กทม.ตั้งโต๊ะแถลง แจง “ผังเมืองใหม่กทม. เอื้อนายทุนจริงหรือ!” ขยายเวลา รับฟังความเห็นปชช.ไปถึง ก.พ. 2567
วันที่ 9 ม.ค. 2567 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร พร้อมด้วย นายนพนันท์ ตาปนานนท์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง แถลงข่าวกรณีกระแสข่าวผังเมืองใหม่กทม. เอื้อนายทุน ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)
นายวิศณุกล่าวว่า วัตถุประสงค์ ของการตั้งโต๊ะแถลงข่าวในวันนี้ เนื่องจาก มีผู้สื่อข่าวหลายสำนักตั้งคำถาม มายัง กทม. ถึงเรื่องผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ว่า กทม. เอื้อนายทุนจริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการแถลงข่าวตอบทุกคำถามในวันนี้
สำหรับผังเมืองรวมของ กทม. ฉบับปัจจุบันที่ใช้กันอยู่คือของปี 2556 ซึ่งใช้มานานร่วม 10 ปีแล้ว และตามหลักของการพัฒนาเมือง จะต้องมีการทบทวนวางผังเมืองใหม่ ทุกๆ 5 ปี ซึ่งปัจจุบันล่วงเลยมาเป็น 10 ปีแล้ว และเมื่อปี 2562 มี พ.ร.บ.ผังเมืองฉบับใหม่ ออกมา กำหนดให้มีการทำผังน้ำและผังทรัพยากรสำรองเพิ่มเติม โดยมติของ คณะกรรมการจัดทำร่างผังเมือง กำหนดให้ กทม.เป็นผู้จัดทำ โดยผังใหม่นี้จะปรับให้ใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณะได้เต็มที่ และอัปเดตให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น เน้นให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และรองรับการอยู่อาศัยของประชากรเมืองที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น พื้นที่ชานเมือง
ส่วนพื้นที่หลักๆ ที่จะเปลี่ยนไป เช่น พื้นที่ ศรีนครินทร์ จะปรับจากที่ดินประเภท ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่น ปานกลาง เนื่องจากมีเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และ สายสีเหลือง ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งทางน้ำหลาก (ฟลัดเวย์) ด้านตะวันออกที่เขตมีนบุรี หนอกจอก คลองสามวา และลาดกระบัง เดิมเป็นพื้นที่ สีเขียวเกษตรกรรม ซึ่งใช้เป็นฟลัดเวย์หรือ พื้นที่รองรับน้ำหลากขนาด 250 ตารางกิโลเมตร จะถูกปรับเปลี่ยนให้เหลือเพียง 50 ตารางกิโลเมตร เพื่อลดภาระประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทางแก้ของผังรวมใหม่ จะพัฒนาระบบคลองแนวเหนือ-ใต้อย่างเป็น ระบบ มีการขยายคลองเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหา น้ำท่วม ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้กระบวนการทำผังเมืองนั้น ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มาแล้วประมาณ 7 ครั้ง และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการรับฟัง ความคิดเห็นครั้งใหญ่ เมื่อประชาชนหลายคน เห็นผังเมืองแล้ว ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องแนวเขตทาง จากผังเมืองที่มีการขีดเส้นระบุความกว้างถนน เช่น ถนนสายก.กว้าง 12 เมตร ถนนสายข.กว้าง 16 เมตร เป็นต้น ประชาชนจึงกลัวว่าจะถูกเวนคืนพื้นที่อาศัย จึงขอชี้แจงว่า ไม่มีการเวนคืน แต่การขีดเส้นระบุแนวความกว้างของถนนเพื่อให้การก่อสร้างใหม่ในอนาคตไม่รุกล้ำแนวเส้น ต้องถอยร่นเปิดพื้นที่ความกว้างของถนนที่กำหนดไว้ ไม่ให้เกิดความแออัด ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจะเวนคืนสิ่งก่อสร้างหรือบ้านเรือนที่สร้างแล้วในปัจจุบัน ยืนยันว่า ไม่มีการเวนคืนพื้นที่ที่สร้างแล้วคืน
กรณีมีผู้ตั้งคำถามว่า กทม.จัดทำร่าง ผังเมืองเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่ ซึ่ง กทม.ยืนยันว่าไม่มีการจัดทำร่างผังเมือง เพื่อเอื้อนายทุนตามที่มีการตั้งข้อสงสัย เนื่องจากแต่เดิมมีแนวคิดปรับผังที่ดินเพื่อให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จริง แต่ปัจจุบันในการปรับผังใหม่ ระบุว่า เจ้าของที่ดินผู้ได้ประโยชน์จากการปรับผังที่ดินต้องปันประโยชน์ให้แก่สาธารณะด้วย เช่น ให้พื้นที่สีเขียวที่ประชาชนเข้าถึงได้ หรืออนุญาตให้จัดตั้งระบบสาธารณูปโภค ทางเท้า เสาสะพานทางเดินลอยฟ้าในที่ดินของตนเอง เป็นต้น ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์จากการปรับผังแล้ว ยืนยันว่า กทม.ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน อย่างไรก็ตาม กทม.ได้ให้ประชาชนสามารถแสดงสิทธิ์ได้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการปัญหา กทม. พร้อมรับฟัง ทุกความคิดเห็น
นายวิศณุกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เดิม กทม. จะเปิดรับความคิดเห็นถึงวันที่ 22 ม.ค.นี้ จึงได้ขยายเวลาออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนก.พ. 2567 หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประมวลผลความคิดเห็นของประชาชนที่ได้เสนอมา พร้อมปรับแก้ไขร่าง ก่อนจะผ่านคณะกรรมการอีกหลายขั้นตอน ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมือง โดยมี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน 2.คณะกรรมการจากกรมโยธาธิการและผังเมือง 3.คณะกรรมการจากกระทรวงมหาดไทย โดยมี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน หลังจากนั้น จะมีการเปิดรับฟัง ความคิดเห็นอีก 1 ครั้ง หลังจากผ่านความเห็นจากคณะกรรมการทั้งหมดแล้ว เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถคัดค้านและแสดงความเห็นได้
ส่วนเรื่องผังสีต่างๆ ประชาชนสามารถ ตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ สำนักการวางผังและ พัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https:// cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/ ซึ่งสามารถระบุได้ว่าที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่ละรายอยู่ในเขตผังสีใด ได้รับผลกระทบ หรือไม่ และสามารถคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นตามกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งต่อไปได้
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 ม.ค. 2567