Search
Close this search box.
เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ร่วมขับเคลื่อนพัฒนากทม.

 

การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 วันนี้ (10 ม.ค.67) นายกิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตทุ่งครุ เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ของกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ภาครัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องมีการปรับตัวและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมีระบบนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” กรุงเทพมหานครได้ปรับเปลี่ยนองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลเช่นกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการปฏิบัติงานภายในและการให้บริการประชาชน เช่น การนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาใช้ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และได้จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2566-2570) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจนในการลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศให้สนับสนุนแผนการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับแผนและนโยบายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระดับประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ กระบวนการทำงาน และกฎระเบียบทางราชการที่อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามแผนดังกล่าวได้ ดังนั้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร สามารถขับเคลื่อนและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ส.ก.กิตติพงศ์ ได้ยกตัวอย่างปัญหาของหน่วยงานทั้งระดับสำนักและสำนักงานเขต อาทิ เอกสารทุกชนิดไม่ได้เป็นดิจิทัลทั้งหมด Softwareของคอมพิวเตอร์มีหลายรุ่น ไม่มีระบบBack up ไม่มีAnti virus การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และการป้องกันการโจรกรรม สำหรับข้อเสนอแนะ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบนัดพบแพทย์ จองวัคซีน ระบบ Online learning ระบบblock chain เพื่อความโปร่งใส การพัฒนาTraffy fondue เป็นsuper app ให้เป็นแอปเดียวสำหรับชาวกทม. เป็นการรวมงานบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และให้การพัฒนาดิจิทัลกทม.เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากนั้น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง และนายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอบคุณสภากรุงเทพกรุงเทพมหานครที่ให้ความสำคัญกับแผนงานดิจิตอลของกรุงเทพมหานคร ในระยะเวลาที่ผ่านมาคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งรวมอยู่ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี เป็นแผนแม่บทพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ กำหนดใช้ในปี พ.ศ. 2561 – 2565 และในช่วงปลายปี 2565 ได้มีการพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์มขึ้นมาหลายรายการ ต่อมา แผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอลในช่วงปี 2566 – 2577 ได้มีการพัฒนาให้เป็นSmart BMA และSmart city ในกรณีนี้ ได้มุ่งเน้นในเรื่องของความโปร่งใส ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้ประชาชนสามารถติดตามการทำงานของกรุงเทพมหานคร ผ่านดิจิตอลแพลตฟอร์ม ฐานข้อมูล และInfrastructure ได้ ซึ่งจะมีคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านดิจิตอลโดยเฉพาะมากำกับดูแลในเรื่องนี้ นอกจากนโยบายOpen policy ที่สามารถเปิดดูได้ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ ยังให้แทรกPolicy ภายใต้การทำงานของหน่วยงานสำนักและสำนักงานเขต และเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย ถือเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะทำให้Open Platformเกิดขึ้น

นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครหรือก.ก.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างให้เกิดเป็นสำนักดิจิตอล โดยแยกอย่างชัดเจนกับสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล เพื่อดูแลยุทธศาสตร์ทางด้านดิจิตอลทั้งหมด รวมทั้งเชื่อมต่อระบบความปลอดภัยทั้งหมดซึ่งอยู่ในกระบวนการทำงาน คิดว่าไม่น่าจะเกินไตรมาสแรกของปีนี้จะแล้วเสร็จ เห็นเป็นโครงสร้างได้

นายประสพสุข พิมพโกวิท รองผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กทม. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยอมรับว่าระบบของกรุงเทพมหานครมีปัญหาจริงแต่สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะแก้ปัญหา ซึ่งพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อสนองตอบต่อนโยบายและสนองตอบต่อพระราชบัญญัติปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2565 แต่เนื่องด้วยกรุงเทพมหานครมีขนาดใหญ่และมีภารกิจที่หลากหลาย จึงเป็นข้อจำกัดในการที่จะดำเนินการให้ลุล่วงได้ อย่างไรก็ตามสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลได้เร่งรัดที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดเก็บภาษีระบบBMA TAX หรือ ระบบการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้าย ขณะนี้กรุงเทพมหานครได้มีระบบData center และระบบCloud รวมถึงฐานข้อมูลกลางที่ให้ให้บริการ ส่วนกลางตั้งแต่ปี 2563 และในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ระบบจัดเก็บภาษีของสำนักงานการคลังได้เริ่มต้นใช้ ซึ่งพบว่ามีปัญหาเรื่องความเสถียรของระบบซอฟต์แวร์ เมื่อเริ่มใช้งานมาจนครบปีงบประมาณและเริ่มเข้าสู่ปีภาษีใหม่หรือเดือนนี้พบว่าความขัดข้องของระบบมีน้อยมาก ซึ่งได้เตรียมทรัพยากรเพื่อรองรับข้อมูลการจัดเก็บภาษีใหม่แล้ว ในแง่ความปลอดภัยของข้อมูลใหม่ขณะนี้ได้มีมาตรฐานเรื่องความมั่นคง รวมถึงได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษา ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และระบบต่างๆรวมถึงได้มีข้อเสนอเสนอแนะในการปิดช่องโหว่การดำเนินการที่จะมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงความปลอดภัยของข้อมูลด้วยเช่นกัน

จากนั้น ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญจำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาศึกษา 90 วัน
—————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200