ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน
“ถ้าหากพูดถึงสิ่งที่สำคัญมากสุดในตอนนี้คงเป็นเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข การศึกษาเรา จะเห็นได้จากผลการประเมิน PISA 2022 (Programme for International Student Assessment) หรือคะแนนประเมินสมรรถนะ นักเรียนมาตรฐานสากล ของเด็กไทยลดลงปัญหาต่าง ๆ ที่เราพูดกันไว้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจ หากเราไม่เริ่มที่คน ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืนได้”
เป็นทั้งมุมมองที่สะท้อนให้เห็นปัญหา และเป็นทั้งเป้าหมายที่ฟันฝ่าไปในปีต่อไปของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ถึงข้อสรุป ภาพรวมการบริหารงาน “เมืองหลวง” ที่ล่วงมาแล้ว 2 ปี รวมถึงแผนงานในอนาคต โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งดูเหมือนจะเน้นว่าเป็น 2 โจทย์ที่ต้อง “ลงมือ” ทำจริงจัง
นายชัชชาติ เผยว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง “พ่อเมือง” จะเห็นได้ว่า กทม. มีความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาไปมากทั้งเรื่องลดภาระ ครู คืนครูให้นักเรียน โดยปี 66 กทม. จ้างเหมาธุรการมาช่วยครูทำงานเอกสารได้ 371 คน และในปี 67 จะดำเนินการเรื่องยกเลิกครูเข้าเวร รวมถึงเรื่องการปรับวิทยฐานะครูด้วย
ในส่วนของห้องเรียนมีการปรับและพัฒนาห้องเรียนเป็น “ห้อง เรียนดิจิทัล” ซึ่งพัฒนาห้องคอมพิวเตอร์ครบทั้ง 437 โรงเรียน รวม 598 ห้อง เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเรียนดิจิทัลแล้ว 12 ห้องเรียนใน 6 โรงเรียน เป้าหมายดำเนินการ 57 ห้องเรียน ใน 11 โรงเรียน
ปัจจุบันได้รับบริจาคคอมพิวเตอร์มาแล้ว 645 เครื่อง จากเป้าหมาย 2,177 เครื่อง ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มห้องเรียนดิจิทัล 100 โรงเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตลอดจนเพิ่ม Wifi ครบทุกห้องเรียนทั้ง 437 โรงเรียน
“เมื่อไปดูในโรงเรียนแล้วจะเห็นได้ชัดว่า เด็ก ๆ ชอบห้องเรียนคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ ใหม่ และเข้ามาใช้งานจำนวนมาก ดังนั้น ห้องเรียนคอมพิวเตอร์จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้วเห็นได้ชัด”
ส่วนอาหารในโรงเรียน ซึ่งต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้ ในส่วน กทม. ก็มองว่าหากต้องการพัฒนาคน “อาหาร” ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ จึงพัฒนาระบบตรวจสอบอาหารเช้า/กลางวันของโรงเรียน โดยให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ทั้ง 437 โรงเรียน ที่ https://bma.thaischoollunch.in.th/bmaphoto/index.php
สำหรับในปี 67 นายชัชชาติ ย้ำว่าจะพัฒนาหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักเรียนในสังกัด กทม. ช่วงชั้นอนุบาล 429 แห่ง และช่วงชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น 58 โรงเรียน นำร่องใน Education Sandbox รวมทั้งในปีการศึกษา 67 จะเพิ่มชั้นเรียนอนุบาล 3 ขวบ ใน 191 โรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันเริ่มต้นรับที่อายุ 4 ขวบ
นอกจากนี้ยังจับมือกับสถาบันอาชีวศึกษาร่วมกันจัดการเรียนการสอนวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมศึกษา 109 แห่ง เพื่อรับส่งต่อเด็ก กทม. ไปเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ซึ่งในปี 66 กทม. ได้ประกาศให้สิทธิเด็กแต่งกายอิสระ 1 วัน และไว้ทรงผมอิสระทั้ง 437 โรงเรียน มีการแจกผ้าอนามัยให้นักเรียนหญิง 18,000 คน
