Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2566

กทม.ประสาน รฟม.เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงตลอดสาย

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีเกิดอุบัติเหตุแผ่นเหล็กหล่นทับคนงานในไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงฝั่งโรงหนังสุริยา ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เขตธนบุรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จากการประสาน รฟม.ทราบว่า สาเหตุเกิดจากเครื่องจักรได้ยกแผ่นเหล็กหล่นทับคนงาน จำนวน 1 คน ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ สนย.ได้ประสาน รฟม.เรื่องการดูแลค่าใช้จ่ายและเยียวยาให้กับผู้เสียชีวิตและให้ระงับการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน


นอกจากนั้น สนย.ได้ประสาน รฟม.ให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงตลอดสาย ตลอดจนกำชับให้ดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างของบริษัทผู้รับจ้างอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้เส้นทาง

 

 

กทม.ร่วมสำรวจ-ช่วยเหลือเด็กและครอบครัวแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน


นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเด็กเช็ดกระจกและเด็กขายของริมถนน รวมทั้งขอทานต่างด้าวในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สพส.ได้แก้ไขปัญหาเด็กที่ประกอบอาชีพเช็ดกระจกบริเวณสี่แยกต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดแผนสำรวจเด็กที่ประกอบอาชีพดังกล่าวบริเวณสี่แยก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การสำรวจปัญหา เยี่ยมบ้านของเด็กและครอบครัว สนับสนุนช่วยเหลือในด้านที่จำเป็น ตามระเบียบ กทม.ว่าด้วยการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 หรือการสนับสนุนจากกองทุนคุ้มครองเด็ก ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ตลอดจนวางแผนช่วยเหลือระยะยาวในด้านอาชีพตามความสนใจ และจัดหาข้อมูลแหล่งงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุตรหลานที่อาจเข้าข่ายการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 ขณะเดียวกันได้แก้ไขปัญหาเด็กที่มีพฤติกรรมขายสินค้า หรือบริการที่มีความเสี่ยงบริเวณสี่แยก โดยในปี 2565-2566 นักสังคมสงเคราะห์ ของ สพส.ได้ลงพื้นที่สำรวจเด็กขายของและเช็ดกระจกบนทางสาธารณะ ได้แก่ ถนนบรรทัดทอง เขตปทุมวัน หน้าห้างซีคอนบางแค เขตภาษีเจริญ และได้กำหนดแผนการลงพื้นที่บริเวณแยกอโศกมนตรี เขตคลองเตย โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของสำนักงานเขต กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 จัดทีมเฉพาะกิจช่วยเหลือเด็กและครอบครัว โดยใช้กระบวนการสหวิชาชีพแก้ไขปัญหารายครอบครัว เพื่อไม่ให้ครอบครัวนำเด็กมาประกอบอาชีพขายพวงมาลัย หรือเช็ดกระจกอีก รวมถึงนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาและวางแผนรายครอบครัวในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น การฝึกอาชีพ การแนะนำช่องทางประกอบอาชีพ การจัดหาพื้นที่ตลาดนัดเพื่อขายสินค้า นอกจากนั้น ได้ประสานสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกตรวจตราพื้นที่สม่ำเสมอ เพื่อลดจำนวนกลุ่มเด็ก หรือกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพเดินเร่ขายของ หรือเดินเช็ดกระจกรถบริเวณสี่แยก


      ส่วนการแก้ไขปัญหาขอทาน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม. กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต 50 เขต โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดระเบียบในบริเวณที่มีผู้ทำการขอทาน เช่น ย่านธุรกิจ ใกล้ห้างสรรพสินค้า ตลาด แหล่งชุมชน และบริเวณสถานีรถไฟฟ้า เพื่อสำรวจ คัดกรอง จัดทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ ทำความเข้าใจกับผู้ทำการขอทาน โดยอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านคนขอทานเป็นของ พส. เจ้าพนักงานท้องถิ่นของสำนักงานเขตพื้นที่และเจ้าหน้าที่เทศกิจ หากพบผู้ทำการขอทานต่างด้าวจะนำส่งสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ เพื่อสอบสวน บันทึกการจับกุม เปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 และส่งไปยัง สตม.เพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทางต่อไป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.66 ได้ประชุมหารือร่วมกับ พม.เพื่อดำเนินการด้านผู้ทำการขอทาน โดยที่ประชุมมีมติให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนงดการให้เงินแก่ผู้ทำการขอทานและร่วมจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และประชาชนทั่วไปบริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT บริเวณสวนสาธารณะ โดยจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เป็นภาษาต่าง ๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน เป็นต้น 

 

 


 

โรงเรียนสังกัด กทม.เฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ทุกระดับชั้น

นายธนกร ไชยศรี ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในโรงเรียนสังกัด กทม.ว่า สนศ.ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนสังกัด กทม.ทราบและดำเนินการ เรื่อง ขอความร่วมมือเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา ตามคำแนะนำและมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สำหรับโรงเรียนและสถานศึกษาของกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หากพบนักเรียนป่วยให้หยุดเรียนพักอยู่บ้านจนกว่าจะหาย ขณะเดียวกันได้ประสานสำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียนในสังกัดดำเนินการตามแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษา รวมถึงเฝ้าระวังตรวจสอบเด็กก่อนเข้าห้องเรียนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร หากพบนักเรียนที่มีอาการป่วยให้แยกเด็กอยู่ที่ห้องพยาบาล และแนะนำผู้ปกครองให้พาไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในโรงเรียน

 

 

กทม.เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันบรรเทาอัคคีภัยช่วงฤดูหนาว
 
นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวว่า สปภ.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ยานพาหนะและอุปกรณ์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย เพื่อรองรับสถานการณ์เหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากอัคคีภัยกรุงเทพมหานคร เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยในสังกัดประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัยเบื้องต้นให้ประชาชน 


นอกจากนั้น ยังได้สำรวจ ตรวจตรา เฝ้าระวังอัคคีภัย โดยเฉพาะชุมชนแออัด หรือชุมชนที่มีประชาชนพักอาศัยหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเหตุเพลิงไหม้หรือสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุมายังโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

เขตปทุมวันประสานตำรวจกวดขันจัดระเบียบผู้ค้ารถเข็นน้ำผลไม้ต่างด้าว
 
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวกรณีประชาชนตั้งข้อสังเกตพบผู้ค้ารถเข็นน้ำผลไม้ต่างด้าวจำนวนมากในพื้นที่เขตปทุมวันว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจชุดพื้นที่ตรวจสอบกวดขันผลักดันไม่ให้มีผู้ค้ารถเข็นขายน้ำผลไม้ชาวเวียดนามจอดค้าขายในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หากตรวจพบการฝ่าฝืนขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่ หรือทางสาธารณะ จะยึดอุปกรณ์ค้าขาย นำไปเก็บไว้ที่สำนักงานเขตฯ เพื่อให้ไปชำระค่าปรับที่สำนักงานเขตฯ นอกจากนั้น ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลในพื้นที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะกวดขันอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200