สกู๊ปพิเศษ: ‘ชัชชาติ’!ลั่น เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำให้ความสำคัญเส้นเลือดฝอย มุ่งพัฒนาการศึกษา-อนามัยคนเมือง

พรสวรรค์  จรเจริญ ผู้สื่อข่าวกทม. รายงาน

“ที่ผ่านมาปี 2566 กทม.ทำงานต่อเนื่อง ตามพันธกรณี 22 นโยบาย ปี 2567 จะทำต่อเนื่อง เน้นเรื่องเส้นเลือดฝอยขนานเส้นเลือดใหญ่ สุขภาพอนามัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย คือ เรื่องใหญ่ ยอมรับ 2 เรื่อง อากาศพิษ การจราจร กทม.ยังมืดบอด เพราะไร้อำนาจ”

นายชัชชาติ สิทธิพีนธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยถึง การทำงานในปี 2567 ย้ำว่า จะยังคงเดินหน้า “เส้นเลือดฝอย” ในทุกเขตทุกสำนัก คู่ขนานไปกับ “เส้นเลือดใหญ่” โครงการเมกะโปรเจกท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า อุโมงค์ระบายน้ำ โรงพยาบาลที่จะสร้างอีกหลายแห่ง แต่ภาพรวม ปี 2567 จะให้ความสำคัญที่สุดเกี่ยวกับ 2 เรื่องใหญ่ คือ การศึกษา และ สาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือน กทม. จะมองข้ามและละเลยไป และทั้ง 2 เรื่องจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจได้ นอกจากนั้น ก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคม การจัดระเบียบเมือง ปัญหาหาบเร่-แผงลอย เพิ่มพื้นที่สีเขียว บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี แก้ปัญหาน้ำท่วม รวมถึง ความปลอดภัย และความโปร่งใส ทุกสำนัก ทุกเขต ทั้งหมดนี้จะต้องมีความคืบหน้าตามเป้าหมายการทำงานซึ่งจะครบ 2 ปี ในอีก 6 เดือนถัดจากนี้ไป

“เราให้ความสำคัญ 2 เรื่อง คือ การศึกษา กับ สาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ กทม.เราละเลยไปเยอะ จะเห็นได้ว่าเรื่องต่างๆ ปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่า จะเป็นความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐกิจ ถ้าไม่เริ่มที่คนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ เราจึงพยายามพัฒนาเรื่องการศึกษาเป็นหลัก ปรากฏว่า มันเปลี่ยนไปเยอะ ทั้งในแง่ของครู การทำห้องเรียนคอมพิวเตอร์คุณภาพ เด็กชอบมากๆ ที่ขาดไม่ได้ คือ หลักสูตรห้องเรียนดิจิทัลที่กำลังขยาย ตลอดทั้งอาหารนักเรียนที่มีคุณภาพ ส่วนเรื่องสาธารณสุขก็ได้พัฒนาระบบปฐมภูมิ ภาพใหญ่จะเพิ่มโรงพยาบาล 4 แห่ง วางศิลาฤกษ์ไปแล้วที่ภาษีเจริญ และจะออกแบบอีก 3 แห่งที่ สายไหม ดอนเมือง ทุ่งครุ และพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง โดยกำหนดแผนเพิ่มศูนย์ฯ ให้มากขึ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวและว่า ต่อจากนี้ไปจะมีนโยบายเด่นสัมผัสได้จริงเป็นด้านๆ ดังนี้

นโยบายการศึกษา

มีรายละเอียด คือ 1.ทำห้องเรียนดิจิทัล ปี 2566 พัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ครบทั้ง 437 โรงเรียน รวม 598 ห้อง และเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเรียนดิจิทัลแล้ว 12 ห้องเรียน ใน 6 โรงเรียน เป้าหมายจะทำ 57 ห้องเรียน ใน 11 โรงเรียน (ปัจจุบันได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์ มาแล้ว 645 เครื่อง จากเป้าหมาย 2,177 เครื่อง) แผนใน ปี 2567 จะเพิ่มห้องเรียนดิจิทัล 100 โรงเรียน ระดับชั้น ป.4 และ ม.1 และเพิ่ม Wifiครบทุกห้องเรียน ทั้ง 437 โรงเรียน

