พระอาจารย์จินเคอสวนเหลย แห่งพุทธวัชรยาน จงหัวถังมี่ พร้อมคณะลูกศิษย์จากประเทศจีน ไทย กัมพูชา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย แคนาดา ฯลฯ กว่า 150 คน เดินทางมาเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของหม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช เพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพื่อสนองนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่ริเริ่มโดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ที่มีมาอย่างยาวนาน
โดยในโอกาสที่มาเยือนไทยในครั้งนี้ พระอาจารย์จินเคอสวนเหลย พร้อมด้วย หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช และ คุณอภิญญา ปราโมช (บุตรสาว) นายกสมาคมการค้าไทย-จีน และเศรษฐกิจเอเชีย ได้เข้าพบ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพ 2 ดินแดง ซึ่งนายชัชชาติกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับพระอาจารย์และคณะ ที่มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางพุทธศาสนาที่ประเทศไทย หากพระอาจารย์จะมาสร้างวัดที่กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา ให้คนไทยได้รู้จัก พุทธวัชรยาน จงหัวถังมี่ ทางไทยจะพยายามสนับสนุน ทั้งนี้พระอาจารย์ได้มอบผลงานจิตรกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ชื่อว่า “รวมใจเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสันติภาพของโลก” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพไทย-จีน และสันติภาพโลก ให้แก่ชาวกรุงเทพฯ
ต่อมาพระอาจารย์ฯ และคณะได้เข้าเสวนาธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนากับพระพรหมวัชรเมธี เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เจ้าคณะภาค 9 โดยพระพรหมวัชรเมธี กล่าวว่า หวังว่าทั้งสองประเทศจะสืบสานประเพณีอันดีงาม ต่อไป สานสัมพันธ์มิตรภาพทางพุทธศาสนาให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อีกทั้งนำคณะ เยี่ยมชมวัด ศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปะ คุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมจีนของวัดอรุณฯ พุทธวัชรยาน เปล่งประกายเจิดจ้า
นอกจากนี้คณะตัวแทนพุทธวัชรยานฯ หลายร้อยคน มารวมตัวกันที่เมืองชายฝั่งทะเลอันสวยงามอย่างพัทยา โดยมีนายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาให้การต้อนรับ การจัดงานครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเทศกาล Ankele ครั้งที่ 8 ซึ่งพระอาจารย์จินเคอสวนเหลย กล่าวสอนแก่คณะลูกศิษย์โดยสรุปคือ ให้ทุกคนรักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อสันติสุขของโลกใบนี้ยั่งยืนสืบไป
หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมชและคุณอภิญญา ปราโมช กล่าวขอบคุณพระอาจารย์ที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และชื่นชมพุทธวัชรยาน จงหัวถังมี่ ว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั่วโลก ทั้งยังทำให้ประเทศจีนและประเทศไทยมีความเป็นพี่เป็นน้องกันแน่นแฟ้นขึ้น มีความสงบสุขด้านจิตใจ รวมใจเป็นหนึ่งเดียว สานต่อความสัมพันธ์ภายใต้รัศมีแสงแห่งพระพุทธให้ยั่งยืน.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 5 ม.ค. 2567