กทม.ร่วม สน.ประเวศปรับการเดินรถแยกศรีนุช พร้อมประสาน รฟม.-กฟน.เร่งคืนผิวจราจร
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาจราจรติดขัดบริเวณแยกศรีนุช ถนนศรีนครินทร์ อาจเกิดจากการเปิดใช้สัญญาณไฟจราจรว่า สจส.ได้ตรวจสอบสาเหตุของปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณแยกศรีนุช (ถนนศรีนครินทร์ ตัดถนนอ่อนนุช) พบว่า ภายหลังจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแล้วเสร็จ ได้เปิดใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นทางแยกที่มีการควบคุมโดยสัญญาณไฟจราจรในสภาพที่ยังไม่เรียบร้อย ทำให้การจราจรติดขัด สจส.จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในเบื้องต้นได้ร่วมกับสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ประเวศ พิจารณาลดจุดตัดการจราจร ปรับการเดินรถบริเวณแยกศรีนุช โดยห้ามรถจากถนนอ่อนนุช (มุ่งหน้าลาดกระบัง) ที่จะไปบางนาเลี้ยวขวาเข้าถนนศรีนครินทร์ โดยให้รถที่จะมุ่งหน้าเส้นทางดังกล่าวเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดแล้วกลับรถใต้สะพานข้ามคลองพระโขนงแทน รวมทั้งห้ามรถจากถนนศรีนครินทร์ขาเข้าเลี้ยวขวาเข้าถนนอ่อนนุช (ที่จะไปลาดกระบัง) โดยให้ตรงไปกลับรถใต้สะพานข้ามคลองพระโขนงแทน และปรับจังหวะสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับการจัดการจราจรและปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลา
นอกจากนั้น ได้ประสานสำนักการโยธา กทม.กำชับหน่วยงานสาธารณูปโภคเร่งคืนผิวจราจรในบริเวณดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยเร็ว หากมีการก่อสร้างบนผิวจราจรให้ดำเนินการเฉพาะช่วงเวลา 22.00 – 05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงถนนศรีนครินทร์ อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งระบบการเดินรถด้านบนเปิดใช้งานแล้ว ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างปรับปรุงคืนสภาพผิวจราจรและทางเท้าส่วนที่ชำรุดเสียหายจากการก่อสร้าง และพื้นที่ผิวจราจรบางส่วนในแนวถนนศรีนครินทร์มีงานก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ด้วย ซึ่งปัจจุบันงานโครงสร้างใต้ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว กฟน.อยู่ระหว่างซ่อมแซม เพื่อคืนสภาพผิวจราจรคอนกรีตเสริมเหล็กตามจุดต่าง ๆ รวมทั้งจุดบริเวณใกล้กับแยกศรีนุชที่ปิดช่องจราจร เพื่อซ่อมแซมเมื่อวันที่ 8 ม.ค.67 ช่วงเวลากลางวัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด อย่างไรก็ตาม ได้ประสานแจ้ง กฟน.ให้ซ่อมแซมผิวจราจรเฉพาะในช่วงเวลา 22.00 – 05.00 น.ของทุกวันเท่านั้น และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร ลดความเดือดร้อนของประชาชนในการใช้เส้นทาง
กทม.เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ขยายเวลารับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ถึง 29 ก.พ.นี้
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในท้องที่เขตกรุงเทพฯ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ.2562 ว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 ซึ่ง สวพ.ตระหนักถึงหลักการและความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด ซึ่งมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นมากกว่า 50 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 7,000 คน และหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายผังเมืองเป็น พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 กทม.ได้ปรับปรุงร่างผังเมืองรวมที่ได้จัดทำไว้ ได้แก่ แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังแสดงโครงการสาธารณูปโภค รวมถึงได้จัดทำแผนผังแสดงผังน้ำ และแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้น จากนั้นได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนก่อนมีร่างผังเมืองรวม ด้วยการประชุมร่วมกับกลุ่มจังหวัด กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อหารือแนวทางวิธีการดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และอื่น ๆ หลังจากนั้น กทม.ได้เสนอร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความเห็นและนำมาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 และหลักเกณฑ์ วิธีการที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ
ในการดำเนินการดังกล่าว กทม.มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โดยได้ประชาสัมพันธ์และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรายกลุ่มเขตทั้งหมด 6 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 – 24 ธ.ค.66 และจัดประชุมใหญ่ ณ ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย – ญี่ปุ่น) เขตดินแดง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการเพิ่มเติมมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้การจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครมีความทั่วถึงและครอบคลุมกลุ่มประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด นอกจากนั้น ยังได้กำหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือ เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยสามารถยื่นด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม.เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กทม. 10400 จนถึงวันจันทร์ที่ 22 ม.ค.67 หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ สวพ. (webportal.bangkok.go.th/cpud) อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 7 ครั้ง มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ กทม.จึงได้ขยายระยะเวลาการแสดงความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 29 ก.พ.67 และจะได้รวบรวมข้อคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและนำเสนอคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จัดทำขึ้นเพื่อชี้นำการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครและบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความปลอดภัย (Public Safety) มีสุขอนามัย (Public Health) และมีสวัสดิภาพของสังคม (Public Welfare) ผ่านการควบคุมและส่งเสริมการพัฒนาเมืองด้วยแผนผัง ข้อกำหนด และมาตรการทางด้านผังเมือง โดยมุ่งหวังให้กรุงเทพมหานครใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการของรัฐ มีความสมดุลระหว่างที่พักอาศัย พาณิชยกรรม และแหล่งงาน ลดระยะการเดินทาง ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง มีระบบคมนาคมสมบูรณ์ และเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี
กทม.ออกหน่วยเชิงรุกเฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นว่า สนพ.ได้บูรณาการโรงพยาบาลร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเขต สถานีตำรวจนครบาล โรงเรียน ให้ความรู้และข้อแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะเน้นเข้าถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยให้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เพื่อออกช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีการรายงานค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ขณะเดียวกันได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดออกหน่วยบริการเชิงรุก ดูแลรักษา ให้คำแนะนำเบื้องต้น ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนและเครือข่าย ทั้งภายใน รพ.และชุมชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรอบ รพ.ในช่วงสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนาแน่น รวมทั้งจัดห้องปลอดฝุ่น พัดลม และแผ่นกรองอากาศ เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของ รพ.ในสังกัด ทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่นสำหรับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้ สนพ.ได้เน้นย้ำสำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็น ต้องออกนอกอาคารให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine และแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม.โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้น สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงผู้ป่วยนอกในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง ระบบตา ฯลฯ โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ รพ.ในสังกัด ดังนี้ รพ.กลาง (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.ตากสิน (วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 – 12.00 น.) รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.) รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ (วันพฤหัสบดี เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ (วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.) และ รพ.สิรินธร (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5