กทม.จัดบริการเชิงรุกส่งเสริมการดูแลสุขภาพ พร้อมเฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงวันที่ 17-20 ธ.ค.65 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนอ.มีมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงฤดูหนาว โดยทำหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์โรคระบาดในฤดูหนาว และมาตรการป้องกันควบคุมโรคไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ความรู้ ให้สุขศึกษา และคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคและภัยที่เกิดในฤดูหนาว รวมทั้งการดูแลตนเองเบื้องต้นแก่ประชาชนในพื้นที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครอง และนักเรียนในสถานศึกษาต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวในแคมป์ก่อสร้าง พร้อมสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว สื่อออนไลน์ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม.ในการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวอย่างใกล้ชิด โดยเฝ้าระวังการระบาดจากระบบรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ได้จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรคและภัยสุขภาพในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวว่า สนพ.ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาว รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค รวมทั้งจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย และจัดเตรียมวัคซีนวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันยังให้บริการเชิงรุกในการให้ความรู้แก่ประชาชนที่มารับบริการและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ รพ. เกี่ยวกับโรคในฤดูหนาว เพื่อให้มีความตระหนักในการดูแลและป้องกันสุขภาพของตนเองในช่วงฤดูหนาว
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ พร้อมแนะนำให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วย 7 วิธีดูแลสุขภาพ เมื่ออากาศเย็นลง ประกอบด้วย (1) กินอาหารที่ปรุง สุก ใหม่ (2) ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนโลหิต (3) รับประทานผักผลไม้และสมุนไพรรสเปรี้ยวบรรเทาอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ (4) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ (5) ไม่ควรดื่มเหล้าแก้หนาว เพราะอาจทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ (6) ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และ (7) สวมเสื้อผ้าหนาๆ หรือห่มผ้าช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย สำหรับผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปที่ชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านเว็บไซต์สำนักการแพทย์ และเพจเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพผ่านสายด่วนสุขภาพ 1646 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หากเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร.สายด่วน 1669 ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศบฉ.) กรุงเทพมหานคร พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เร่งแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน พร้อมควบคุมความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตามนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายจะต้องลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สจส.ตระหนักถึงความสำคัญในการลดปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งช่วงเวลาปกติและในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ ผ่านการดำเนินการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ได้ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยสำรวจสาเหตุและโอกาสเกิดอุบัติเหตุของจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ในกรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนมาตรการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ด้วยการปรับปรุงแก้ไขด้านกายภาพ จัดทำเครื่องหมายจราจร และแก้ไขพฤติกรรมด้วยการรณรงค์ส่งเสริมสร้างวินัยจราจร นอกจากนั้น สจส.ยังได้เร่งดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุให้แล้วเสร็จครบทั้ง 100 จุดเสี่ยง ภายในเดือน ธ.ค.2566
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย.ได้ขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตรวจสอบผิวจราจรและทางเท้าเป็นประจำตามวงรอบทุก 15 วัน หากตรวจพบผิวจราจร หรือทางเท้าชำรุด จะเร่งจัดซ่อมทันที เพื่อบรรเทาปัญหาให้ประชาชน สำหรับผิวจราจรที่มีโครงการก่อสร้างของหน่วยงานสาธารณูปโภค สนย.ได้ประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ดำเนินการเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชนให้เป็นไปตามคู่มือก่อสร้างงานสาธารณูปโภค พ.ศ.2550 โดยจะต้องดำเนินการตามมาตรการควบคุมความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตตลอดระยะเวลาที่โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งจะตรวจสอบพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมดเป็นประจำตามวงรอบทุกเดือน หากตรวจพบปัญหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน อาทิ ผิวจราจรเป็นหลุมบ่อ ทางเท้าชำรุด หรือได้รับความเสียหายจะแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคที่รับผิดชอบโครงการฯ ให้เร่งดำเนินการแก้ไข ในกรณีที่เกิดผลกระทบ หรือปัญหายังไม่ได้ข้อยุติ สนย.จะระงับการก่อสร้างชั่วคราวจนกว่าจะดำเนินการแก้ไขเรียบร้อย จึงจะอนุญาตให้ดำเนินก่อสร้างต่อไป อย่างไรก็ตาม สนย.ได้จัดเวรฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรประจำหน่วย BEST ณ ที่ตั้งศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนนทั้ง 6 ศูนย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
เขตบางคอแหลมติดตามการแก้ปัญหาเหตุถนนพระราม 3 ยุบตัว จัดเทศกิจอำนวยความสะดวกจราจรจุดกลับรถแยกเจริญราษฎร์
นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขเหตุผิวจราจรยุบตัวบริเวณถนนพระรามที่ 3 จุดกลับรถแยกเจริญราษฎร์ว่า สำนักงานเขตฯ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับสำนักการโยธา การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงความเป็นไปได้การเปิดใช้งานสะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์เป็นระยะ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ใช้ทางสัญจรได้รับทราบ รวมทั้งแนะนำเส้นทางเลี่ยงและจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณดังกล่าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการสัญจร
ทั้งนี้ บริเวณที่เกิดเหตุผิวจราจรยุบตัวอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินบริเวณถนนพระรามที่ 3 ช่วงสถานีถนนตก-สะพานพระราม 9 ดำเนินการโดย กฟน. และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จากการตรวจหาสาเหตุ ทราบว่าเกิดจากน้ำรั่วเข้าอุโมงค์ระหว่างรอยต่อของอุโมงค์และช่องชาร์ป ทำให้ดินบริเวณฐานรากของสะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์ทรุดตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างของสะพานข้ามแยกดังกล่าว จึงต้องปิดการจราจรบนสะพานขาเข้าเมืองเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 โดยผู้แทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ตรวจสอบสภาพปัญหาของสะพานและอยู่ระหว่างประเมินความมั่นคงแข็งแรงของสะพาน ก่อนเปิดใช้งานสะพานต่อไป