จะเพิ่มครูให้นักเรียนมากขึ้น ปี 2566 ได้จ้างเหมาธุรการมาช่วยครูทำงานเอกสาร 371 คน ในปี 2567 จะยกเลิกครูเข้าเวร เพื่อให้ครูมีเวลาให้นักเรียนมากขึ้น พร้อมๆ การลดภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียน ให้สิทธิเด็กแต่งกายและไว้ทรงผมอิสระ, ส่งมอบแว่นตาให้นักเรียนที่มีปัญหาสายตาครบ 100% (ใช้งบสปสช.) ในปี 2567 จะแจกผ้าอนามัยให้นักเรียนหญิง 18,000 คน ในระดับมัธยมครบทั้ง 109 โรงเรียน เปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนเพื่อความโปร่งใส พัฒนาระบบตรวจสอบอาหารเช้า/กลางวันของโรงเรียนให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ ผ่านhttps://bma.thaischoollunch.in.th/bmaphoto/index.php

ในปี’67 จะนำหลักสูตร EF (สำหรับช่วงชั้นอนุบาล) 429 โรงเรียนอนุบาล และ หลักสูตร Competency-based Learning (สำหรับช่วงชั้นประถม-ม.ต้น) 58 โรงเรียนนำร่อง Education Sandbox, เพิ่มชั้นเรียนอนุบาล 3 ขวบ ใน 191 โรงเรียน (ปัจจุบันเริ่มรับที่ 4 ขวบ) และ จับมือกับสถาบันอาชีวศึกษา ร่วมจัดการเรียนการสอนวิชาชีพใน 109 โรงเรียนมัธยม เพื่อรับส่งต่อเด็กกทม. ไปเรียนในระดับปวช. และจัดมหกรรมเรียนต่อสายอาชีพร่วมกัน

นโยบายทางการแพทย์สาธารณสุข

(1) ขยายการบริการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน ปี 2566 เปิดศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพ (ศูนย์พยาบาลปฐมภูมิขนาดเล็กกระจายตัวตามสถานที่ต่างๆ ให้การรักษาผ่านระบบออนไลน์ ตรวจคัดกรองโรค ได้เบื้องต้น) จำนวน 5 แห่ง ในปี 2567 จะเปิดเพิ่มอีก 6 แห่ง

(2) เพิ่มโรงพยาบาล กทม. ให้มีครอบคลุมกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น ปี 2566 อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เขตภาษีเจริญ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี’68 มีขนาด 40-60 เตียง และอยู่ระหว่างการเตรียมงบประมาณในการก่อสร้างอีก 3 แห่ง ที่ทุ่งครุ ดอนเมือง สายไหม

(3) ขยายศักยภาพโรงพยาบาลสังกัดกทม. ปี 2566 ขยายจำนวนเตียง โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็น 100 เตียง ในปี 2567 มีแผนขยายโรงพยาบาลตากสินเป็น 636 เตียง, โรงพยาบาลลาดกระบังเป็น 169 เตียง 4.มอเตอร์ไซค์กู้ชีพฉุกเฉิน motorlance ปัจจุบันมี ปฏิบัติการอยู่ 539 คัน ให้บริการแพทย์ฉุกเฉินไปมากกว่า 1,150 ครั้ง

นโยบายด้านอนามัย

(1) ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง (มีแพทย์ลงตรวจเป็นเวลา จากเดิมมีแค่พยาบาล) ปี 2566 ทำแล้ว 6 แห่ง ในปี 2567 จะเพิ่มอีก 6 แห่ง