ใน “ด้านสาธารณสุข” นายชัชชาติ เผยภาพใหญ่คือจะมีการ “เพิ่ม” โรงพยาบาลให้มีความครอบคลุมกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น เบื้องต้นวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว 1 แห่ง คือโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เขตภาษีเจริญ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 68 พื้นที่มีขนาด 40-60 เตียง และอยู่ระหว่างเตรียมงบประมาณก่อสร้างอีก 3 แห่ง ได้แก่ ในพื้นที่เขตทุ่งครุ เขตดอนเมือง และเขตสาย ไหม ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา 3-4 ปี
นอกจากนี้ ยังต้องขยายศักยภาพโรงพยาบาลสังกัด กทม. โดยขยายจำนวนเตียงใน รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียนเป็น 100 เตียง พร้อมแผนขยายในโรงพยาบาลตากสิน เป็น 636 เตียง และโรงพยาบาลลาดกระบัง เป็น 169 เตียง
มีการยกระดับ “ศูนย์บริการสาธารณสุข” ให้เป็น “ศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง” โดยให้มีแพทย์ลงตรวจเป็นเวลา จากเดิมมีแค่พยาบาล ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 6 แห่ง และในปี 67 จะดำเนินการเพิ่มอีก 6 แห่ง ถือเป็นการเพิ่มอย่างรวดเร็วไม่ต้องไปดำเนินการก่อสร้างใหม่ คู่ขนานไปกับการยกระดับให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขพลัส คือให้เพิ่มเตียงพักคอยสังเกตอาการได้
อีกเรื่องที่คนต้องการคือ คลินิกกายภาพบำบัด ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 4 แห่งและในปี 67 จะดำเนินการเพิ่มอีก 7 แห่ง รวมทั้งเพิ่มจำนวนนักกายภาพบำบัดประจำศูนย์ และอุปกรณ์ช่วยดูแลผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มศูนย์ดูแลสุขภาพจิตให้มากขึ้นและรับนักจิตวิทยาเพิ่มด้วย
“นอกจากนี้จะมีการดูแลพัฒนาศูนย์สาธารณสุขเพิ่มเติม ทั้ง ด้านคุณภาพ จำนวนศูนย์ฯที่เพิ่มขึ้น เพราะสาธารณสุขช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้”
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าตลอดปีที่ผ่านมา “ผลงาน” ด้านใด “โดดเด่น” ที่สุด นายชัชชาติ ตอบว่า “ทุกด้าน” เพราะนโยบายของเราไม่ใช่แค่เพียงเรื่องเดียว แต่ลงไปในทุกสำนักทุกเขตต้องมีการพัฒนา แต่เรื่องหลักคือ “เส้นเลือดฝอย” ที่ทำในทุกสำนักทุกเขต แต่ “เส้นเลือดใหญ่” ก็มี เช่น สร้างโรงพยาบาล 4 แห่ง หรือการเตรียมนำเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ และสายสีเงิน บางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เพื่อโอนภารกิจให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รวมถึงเรื่องเมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ก็ยังทำคู่ขนาน ส่วนพื้นที่สีเขียวขณะนี้คาดว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะการปลูกต้นไม้ไม่ได้เน้นต้นไม้ใหญ่อย่างเดียว ใครอยู่คอนโดก็สามารถมีส่วนร่วมปลูกไม้พุ่ม ไม้ประดับได้
นายชัชชาติ ทิ้งท้ายถึงอุปสรรคในการทำงานที่ผ่านมาว่า คงเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หรือเรื่องที่ กทม. ไม่มีอำนาจดูแลโดยตรง อย่างเรื่องงานจราจร หรือเรื่องที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้องอย่าง อาทิ การเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น
“ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่น น้ำท่วมไม่กลัว เชื่อว่าเราลุยได้ หรือทางเดินเท้า ทุจริตคอร์รัปชันก็เริ่มเข้าทางแล้ว ฉะนั้น หากถามเรื่องที่กังวลคงจะเป็น รถติด PM 2.5 เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน และบีทีเอส เพราะเป็นสิ่งที่ กทม. ไม่มีอำนาจในการดูแล”.
บรรยายใต้ภาพ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.
ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 ธ.ค. 2566