กทม.ตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษเข้มงวด-เฝ้าระวังการเผาในที่โล่ง รองรับสถานการณ์ฤดูฝุ่น
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การเข้าสู่ฤดูฝุ่นของประเทศไทยว่า สสล.ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการในด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และรองรับสถานการณ์การเข้าสู่ฤดูฝุ่นของประเทศไทย รวมทั้งเตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ กทม.เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 12 ม.ค.67 ตามที่กรมควบคุมมลพิษแจ้งเตือนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีอัตราระบายอากาศต่ำ อาจทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนของ กทม.ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสะสมตัวเพิ่มขึ้นและคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งเตรียมแผนรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงวิกฤต โดยสื่อสารเชิงรุก รายงานสถานการณ์ฝุ่น พร้อมค่าพยากรณ์แจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com เพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เพจเฟซบุ๊ก กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน LINE ALERT และ LINE OA @airbangkok อีกทั้งถ่ายทอดสด (Live) ผ่านเพจเฟซบุ๊กทุกวันทำการในเวลา 09.00 น. โดยโฆษกศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสาเหตุการเกิดฝุ่นละออง ดูแลตนเองและคนในครอบครัว รวมทั้งมีส่วนร่วมลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และทราบถึงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทลงโทษหากฝ่าฝืน
ขณะเดียวกันได้ตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างเข้มงวด ตรวจจับควันดำจากต้นตอ ตรวจวัดควันดำริมเส้นทางจราจร ติดตามเฝ้าระวังจุดความร้อนผ่านเว็บไซต์ GISTDA กวดขันควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิด ตามแผนลดฝุ่น PM2.5 เพื่อให้มีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตร รวมถึงรณรงค์เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก ส่งเสริมการนำตอซังฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ ใช้จุลินทรีย์หมักย่อยสลายตอซังแทนการเผา ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครได้ประสานแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท และนครนายก เพื่อบูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากต้นทาง โดยขอความร่วมมือติดตามเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ ควบคุมกำกับดูแล ห้ามไม่ให้เผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ชุมชนเมือง พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ริมทางตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือน เม.ย.67 อีกทั้งได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจวัดควันดำรถบรรทุกขนาดใหญ่บริเวณท่าเรือคลองเตย เพื่อควบคุมและตรวจสอบให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันให้บริการตรวจบำรุงรักษารถยนต์ฟรี ลดราคาอะไหล่ น้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เป็นต้น ในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงระหว่างเดือน พ.ย.66 – เม.ย.67 เพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 จากยานพาหนะ โดยผู้เข้ารับบริการจะได้รับสติกเกอร์ “รถคันนี้ลดฝุ่น“ เพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนอีกทางหนึ่ง
สำหรับมาตรการลดกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะประกาศขอความร่วมมือส่วนราชการและภาคเอกชนปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home) เพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนถนนและพิจารณาปรับรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเมื่อพบเห็นแหล่งกำเนิดฝุ่น โดยแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการแก้ไข
กทม.เข้มตรวจสอบโรงงานผลิต-จัดเก็บสารเคมีวัตถุอันตราย
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมป้องกันและระงับเหตุอันตราย หรืออุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ.มีแนวทางป้องกันและระงับเหตุอันตราย หรืออุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยจัดผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารเคมีและวัตถุอันตรายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปยังบริเวณเกิดเหตุและตรวจสอบว่า มีผลกระทบข้างเคียง หรือมีสารเคมีและวัตถุอันตรายตกค้างในสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยตรวจสอบบริเวณถนนและท่อระบายน้ำ พร้อมตรวจวัดไอระเหยสารเคมีในพื้นที่เกิดเหตุและบ้านเรือนประชาชนด้านท้ายลม เพื่อแก้ไขให้บริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณข้างเคียงมีความปลอดภัย