(2) ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขพลัส (มีบริการพักคอยดูอาการ ลดการส่งตัวไปยัง รพ.) ปี 2566 ทำแล้ว 6 แห่ง ปี 2567 เพิ่มอีก 7 แห่ง

(3) ยกระดับคลินิกกายภาพบำบัด เป็น ศูนย์ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพ เพิ่มจำนวนนักกายภาพบำบัด ประจำศูนย์ฯ เพิ่มอุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในระยะฟื้นฟู และส่งเสริมสุขภาพ ปี 2566 ทำแล้ว 4 แห่ง ปี 2567 เพิ่มอีก 7 แห่ง

(4) ยกระดับการดูแลสุขภาพจิต (Mental health) ของศูนย์ฯ ในปี 2567 จะเพิ่มอัตราจ้างนักจิตวิทยาอย่างน้อย 1 คนต่อศูนย์ฯ

(5) เพิ่มศูนย์ฯให้ครอบคลุม ปี 2567 จะเปิดเพิ่ม 2 แห่ง ที่เขตราษฎร์บูรณะ และภาษีเจริญ พร้อมกับก่อสร้างทดแทนศูนย์เดิม 13 แห่ง และปรับปรุง อีก 13 แห่ง

(6) คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (Pride clinic) ปี 2566 มี 24 แห่ง ปี 2567 เพิ่มอีก 4 แห่ง

(7) สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ประชาชนที่ต้องการ ปี 2566 ส่งมอบแล้ว 4,730 ราย 8.บริการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก HPV ปี 2566 ฉีดไปแล้วมากกว่า 96,000 ราย

นโยบายด้านคมนาคม

(1) ปรับปรงุทางเท้า ปี 2566 ปรับปรุง 150 กม. ซ่อมใหม่ ทั้งเส้น 87 กม. ปี 2567 ปรับปรุงอีก 170 กม. ซ่อมใหม่ ทั้งเส้น 32 กม., พัฒนา Skywalk ราชวิถี, ปรับปรุง ทางเท้ารอบสถานีรถไฟฟ้า 1 กม. และพัฒนา covered walkway ต้นแบบทางเดินมีหลังคา แถวพระราม 4

(2) BKK trail ทางเดินวิ่ง ปี 2566 พัฒนา 100 กม. ปี 2567 พัฒนา 130 กม.

(3) ซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่าง ปี 2566 ดำเนินการแล้ว 28,568 ดวง ปี 2567 ตั้งเป้าอีก 30,000 ดวง

(4) จัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ผ่านมาถึงปี 2566 ดำเนินการแล้ว 62 กม. ปี 2567 ทำอีก 93 กม. (แผนของ กฟน.) กทม. วางท่อสายสื่อสาร 8.3 กม. เพิ่มตัวเลือกให้ operator นำสายสื่อสารลงดิน

นโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน

(5) ปี 2567 ตั้งเป้าติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว 6 โรงพยาบาล และสะพานเหล็กข้ามแยก

(6) ปรับปรุงสภาพถนนให้พร้อมใช้งาน

(7) ควบคุมน้ำหนักบรรทุกในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 ติดตั้ง BWIM (Bridge weight in motion) 5 สะพาน และศึกษาการขึ้นทะเบียนทางหลวงชนบทเพิ่มเติมทั้งหมด

(8) งานปรับปรุงถนน สะพาน ที่สำคัญ เช่น ขยายถนนเทพรักษ์, ถนนกรุงเทพกรีฑา, สะพานเชื่อมถนนทหารเขตดุสิต, ซ่อมสะพานถนนพระราม 9, ปรับปรุงซอยลาซาล, ปรับปรุงถนนและท่อระบายน้ำในซอยพัฒนาการ 20 / ซอยอ่อนนุช 17, บูรณะถนนตามข้อมูล PMS (Planned maintenance system)

(9) ก่อสร้างอาคารสำนักงาน ปี 2567 ปรับปรุง สำนักงานเขตธนบุรี และพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิง

