Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 10 มกราคม 2567

กทม.เดินหน้าป้องกันฝุ่นพิษจากการจราจร นำร่องใช้ ATC 13 ทางแยก ลดความล่าช้าเดินทางได้ 10%

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากการจราจรและการขนส่งว่า สจส.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กรมธุรกิจพลังงาน เป็นต้น ในการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงาน ภายใต้ 16 แนวทาง ประกอบด้วย (1) วิจัยหาต้นเหตุ (2) นักสืบฝุ่น (3) การตรวจโรงงาน (4) การแจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้แก่กลุ่มเปราะบาง (5) การแจ้งเตือนป้องกันฝุ่น PM2.5 (6) Open Data (7) การตรวจสถานที่ก่อสร้างและการตรวจรถควันดำในสถานที่ก่อสร้าง (8) การใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ (9) การส่งเสริมรถราชการในสังกัด กทม.เป็นรถพลังงานไฟฟ้า (10) การตรวจวัดรถควันดำในสถานที่ก่อสร้างบนถนนและสถานที่ต้นทาง (11) การแจ้งปัญหาฝุ่นผ่านระบบ Traffy Fondue (12) การพัฒนาผู้ประกอบการ (13) การทำกิจกรรมของสำนักงานเขต (14) การตรวจวัดควันดำรถราชการในสังกัด กทม. (15) การขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด และ (16) การจัดทำ BKK Clean Air Area โดยในระยะเร่งด่วนได้ตรวจวัดควันดำรถประจำการของ สจส.ทุกคัน วางแนวทางให้เปลี่ยนรถในสังกัดเป็นรถพลังงานไฟฟ้า จัดบริการรถเวียนพลังงานไฟฟ้า (BMA Shuttle Bus Feeder) รวมทั้งวางแผนติดตั้งจุดชาร์จสำหรับรถพลังงานไฟฟ้า (EV-Charging Station) ให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ และสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ อาทิ การเพิ่มจุดจอดรถจักรยานส่วนบุคคล และส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานสาธารณะ (Bike Sharing)

นอกจากนี้ สจส.ได้เปิดใช้ระบบเทคโนโลยีบริหารจัดการระบบการจราจร เพื่อลดความติดขัดบนถนนและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางด้วยระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (Area Traffic Control : ATC) โดยนำร่องในพื้นที่ถนนสายหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ รวม 13 ทางแยก จากการดำเนินงานในเบื้องต้นพบว่า สามารถลดความล่าช้าในการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนลงถึงร้อยละ 10 สำหรับการเพิ่มความคล่องตัวการเดินทางอย่างยั่งยืน สจส.ได้วางแผนนำระบบการบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) มาใช้ควบคุมระบบสัญญาณไฟจราจรทั้งโครงข่ายให้สอดคล้องกับสภาพจราจรที่เกิดขึ้นจริงขณะนั้น ด้วยการใช้กล้อง CCTV ตรวจจับข้อมูลการจราจร ทั้งปริมาณรถ ความเร็วของรถ และประเภทของยานพาหนะ ผ่านกระบวนการทำงานของระบบเทคโนโลยี ได้แก่ (1) รวบรวมข้อมูล (2) วิเคราะห์ข้อมูล (3) ตรวจสอบความผิดปกติบนถนน (4) ควบคุมสัญญาณไฟจราจร (5) จัดการการไหลในระบบจราจร และ (6) รายงานข้อมูลจราจร หรือแจ้งเตือนเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะเดียวกัน สจส.ได้รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ควบคู่กับการส่งเสริมให้เดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะและเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมทั้งพัฒนาทางเดินเท้าและเส้นทางการใช้รถจักรยานให้สะดวกปลอดภัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

 

กทม.เเก้ปัญหาสุนัขจรจัดในหมู่บ้านทวีสุข-แจงแนวทางพิจารณานำสุนัขและแมวจรจัดเข้าศูนย์ควบคุมฯ
     
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนขอให้นำสุนัขจรจัดออกจากหมู่บ้านทวีสุข ถนนเสรีไทย ซอย 29 เขตบึงกุ่ม เนื่องจากมีพฤติกรรมดุร้ายว่า กรณีดังกล่าว สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตและตัวเเทนคณะกรรมการพิจารณาเเก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดในเขตกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ร่วมกัน โดยตัวเเทนคณะกรรมการฯ ได้ประสานมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยลงพื้นที่จับสุนัขมาผ่าตัด ทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เเละปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิมเเล้ว แต่พบว่า สุนัขยังเเสดงพฤติกรรมดุร้ายอยู่ โดย สนอ.จะลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขต เพื่อนำสุนัขดังกล่าวออกจากพื้นที่มากักสังเกตอาการและป้องกันการก่อเหตุซ้ำ รวมทั้งหาผู้อุปการะ หรือดูเเลต่อจนหมดอายุขัยต่อไป