สำหรับการจัดการกับสารเคมีหลังเกิดเหตุ ให้เจ้าของสารเคมีจัดเก็บสารเคมีในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและปิดฉลากให้เรียบร้อย พร้อมเก็บขนสารเคมีไปจัดเก็บที่โรงงานเจ้าของสารเคมี เพื่อส่งไปกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง หากไม่พบเจ้าของสารเคมี สำนักงานเขตมีหน้าที่จัดรถสำหรับขนย้ายกากของเสียไปจัดเก็บชั่วคราวที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เมื่อหาผู้รับผิดชอบได้แล้วให้เจ้าของสารเคมีนำไปบำบัดและกำจัดต่อไป ส่วนกรณีลักลอบทิ้งสารเคมี กทม.ไม่สามารถหาเจ้าของสารเคมีมารับผิดชอบได้ จะจ้างบริษัทที่ให้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายกำจัดด้วยวิธีการที่ถูกต้องต่อไป รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำด้านสุขภาพโดยเร่งด่วน ติดตามอาการและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีและวัตถุอันตราย โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ รวมถึงสอบถามประชาชนที่พักอาศัยบริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียงว่า ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีรั่วไหลหรือไม่ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพของประชาชนต่อไป และสอบถามเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลผู้รับสัมผัสสารเคมีที่มีอาการบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตาม กทม.มีแนวทางเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบโรงงาน หรือสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผลิต เก็บ ครอบครอง หรือใช้สารเคมีและวัตถุอันตรายให้ปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย โดยบูรณาการทีมตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมธุรกิจพลังงาน เพื่อตรวจเฝ้าระวังสถานประกอบการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งสำนักงานเขต 50 เขต ตรวจสอบสถานประกอบการสารเคมีในพื้นที่รับผิดชอบทุกปี เพื่อความปลอดภัยและสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบกิจการสารเคมีจัดเก็บสารเคมีให้มีความปลอดภัยและอยู่ในมาตรฐานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดให้ข้อมูลรายละเอียดสารเคมีที่ครอบครอง เครื่องมืออุปกรณ์สำหรับดับเพลิงที่เพียงพอ วัสดุดูดซับสารเคมี จัดทำแผนฉุกเฉินสารเคมี แผนอัคคีภัย และต้องจัดให้มีการซักซ้อมเป็นประจำทุกปี ขณะเดียวกันได้นำเข้าข้อมูลสถานประกอบการสารเคมีลงบนแผนที่เสี่ยงภัยกรุงเทพมหานคร (BKK Risk Map) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้เฝ้าระวังภัยจากสารเคมี และใช้เป็นข้อมูลตอบโต้อุบัติภัยสารเคมี
นอกจากนั้น กทม.มีแผนป้องกันและบรรเทาภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งมีหลายหน่วยงานในสังกัด กทม.เข้าร่วมปฏิบัติการตามแผนดังกล่าว ส่วนกรณีการขนย้ายสารเคมีและวัตถุอันตราย ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ขี่รถบรรทุกวัตถุอันตรายต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ประเภทที่ 4 และต้องผ่านการฝึกอบรมตามที่อธิบดีกรมประกาศกำหนด รวมทั้งต้องมีความรู้การป้องกันการเกิดประกายไฟของสารเคมี และรถที่บรรทุกวัตถุอันตรายต้องมีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด ติดป้ายแสดงสัญลักษณ์ของวัตถุอันตรายให้ชัดเจน ภายในรถมีเอกสารการขนส่งตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
กทม.ประสาน กฟน.เร่งเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมแก้ไขชั่วคราวทางเท้าถนนหลังสวน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการเดินสะดุดบนทางเท้า ถนนหลังสวน เขตปทุมวันว่า กรุงเทพมหานครขออภัยเป็นอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัญจรบนทางเท้าบริเวณถนนหลังสวนและมิได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ประสานการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เข้าซ่อมแซมแก้ไขจุดที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นการชั่วคราวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งให้ กฟน.ติดต่อเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จุดเกิดเหตุดังกล่าวอยู่ในพื้นที่โครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของ กฟน.ซึ่งปัจจุบัน กฟน.ดำเนินการในส่วนของใต้ดินเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการส่วนที่อยู่บนดิน ได้แก่ การตัดสายไฟฟ้า สายสื่อสาร ติดตั้งอุปกรณ์และหักเสาออก รวมทั้งคืนสภาพทางเท้าและผิวจราจรถาวร โดยรื้อพื้นกระเบื้องทางเท้าเดิมและปรับปรุงทางเท้าโดยใช้วัสดุใหม่ทั้งหมดให้เรียบร้อยสวยงามตลอดทั้งสาย
นอกจากนั้น ยังได้ขอความร่วมมือให้ กฟน.สำรวจตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทั้งหมดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันผู้รับจ้างซ่อมแซมผิวจราจรและทางเท้าชั่วคราวให้เรียบร้อย รวมทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของ กทม.ตรวจสอบพื้นที่การทำงานของหน่วยงานสาธารณูปโภคเป็นประจำทุกวัน หากไม่เรียบร้อยจะแจ้งให้แก้ไขโดยด่วนต่อไป
เขตบางเขนกำชับผู้รับเหมาทำถนนในซอยรามอินทรา 19 รดน้ำล้างถนนเช้า-เย็น
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นฟุ้งกระจายจากการทำถนนในซอยรามอินทรา 19 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณดังกล่าว โดยเบื้องต้นได้ประสานผู้รับเหมาทำถนนในซอยรามอินทรา 19 ให้รดน้ำล้างถนนอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็น พร้อมทั้งจัดหารถบรรทุกน้ำมาฉีดพรมถนน และเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน ม.ค.67 ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะตรวจสอบผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามให้ควบคุมป้องกันฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนต่อไป