นโยบายด้านการจราจรขนส่ง

(1) ปรับปรุงทางข้ามให้มีความปลอดภัย ปี 2566 ดำเนินการแล้ว 2,978 แห่ง ปี 2567 จะทำอีก 1,000 แห่ง

(2) ปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ปี 2566 ทำแล้ว 115 จุด ปี 2567 จะทำอีก 102 จุด

(3) พัฒนาคุณภาพการให้บริการของรถเมล์ ปี 2567 จะติดตั้งศาลาพักคอยผู้โดยสารใหม่, พัฒนาระบบ BRT ไฟฟ้า

(4) แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ปี 2567 ขยายผลการใช้งาน ITMS, พัฒนา O&M command room ศูนย์บริการจัดการจราจร, ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร สัญญาณไฟทางข้ามเพิ่ม

(5) ปรับปรุงระบบวินมอเตอร์ไซค์ ปี 2567 พัฒนาจุดจอดวินมอเตอร์ไซค์ พร้อมระบบการประเมินคุณภาพการบริการ

(6) สนับสนุนการใช้รถยนต์ EV ปี 2567 สนับสนุน การพัฒนาเครือข่าย Charging station

ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ ได้แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม ปี 2566 แล้ว 179 จุด อยู่ระหว่างแก้ไข 93 จุด ปี 2567 จะดำเนินการแก้ไขอีก 70 จุด พร้อมปรับปรุงไฟฟ้าริมคลอง ปี 2566 ซ่อมแซมแล้ว 2,656 ดวง ปี 2567 จะซ่อมแซมอีก 717 ดวง

นโยบายจัดระเบียบเมืองแก้ปัญหาบเร่แผงลอย

(1) จัดหาพื้นที่เอกชน หรือ hawker center ให้ผู้ค้า หาบเร่ ปี 2566 ได้ 39 จุด ปี 2567 จะดำเนินการอีก 28 จุด พร้อมกับยุบเลิก/ยุบรวมพื้นที่หาบเร่อีก 109 จุด

(2)พัฒนาคุณภาพหาบเร่-แผงลอยและพื้นที่การค้าสาธารณะ โดยพัฒนาแผนทำ big cleaning ในจุดผ่อนผัน 95 จุดทุกสัปดาห์ พร้อมติดบ่อดักไขมัน และจุดซักล้างรวมอีก 33 จุด 2.กวดขัดวินัยจราจร จับปรับมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ปี 2566 ทำ MOU ร่วมกับผู้ประกอบการโลจิสติก เพื่อส่งเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมายให้ดำเนินการทางวินัยภายในบริษัท, ตั้งจุดตรวจจับกุมผู้กระทำผิด 5,439 ราย, ตรวจพบผู้กระทำผิด (กล้อง AI) 52,964 ราย จากกล้อง AI 5 จุด ในปี 2567 จะเพิ่มจุดตรวจกล้อง AI ให้ครบ 100 จุด

(3) จัดระเบียบป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ปี 2566 ตรวจพบป้ายผิดกฎหมาย 19,001 ป้าย

(4) ปรับปรุงจุดเสี่ยงอาชญากรรม ปี 2566 สำรวจจุดเสี่ยงอาชญากรรมนำลงแผนที่ 309 จุด ปี 2567 จะแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงอาชญากรรม 243 จุด

ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียว

(1) ส่งเสริมการแยกขยะ ปี 2566 แยกขยะ เศษอาหารได้ประมาณ 1,650 ตัน/เดือน มีผู้ประกอบการเข้าร่วม โครงการ zero waste 9,318 ราย ปริมาณขยะลดลง 200 ตัน/วัน ในปี 2567 ตั้งเป้าแยกขยะเศษอาหารให้ได้ 6,000 ตัน/เดือน ขยายเครือข่ายผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ 16,087 ราย ปริมาณขยะลดลง 800 ตัน/วัน

