กทม.ปรับปรุงประสิทธิภาพระบายน้ำรวบรวมน้ำเสียในคลองโอ่งอ่างคาดแล้วเสร็จ ก.ค.66
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์น้ำในคลองโอ่งอ่างเน่าเสีย ไม่ได้รับการดูแลรักษาว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เฝ้าระวังติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองโอ่งอ่างเป็นประจำทุกเดือน จากการตรวจวัดค่าออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolve Oxygen : DO) อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยค่าเฉลี่ยปี 2565 DO เท่ากับ 3.2 มิลลิกรัม/ลิตร และค่าปริมาณความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (Biochemical Oxygen Demand : BOD) เฉลี่ยปี 2565 ค่า BOD เท่ากับ 6 มิลลิกรัม/ลิตร ปัจจุบันคลองโอ่งอ่าง ช่วงตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต – สถานีสูบน้ำคลองโอ่งอ่าง เป็นคลองที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงและโรงควบคุมรัตนโกสินทร์ ประกอบกับมีการถ่ายเทไหลเวียนน้ำอยู่เสมอ จึงไม่มีน้ำเสียไหลลงสู่คลองโอ่งอ่าง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคลองโอ่งอ่างตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต – สถานีสูบน้ำคลองโอ่งอ่าง มีการก่อสร้างเขื่อนริมคลองและด้านหลังเขื่อน โดยมีระบบรวบรวมน้ำเสีย เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากบ้านเรือนริมคลอง ซึ่งเดิมเคยปล่อยทิ้งลงคลองโอ่งอ่างให้เข้าระบบรวบรวมน้ำเสียของโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงภูมิทัศน์แนวคลองโอ่งอ่าง ระยะที่ 2 จากสะพานภานุพันธุ์ – สะพานดำรงสถิต เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำและรวบรวมน้ำเสีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.66
นอกจากนี้ ยังมีแผนการดูแลรักษาสภาพน้ำในคลองโอ่งอ่างและคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น คลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชบพิธ คลองหลอดวัดเทพธิดา คลองโอ่งอ่าง และคลองบางลำพู ในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงหมดฤดูฝน โดยถ่ายเทไหลเวียนน้ำเป็นประจำทุกวันในช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยากำลังขึ้นเต็มที่ เปิดประตูระบายน้ำ หรือสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองโอ่งอ่าง สถานีสูบน้ำพระปิ่นเกล้า และสถานีสูบน้ำปากคลองตลาด นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองคูเมืองเดิม แล้วเปิดประตูระบายน้ำที่คลองหลอดวัดเทพธิดาและประตูระบายน้ำคลองหลอดวัดราชบพิธ ให้ปริมาณน้ำใหม่ที่มีคุณภาพดีไหลเข้าสู่คลองโอ่งอ่าง เพื่อเจือจางไล่น้ำเก่าที่ค้างอยู่ในคลองให้มีคุณภาพดีขึ้น ส่วนการไหลเวียนน้ำในคลองรอบกรุง จะนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองรอบกรุงที่ประตูระบายน้ำคลองบางลำพูและสถานีสูบน้ำคลองโอ่งอ่าง ปริมาณน้ำที่เข้ามาจะมาช่วยถ่ายเทและไหลเวียนน้ำเก่าออกไปสู่คลองมหานาค จากนั้นจะสูบน้ำออกที่สถานีสูบน้ำกรุงเกษม ทั้งนี้ แผนการถ่ายเทไหลเวียนน้ำดังกล่าว หากมีการแจ้งเตือนจากศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมว่าอาจมีฝนตกในพื้นที่ จะชะลอการถ่ายเทน้ำไว้ชั่วคราว และควบคุมระดับน้ำในคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ไว้ที่ไม่เกินค่าระดับน้ำเตือนภัย พร้อมทั้งดูแลรักษาความสะอาดในคลองโอ่งอ่าง โดยเก็บขยะในคลองเป็นประจำทุกวัน รวมถึงมีแผนขุดลอกคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและป้องกันน้ำเน่าเสียอีกทางหนึ่ง สำหรับกรณีที่มีการอุดตันในท่อรวบรวมน้ำเสีย เช่น ไขมันสะสมที่มาจากแผงจำหน่ายอาหาร หรือร้านอาหารต่าง ๆ โดยรอบบริเวณคลองโอ่งอ่าง สนน.ได้จัดเจ้าหน้าที่ลอกไขมันและลอกท่อระบายน้ำในแนวถนนโครงข่ายที่อยู่โดยรอบคลองโอ่งอ่าง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช ถนนบำรุงเมือง ถนนบริพัตร ถนนหลวง และถนนมหาไชยเรียบร้อยแล้ว พร้อมนี้ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ และสำนักงานเขตพระนคร เพื่อขอความร่วมมือควบคุมผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ให้ปล่อยน้ำเสียและรณรงค์ไม่ให้ประชาชนทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงคลองโอ่งอ่าง
