ในปี 67 เริ่มต้นศักราชใหม่ กทม. มุ่งมั่นพัฒนา อย่างต่อเนื่องทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนตามนโยบายผู้ว่าฯกทม. กำหนดไว้ 22 เป้าหมายให้สำนักงานเขตดำเนินการ และประชาชนยังสามารถติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายต่าง ๆ ได้ผ่านลิงก์ https: //policy.bangkok.go.th/policy/frontend/web/
เป้าหมาย 22 ข้อ
ประกอบด้วย
1.พัฒนาถนนสวย-126.60 กม. 2.ปลูกต้นไม้-200,000 ต้น 3.เพิ่มสวน 15 นาที-156 แห่ง 4.ปรับปรุงทางเท้า-324.54 กม. และ ขีดสีตีเส้นทางจักรยาน/ทางเดินซอยย่อย-498.70 กม. 5.ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่า-
31,878 ดวง 6.ติดตั้ง/ซ่อมไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง-7,725 ดวง 7.ยกเลิก/ยุบรวม พื้นที่หาบเร่-แผงลอยนอกจุด ผ่อนผัน-109 แห่ง 8.จัดหาพื้นที่เอกชน/พัฒนา Hawker Center รองรับผู้ค้าหาบเร่-28 แห่ง 9.แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม-99 จุด 10.แก้ปัญหาจุดจราจรฝืด-137 แห่ง 11.แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ-125 แห่ง และแก้ไขจุดเสี่ยงอาชญา กรรม-322 แห่ง
12.ปรับปรุง/พัฒนาลานกีฬา-162 แห่ง 13.ปรับปรุง/พัฒนาบ้านหนังสือ-45 แห่ง 14.ปรับปรุง/พัฒนา ศูนย์เด็กเล็ก-89 แห่ง 15.ปรับปรุงกายภาพโรงเรียน-276 แห่ง 16.จัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม-91.23% และปริมาณขยะเศษอาหารที่คัดแยกได้ ภายใต้โครงการ ไม่เทรวม-62,011 ตัน/ปี 17.พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง, อุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย-2,009 ชุมชน 18.ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาท/ชุมชน-328,200,754 บาท 19.ส่งเสริมการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช.-274,376,000 บาท 20.พัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน-80.88 (% จำนวนคำขอ) 21.ขุดลอกท่อ-4,260.43 กม. 22.ขุดลอกคลอง/เปิดทางน้ำไหล-3,806.26 กม.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
“ที่ผ่านมาเราอาจละเลยเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข ปีนี้เราจึงมุ่งมั่นพัฒนาและให้ความสำคัญ หากเราไม่เริ่มที่ คน ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน โดยปี 67 จะมีปรับและพัฒนาห้องเรียนเป็นห้องเรียนดิจิทัล จะพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ครบทั้ง 43 โรงเรียน รวม 598 ห้อง เพราะเมื่อเราไปดูใน รร. แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เด็ก ๆ ชอบห้องเรียนคอมพิวเตอร์ใหม่ที่มีคุณภาพและเข้ามาใช้งานจำนวนมาก
รวมถึงพัฒนาหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักเรียนในสังกัดทั้งช่วงชั้นอนุบาลและช่วงชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ส่วนเรื่องสาธารณสุขมีการ สร้าง รพ. เพิ่ม 4 แห่ง รวมทั้งยกระดับ”ศูนย์บริการสาธารณสุข” ให้เป็น “ศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง” พัฒนาศูนย์สาธารณสุขเพิ่มเติม ทั้งด้านคุณภาพและจำนวนศูนย์ฯ ที่เพิ่มขึ้น เพราะ สาธารณสุขช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้”
จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม.
“กทม. กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยในทุกมิติ ในส่วนของผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยริมทางเท้าสาธารณะ ได้เร่งรัดจัดระเบียบให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยทุกจุด กำหนดมาตรการ คือ ไม่เพิ่มจุดและจำนวนผู้ค้าที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว กรณีจุดทำการค้าใดที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ได้ขอความร่วมมือให้เคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่ในที่เอกชน หรือราชการ รัฐวิสาหกิจ โดย กทม. เป็นผู้จัดหาที่รองรับให้พร้อมเจรจาต่อรองราคาค่าเช่าแผงค้าที่เป็นธรรม
ส่วนจุดที่มีผู้ค้าน้อยรายให้ไปรวมกับจุดใกล้เคียง เพื่อลดจำนวนแผงค้า ส่วนจุดอื่นที่ยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้ก็ได้เร่งรัดจัดระเบียบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ส่วนปัญหาหาบเร่แผงลอยต่างชาตินั้นในส่วนของการทำการค้าของผู้ค้าสัญชาติต่างชาติ กทม. ไม่อนุญาตให้ทำการค้าขาย เนื่องจากเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ศ. 2535 ก็ได้กำชับเขตออกตรวจตราพร้อมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่”
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯกทม.