      สำหรับแนวทางการเเก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจรจัดจากเรื่องร้องเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ จะพิจารณานำสุนัขและแมวจรจัดเข้าศูนย์ควบคุมสุนัข กทม.ใน 4 กรณี ได้แก่ (1) สุนัข หรือแมวสงสัย หรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (2) สุนัข หรือแมวกัดทำร้ายคน (มีหลักฐานชัดเจน) (3) สุนัข หรือแมวมีพฤติกรรมดุร้าย หรือเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัย (พิสูจน์ว่าเป็นจริง) และ (4) สุนัข หรือแมวที่เจ้าของเสียชีวิต หรือสิ้นสภาพการเลี้ยง (ไม่มีญาติ  หรือทายาทรับเลี้ยงต่อ) ในกรณีได้รับแจ้งสุนัขจรจัดมีพฤติกรรมดุร้าย หรือเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัย สนอ. สำนักงานเขต และตัวเเทนคณะกรรมการฯ จะนัดหมายเพื่อลงพื้นที่ร่วมกันพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่า เป็นจริง สนอ.จะนำสุนัขจรจัดออกจากพื้นที่ เพื่อกักสังเกตอาการและป้องกันการก่อเหตุซ้ำ จากนั้นจะผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหาผู้อุปการะ หรือดูเเลต่อจนหมดอายุขัย เนื่องจากศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข กทม.สามารถรองรับสุนัข และแมวได้จำนวนจำกัด กรณีปัญหาสุนัขและแมวจรจัดนอกเหนือจาก 4 กรณีข้างต้น สนอ.และสำนักงานเขตจะผ่าตัดทำหมันควบคุมประชากรสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เเละปล่อยกลับคืนพื้นที่เดิม เพื่ออยู่ร่วมกับชุมชนและป้องกันไม่ให้สัตว์จรจัดใหม่เข้ามาแทนที่ รวมทั้งให้ข้อแนะนำแก่ประชาชนในการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์จรจัดที่อาจก่อปัญหาเหตุเดือดร้อนกับสังคม

 

 

 

โรงเรียน กทม.พร้อมปรับรูปแบบการเรียนการสอนรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สูง

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนว่า สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนให้ดำเนินการตามแนวทาง การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม.ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 โดยให้โรงเรียนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน AirBKK ในเวลา 07.00 น. 11.00 น. และ 15.00 น. และในช่วงที่นักเรียนต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ได้แก่ ค่า PM2.5 0 – 15.0 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ติดตั้งธงสีฟ้า หมายถึงคุณภาพอากาศดีมาก ทำกิจกรรมได้ตามปกติ ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 15.1-25.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเขียว หมายถึงคุณภาพอากาศดี ทำกิจกรรมได้ตามปกติ กลุ่มเสี่ยง ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 25.1-37.5 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีเหลือง หมายถึงคุณภาพอากาศปานกลาง ลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยงสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 37.6-75.0 มคก./ลบ.ม. ติดตั้งธงสีส้ม หมายถึงคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก กลุ่มเสี่ยงสวมหน้ากากป้องกันทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร ลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป ติดตั้งธงสีแดง หมายถึงคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ งดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องออกกลางแจ้งสวมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ทุกครั้ง กลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ในห้องที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ หากมีค่าฝุ่นตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลงและเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อนักเรียน ให้ใช้ดุลพินิจปิดการเรียนการสอน ได้แก่ ค่าระหว่าง 37.6 – 75 มคก./ลบ.ม. ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขต ครั้งละไม่เกิน 7 วัน หรือหากไม่ปิดการเรียนการสอนให้งดกิจกรรมกลางแจ้งและสวมหน้ากากขณะอยู่นอกอาคารเรียนและระหว่างเดินทาง พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่ Safe Zone ให้ทุกคนในโรงเรียน และดำเนินมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด หรือปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามความเหมาะสม และค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ. สถานการณ์ฝุ่นละอองยังไม่ลดลง และเมื่อคาดการณ์แล้วพบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และเมื่อฝุ่น PM2.5 เกิน 2 – 5 เขต ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ โดยไม่จำกัดระยะเวลาเมื่อค่าฝุ่น PM2.5 เกินมากกว่า 5 เขต

 

 

 

กทม.กวดขันจับปรับจอด-ขับขี่รถ จยย.บนทางเท้า เน้นจุดร้องเรียน-ช่วงเวลาเร่งด่วน

นายสุรเดช อำนวยสาร รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนท.ได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดที่ประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค.61 – 3 ม.ค.67 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวน 55,554 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 62,257,700 บาท

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200