(2) ติดตั้งกรงทิ้งขยะเพิ่มความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของเมือง ปี 2566 ติดตั้งแล้ว 162 จุด ปี 2567 จะติดเพิ่ม อีกอย่างน้อย 150 จุด

(3) เพิ่มขีดความสามารถในการเก็บขยะในซอยย่อย ปี 2567 จะทดลองใช้รถขยะไซส์เล็ก 50 คัน

ด้านการตรวจสอบมลพิษ PM2.5

ปี 2566 กทม.มีการตรวจฝุ่นในสถานประกอบการ มากกว่า 18,000 ครั้ง (โรงงาน แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ท่าทราย) ตรวจควันดำจากรถ มากกว่า 276,000 คัน, เพื่อลดการปล่อย PM2.5 สำหรับในปี 2567 กทม.ตั้งเป้านำรถไฟฟ้าเข้ามาใช้ใน กทม. แบ่งเป็น รถเก็บขยะ 892 คัน รถบรรทุกน้ำ 1,058 คัน เพิ่มเครือข่าย sensor PM2.5 ปี 2566 มี 739 จุด ปี 2567 จะขยายเครือข่ายให้ได้ 822 จุด, ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ ปี 2566 ติดตั้งในโรงเรียน และอนุบาลแล้ว 2,034 เครื่อง BMA net zero ในปี 2567 ตั้งเป้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10,000 tCOe

นโยบายต้นไม้ล้านต้น

ปี 2566 มีการปลูกไปแล้ว 722,000+ ต้น สวน 15 นาที ปี 2566 เปิดสวนเพิ่มเติม 59 แห่ง คิดเป็นพื้นที่มากกว่า 74 ไร่ ปี 2567 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 158 สวน พร้อมกำหนดแผน Dog park ปี 2566 มีสวนที่สามารถนำสัตว์ไปได้ 6 สวน มีสัตว์ที่เป็นสมาชิกมากกว่า 9,600 ตัว ปี 2567 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 2 สวนรวมเป็น 8 สวน ที่สำคัญ พัฒนารุกขกรเต็มกำหนด ปี 2566 จัดอบรมหลักสูตร รุกขกรและผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ แล้ว 210 คน ปี 2567 ตั้งเป้ามีรุกขกร 10 คน และมีผู้ผ่านการอบรมอีก 420 คน

นโยบายด้านด้านความปลอดภัย

สำหรับด้านนี้ทางสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ เพิ่มข้อมูลความปลอดภัย และ ความครอบคลุมของถังดับเพลิงแบบหิ้ว ปี 2566 นำข้อมูลถังดับเพลิง 34,000 ถัง เข้าสู่ระบบแผนที่ และจัดซื้อถัง จำนวน 9,979 ถัง ปี 2567 จะจัดซื้อถังเพิ่มอีก 27,611 ถัง พร้อมซ้อมเผชิญเหตุร่วมกับชุมชน ปี 2566 รวม 288 แห่ง ปี 2567 จะดำเนินการอีก 340 แห่ง และก่อสร้างศูนย์ ฝึกอบรมดับเพลิงกรุงเทพมหานคร ที่หนองจอก

ด้านความโปร่งใส Open Bangkok

ปี 2566 กทม.เปิดเผยข้อมูลมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้เข้าใช้ข้อมูลมากกว่า 3 ล้านครั้ง, BMA OSS ปี 2566 มีจำนวน Case ใน OSS ทั้งหมด 16,540 คำขอ เป็นการยื่นออนไลน์ 184 คำขอ ที่เหลือดำเนินการผ่าน BFC ณ สำนักงานเขต ปี 2567 ตั้งเป้าให้สามารถติดตามความคืบหน้าคำขออนุญาตได้ผ่านทาง Traffy Fondue