“ด้านการแพทย์-การสาธารณสุขในปีนี้ ยังคงเดินหน้าดูแลสุขภาพประชาชนเช่นเดิมภายใต้ 24 นโยบายสุขภาพดีปี 2 โดยดำเนินการผ่าน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านบริการเข้าถึงง่ายทั่วถึงสู่เส้นเลือดฝอย 2.ด้านเทคโนโลยี 3.ด้านภาวะฉุกเฉิน 4.ด้านโรคคนเมือง และ 5.ด้านส่งเสริมสุขภาพคนเมือง และการป้องกันสุขภาพของประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยร้ายแรง ดูแลสุขภาพตนเอง ตรวจ คัดกรองสุขภาพ จึงเดินหน้าโครงการ Health Screening 1,000,000 คน ภายในเดือน มิ.ย. 67 โดยเป็นการตรวจสุขภาพตามสิทธิ ซึ่งเป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐาน และบวกอีก 3 เรื่องที่เราเช็กให้ ได้แก่
การตรวจตา การตรวจปอด การตรวจหัวใจ EKG ฟรี และเตรียมเพิ่ม Health Tech ศูนย์เทคโนสุขภาพดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสุขภาพได้ง่ายขึ้น”
วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม.
“เมืองเดินได้เดินดี ปี 67 นี้ กทม. จะพัฒนาทางเดินวิ่ง BKK trail เพิ่มอีก 130 กม. และจะปรับปรุง ทางเดินและทางจักรยานเพิ่มเติมในย่านสามยอด ย่านลาดพร้าว ย่านท่าพระ และย่านพร้อมพงษ์หลังปี 66 ดำเนินการย่านบำรุงเมืองแล้วเสร็จ รวมทั้งมีแผนปรับปรุงถนน ซอย ให้มีทางเดิน-ปั่นสะดวก เพื่อเชื่อมต่อเมือง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อจากแหล่งชุมชนสู่ระบบขนส่งสาธารณะ (first mile/last mile) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินและการปั่น กทม. จึงเดินหน้าโครงการจักรยาน Bike Sharing ให้บริการ เช่าปั่น เชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ในรูปแบบใหม่ โดยใช้งานผ่าน Mobile Application ซึ่ง จะเริ่มนำร่องให้บริการจักรยานก่อน 2,000 คันในปีนี้ ใน 3 เส้นทางทั้งโซนกรุงเทพฯชั้นใน (เกาะรัตนโกสินทร์) โซนปทุมวัน-สยาม และโซนสีลม-บางรัก”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.
“ในปีนี้ อยากผลักดันด้านการศึกษา พัฒนาให้เด็กนักเรียนในสังกัด กทม. รู้จักคิดแบบวิเคราะห์มากขึ้น ไม่เพียงแค่เรียนแบบความจำอย่างเดียว โดยในทุกชั้นเรียนจะมีนำความรู้มาประยุกต์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ฝึกอาชีพ การทำอาหาร การเล่นดนตรี ขยายผลห้องเรียนดิจิทัล ส่วนงานศิลปวัฒนธรรมก็คงคึกคักเหมือนเดิม เพียงแต่เราจะทำเองน้อยลงเพราะพลังของเครือข่ายมีมหาศาลในการผลักดันงานออกสู่สายตาประชาชน
รวมทั้งมีการปรับปรุงด้านกายภาพต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เช่น ปรับปรุงอาคาร สนามเด็กเล่นเพิ่มขึ้น พิพิธภัณฑ์เพิ่มขึ้น และทำให้พื้นที่เหมาะรองรับความต้องการของผู้ที่ใช้งานพื้นที่สาธารณะและมีกิจกรรม ให้เพิ่มมากขึ้น”.
บรรยายใต้ภาพ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
จักกพันธุ์ ผิวงาม
ทวิดา กมลเวชช
วิศณุ ทรัพย์สมพล
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2567