“ชัชชาติ” ลั่น อย่าใช้วาทกรรม “ผังเมืองเอื้อนายทุน” สร้างความแตกแยก กทม.พยายามทำให้เหมาะสมสภาพปัจจุบัน ให้คนกรุงมีแหล่งงานใกล้บ้าน
วันที่ 10 ม.ค.2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม สภากรุงเทพมหานคร ที่อาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม. ดินแดง ถึงกรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวม กรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า การจัดทำผังเมืองเป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน ต้องอาศัยนักผังเมืองผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้จัดทำร่าง ตนเองแม้จะเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมมา ยอมรับว่าไม่รู้เรื่องผังเมืองโดยละเอียด จึงต้องอาศัย ผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ การกล่าวว่าผังเมืองดังกล่าว จัดทำเพื่อเอื้อนายทุน เป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก จึงขออย่าใช้คำนี้ เนื่องจากผังเมืองที่ใช้ในปัจจุบันมีการใช้งานมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะจุดสีแดงที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน ไม่ได้เกิดขึ้นในการจัดทำร่างผังเมืองในครั้งนี้ แต่มีการพัฒนากันต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้ กทม.จะมีการเพิ่มเติม แต่นักผังเมืองต้องสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนสีผังเมืองเพิ่มขึ้น
นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ผังเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การดูจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งเมือง เช่น การแก้ผังเมืองจุดหนึ่ง ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนทั้งกรุงเทพฯ ดีขึ้น ต้องดูภาพรวมทั้งหมด โดยตนได้ให้นโยบายไปว่า อยากเห็นกรุงเทพมหานครที่ผู้คนสามารถอยู่อาศัย ทำงาน และเดินทางได้ เมื่อใดก็ตามที่บ้านกับที่ทำงานอยู่ห่างกัน คุณภาพชีวิตอาจแย่ลง เพราะต้อง เดินทางมากขึ้น เช่น เห็นเด็กรุ่นใหม่ ต้อง ไปอาศัยอยู่นอกวงแหวน เพราะหาที่อยู่อาศัยใกล้กว่านั้นไม่ได้ ขณะที่แหล่งงานกระจุกตัวอยู่กลางกรุงเทพฯ ดังนั้น ต้องหาวิธีทำให้คนมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานมากขึ้น หรือให้แหล่งงานไปอยู่ใกล้แหล่งอาศัยมากขึ้น เป็นที่มาของ การกำหนดร่างผังเมืองเขตสีแดงอยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก มีนบุรี รวมถึง การเพิ่มผังเมืองเขตสีส้มย่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เพราะต้องการให้คนอยู่ใกล้แหล่งงานมากขึ้น ไม่ต้องไปอาศัยบริเวณรอบนอกวงแหวน
นายชัชชาติย้ำว่า ทุกอย่างที่กำหนดในร่างผังเมืองดังกล่าว มีหลักทฤษฎีรองรับ กทม.ยินดีรับฟังด้วยเหตุผล และยินดีขยายเวลารับฟัง ความคิดเห็นออกไปถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2667 ปัจจุบันพยายามเปิดช่องทางแสดงความคิดเห็น เพิ่มเติม ซึ่ง พ.ร.บ.ร่างผังเมือง กทม. ปี 2562 สภาผู้แทนราษฎรเป็นออก ข้อกำหนด มีประมาณ 18-23 ขั้นตอน ปัจจุบันดำเนินการถึงประมาณขั้นตอนที่ 4-5 เท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกไกล สามารถแสดงความคิดเห็น คัดค้าน แจ้งเพิ่มเติมได้ เช่น ไม่พอใจจุดสีแดงที่เพิ่มเติมลงไป หรือจุดใดก็ตาม เชื่อว่าทุกคนมีเห็นผลของตนเอง กทม.ยินดีรับฟัง ยืนยันว่า ไม่มีการเอื้อประโยชน์นายทุน บางอย่างอาจมีความเข้าใจผิด เช่น เรื่องการกำหนดเขตทาง ซึ่งความเป็นจริง คือ กำหนดไว้เพื่อให้การก่อสร้างโครงการต่างๆ ในอนาคต เว้นพื้นที่ไว้สำหรับขยายถนนให้กว้างขึ้น หรือทำให้มีระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น เพื่อให้เมือง ดูโล่ง ไม่แออัด โดยนำแนวคิดดังกล่าวมาจากต่างประเทศ เพื่อสามารถขยายทางเท้าได้กว้างขึ้น ซึ่งการจะสร้างตึกอาคารในอนาคต จึงต้องคำนึงถึงระยะเว้นห่างตามที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯยังกล่าวถึงกระบวนการร่างผังเมืองว่า เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมต่างๆ จนถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว มีการกำหนดให้ภาคท้องถิ่นนำไปออกข้อบัญญัติ เพื่อประกาศใช้ผังเมือง ดังนั้น ระหว่าง ออกข้อบัญญัติผ่านสภากรุงเทพมหานคร หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จึงสงสัยว่า จะต้องย้อนกลับไปสู่กระบวนการตั้งแต่ เริ่มต้นหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือ อำนาจ กทม. จึงขอฝากให้ผู้เกี่ยวข้อง ศึกษาอ่านรายละเอียดให้ชัดเจน
“ผังเมืองที่เห็นในวันนี้ มีการทำมาต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2542 โดยเฉพาะจุดสีแดง และปัญหาหลายจุดที่มีมา ต่อเนื่องกัน กทม.พยายามทำให้เหมาะสม สภาพปัจจุบันมากขึ้น หากไม่ถูกใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ กทม.ยินดีรับฟัง แต่ขออย่าใช้คำว่า ผังเมืองเอื้อนายทุน เพราะผู้ที่มีบุญคุณกับเราคือประชาชน ไม่ใช่นายทุน เราอยู่ตรงนี้ได้เพราะประชาชน เลือกมา เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น” ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าว
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2567