เป้าหมายการทำงานปี 25 67 สำหรับในปี 2566 นายชัชชาติ ตอกย้ำว่า “ได้ตั้ง เป้าหมายการทำงาน กำหนดไว้ 22 เป้าหมายให้สำนักงานเขต ดำเนินการ ซึ่งได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ ที่รับผิดชอบให้เตรียมสรุปแถลงผลงาน 2 ปี ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อให้รู้ว่าจากนี้ไปอีกครึ่งปีที่เหลือจะต้องเร่งรัดติดตามให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ เพื่อจะได้รู้ว่าเรื่องไหนยังไม่เสร็จก็ต้องเร่งให้เสร็จทันเป้า 2 ปีการทำงาน”

สำหรับ เป้าหมาย 22 ประเด็น ของสำนักงานเขต ประกอบด้วย 1.พัฒนาถนนสวย – 126.60 กม. 2.ปลูกต้นไม้- 200,000 ต้น 3.เพิ่มสวน 15 นาที – 156 แห่ง 4.ปรับปรุงทางเท้า – 324.54 กม. และ ขีดสีตีเส้นทางจักรยาน/ทางเดินซอยย่อย – 498.70 กม. 5. ติดตั้ง/ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่าง – 31,878 ดวง 6.ติดตั้ง/ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง – 7,725 ดวง 7.ยกเลิก/ยุบรวม พื้นที่หาบเร่-แผงลอยนอกจุดผ่อนผัน – 109 แห่ง 8.จัดหาพื้นที่เอกชน/พัฒนา Hawker Center รองรับผู้ค้าหาบเร่ – 28 แห่ง 9.แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม – 99 จุด 10.แก้ปัญหาจุดจราจรฝืด – 137 แห่ง 11.แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ – 125 แห่ง และแก้ไขจุดเสี่ยงอาชญากรรม – 322 แห่ง 12.ปรับปรุง/พัฒนาลานกีฬา – 162 แห่ง 13.ปรับปรุง/พัฒนาบ้านหนังสือ – 45 แห่ง

14.ปรับปรุง/พัฒนา ศูนย์เด็กเล็ก – 89 แห่ง 15.ปรับปรุงกายภาพโรงเรียน – 276 แห่ง 16.จัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม – 91.23% และ ปริมาณขยะเศษอาหารที่คัดแยกได้ ภายใต้โครงการ ไม่เทรวม – 62,011 ตัน/ปี 17.พัฒนาฐานข้อมูลออนไลน์ชุมชน เช่น ข้อมูลกลุ่มเปราะบาง, อุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย – 2,009 ชุมชน 18.ส่งเสริมการใช้งบประมาณ 200,000 บาท/ชุมชน – 328,200,754 บาท 19.ส่งเสริมการใช้ งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ สปสช. – 274,376,000 บาท 20.พัฒนามาตรฐานการบริการประชาชน – 80.88 (% จำนวน คำขอ) 21.ขุดลอกท่อ – 4,260.43 กม. 22.ขุดลอกคลอง/เปิดทางน้ำไหล – 3,806.26 กม.

ปัญหาอุปสรรคในการทำงานปี 2566

“นโยบายเรามีอยู่ทุกสำนัก ทุกเขต ปีที่ผ่านมาต้องมี พัฒนาการ เรื่องใหญ่ที่ กทม.ทำคือ เส้นเลือดฝอย ขนานไปกับ เส้นเลือดใหญ่ ส่วนเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค จะเป็นเรื่อง ที่คอนโทรลยาก ที่กังวลอยู่ตอนนี้ คือ เรื่อง ฝุ่น PM2.5 บีทีเอส กับปัญหารถติดขัด เพราะเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือ การควบคุม ไม่ใช่ง่ายที่จะจัดการได้ เพราะไม่อยู่ในอำนาจของ กทม. แต่หลายส่วนที่ที่ทำได้ก็พยายามทำแบบบูรณาการ เรื่องน้ำท่วม ทางเดินเท้า ทุจริตคอร์รัปชั่น เชื่อว่า กทม.ลุยได้ และเดินมาถูกทางแล้ว” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวสรุป

 



ที่มา:  นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 29 ธ.ค. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200