความประสงค์ได้เนื่องจากคำนึงถึงความสะดวกปลอดภัยของคนส่วนใหญ่

ประเด็นที่ 3 ไม่ต้องการให้มี ตลาดนัดกลางคืน การจัดตลาดนัดกลางคืน เพื่อสนองความต้องการของผู้มาใช้บริการ และทำให้ผู้ค้ามีเวลาจำหน่ายสินค้ามากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น โดยให้สิทธิผู้ค้าเดิมแสดงความจำนงก่อนที่จะหาผู้ค้ารายใหม่ มาขายในจุดนั้นๆ ผู้ค้าที่อยู่ในแผงค้าด้านในตามซอยต่างๆ ที่กลางวันไม่ค่อย มีนักท่องเที่ยว ก็สามารถนำสินค้ามาจำหน่ายในตลาดนัดกลางคืนได้ โดยค่าเช่าแผงกลางคืนวันศุกร์ เสาร์ วันละ 300 บาท วันอาทิตย์ วันละ 200 บาท ทั้งนี้ ตลาดนัดจตุจักรต้องหารายได้เพิ่มเพื่อจ่ายค่าเช่าให้ ร.ฟ.ท. รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มเติมที่จะเริ่มดำเนินการในปีนี้ เช่น ติดตั้งกล้อง CCTV เสียงตามสาย จ้างรปภ.และจ้างดูแลทำความสะอาด และการปรับปรุงห้องน้ำห้องสุขา 8 จุด ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ร้องเรียนด้วย

ประเด็นที่ 4 กล่าวหาเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ค้ารถเข็น เป็นไปตามนโยบาย ที่ให้ตลาดนัดจตุจักรต้องดูแลพวกผู้ค้ารถเข็นด้วย ปัจจุบันจึงมีการจัดระเบียบให้ตั้งวางในจุดที่ไม่กีดขวางการสัญจรนักท่องเที่ยว และต่อไปจำเป็นต้องจัดหา พื้นที่ ควบคุมจัดระเบียบและคัดกรองผู้ค้ารถเข็นที่เข้ามาอย่างถูกต้องให้ค้า ขายได้ มีจำนวนน้อยลง ซึ่งตลาดนัดจตุจักร จะหารือนโยบายของผู้บริหาร กทม. บอร์ด และอนุกรรมการตลาดนัดจตุจักรต่อไป

ประเด็นที่ 5 ไม่พัฒนาตลาด ไม่ช่วยเหลือผู้ค้าที่ขายของไม่ได้ เรื่องนี้ตลาดเริ่มมีการพัฒนาในหลายๆ ด้านแล้ว ทั้งการจัดตลาดนัดกลางคืนก็เป็นการช่วยผู้ค้าที่อยู่ในทำเลไม่ดีขายของไม่ได้ ตัวผู้ค้าก็ต้องพัฒนาตัวสินค้าของตนเองด้วย

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2567

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200