กทม.ติดตามการแก้ไขปัญหาผิวจราจรถนนพระราม 3 ทรุดตัว – วสท.ตรวจสอบโครงสร้างสะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงสาเหตุการเกิดเหตุผิวจราจรยุบตัวบริเวณใต้สะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์บริเวณถนนพระราม 3 ตัดกับถนนเจริญราษฎร์ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินบริเวณถนนพระรามที่ 3 ช่วงสถานีถนนตกถึงสะพานพระราม 9 ดำเนินการโดย กฟน. ซึ่งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.65 พื้นที่ก่อสร้างฯ ได้เกิดการยุบตัวบริเวณใต้สะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์ สาเหตุเกิดจากน้ำรั่วเข้าอุโมงค์ระหว่างรอยต่อของอุโมงค์และช่องชาร์ป ทำให้ดินบริเวณฐานรากของสะพานข้ามแยกเจริญราษฎร์ทรุดตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างของสะพานข้ามแยกดังกล่าว จึงต้องปิดการจราจรบนสะพานขาเข้าเมืองเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 และผู้แทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ตรวจสอบสภาพปัญหาของสะพานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความมั่นคงแข็งแรงของสะพาน ก่อนเปิดใช้งาน
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีแนวทางดำเนินการแก้ไข ดังนี้ (1) เติมน้ำเข้าอุโมงค์ให้เต็มเพื่อรักษาสมดุลแรงดันน้ำระหว่างภายในกับภายนอกอุโมงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากภายนอกไหลเข้าอุโมงค์ (2) อัดฉีด Chemical grout อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันน้ำเข้าจากจุดรั่วซึมให้แล้วเสร็จ (3) บริเวณหลุมยุบด้านข้างตอม่อสะพานจะดำเนินการถมทรายให้เต็มแล้วเสร็จ เพื่อรักษาเสถียรภาพโครงสร้างสะพาน (4) ตรวจสอบระดับและระยะล้มดิ่งของตอม่อสะพาน ทั้งแนวดิ่งและแนวราบตลอดระยะเวลา (5) เมื่อน้ำหยุดไหลเข้าอุโมงค์แล้ว จะทดสอบความแข็งแรงของเสาเข็มโดยวิธี turn load เพื่อสามารถยืนยันการใช้งานได้ต่อไป ตามความเห็นสภาวิศวกร (6) อาจจะต้องปรับปรุงดินรอบเสาเข็มสะพาน หรือดำเนินการอื่น ๆ ตามความเห็นสภาวิศวกรก่อนเปิดใช้สะพาน และ (7) ประชาสัมพันธ์แจ้งผู้ใช้เส้นทางจราจรทราบผ่านสื่อต่าง ๆ ดังกล่าว และเพิ่มป้ายประชาสัมพันธ์โดยรอบบริเวณในวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนรับทราบและหลีกเลี่ยงเส้นทาง
กทม.เร่งสำรวจความเห็นประชาชน พิจารณาความเหมาะสมจุดก่อสร้างสะพานลอยถนนบางกระดี่
นางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน (สะพานลอย) ถนนบางกระดี่ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับการก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน (สะพานลอย) บริเวณซอยบางกระดี่ 14 แล้วเสร็จ และส่งให้สำนักการจราจรและขนส่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 3 จุด ประกอบด้วย บริเวณซอยบางกระดี่ 16, 32 และ 35/1 อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับการก่อสร้างสะพานทั้ง 3 จุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตั้งแต่เดือน ส.ค.63 เป็นต้นมา เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ประกอบกับการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและรับฟังเหตุผลของบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสีย คือ เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นจุดก่อสร้าง โดยเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว มีทั้งติดต่อได้และไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งในกรณีที่ติดต่อได้ ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่าที่ควร จึงทำให้การดำเนินการล่าช้า
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง รักษาการผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวถึงแนวทางพิจารณาจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า การก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามถนน (สะพานลอย) จะต้องมีความกว้างของถนนไม่น้อยกว่า 14.0 เมตร ความกว้างทางเท้าไม่น้อยกว่า 4.0 เมตร ระยะความสูงปลอดภัยจากผิวจราจรถึงใต้สะพานคนเดินข้ามถนน ไม่น้อยกว่า 5.5 เมตร ห่างจากสะพานคนเดินข้ามถนนข้างเคียงประมาณ 200 เมตร โดยมีปริมาณคนเดินข้ามถนนสูงสุด/ชั่วโมงในชั่วโมงเร่งด่วน (Peak hour) ไม่น้อยกว่า 100 คน/ชั่วโมง มีปริมาณการจราจร/ชั่วโมงทั้ง 2 ทิศทางไม่น้อยกว่า 650 คัน/ชั่วโมง และต้องมีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากแบบสอบถามจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ชุด/จุดก่อสร้าง เพื่อให้ สจส.นำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามที่เหมาะสม ทั้งนี้ สจส.จะเร่งประสานสำนักงานเขตบางขุนเทียน ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมจุดก่อสร้างสะพานคนเดินข้ามต่อไป