กทม.เฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่-โรคติดเชื้อทางเดินหายใจประชาชนทุกกลุ่ม
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจในประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ว่า สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคติดเชื้อไวรัส RSV โรคโควิด 19 โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค จัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย และจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคตามฤดูกาล ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัส RSV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการรักษาตามอาการ เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ ทั้งรับประทานและฉีด ไม่มีวัคซีน การรักษาคือ พ่นยา ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ให้สารน้ำยาลดไข้ จัดเตรียมเวชภัณฑ์สำหรับการป้องกันและรักษาโรค พร้อมตั้งจุดคัดกรองด้านหน้าทางเข้าโรงพยาบาล ตรวจวัดอุณหภูมิ และเจลล้างมือให้กับประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันได้กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง รวมทั้งกำหนดมาตรการการรักษาและวินิจฉัยโรค จัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมและรักษาโรคไวรัส RSV เพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวภายในศูนย์เด็กเล็ก ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิเด็กทุกคนก่อนเข้ามาภายในศูนย์เด็กเล็กฯ หากพบจะแจ้งผู้ปกครองพาพบแพทย์ตรวจรักษาต่อไป หรือหากเด็กภายในศูนย์เด็กเล็กฯ มีอาการป่วยด้วยโรคติดต่อ เจ้าหน้าที่จะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคภายในบริเวณศูนย์เด็กเล็กทันที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพผ่านทางเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก : สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร พบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร.1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนั้น ได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง สร้างความเข้าใจ ย้ำเตือนประชาชนต้องระมัดระวังดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและครบ 5 หมู่ สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ ล้างมือให้สะอาด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี และสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ รวมถึงเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่สามารถฉีดพร้อมกันได้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรค โดยควรรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่รับบริการเป็นประจำ หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และจองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าใน รพ.สังกัด กทม.ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” หรือผ่าน “กระเป๋าสุขภาพ” แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถโทร.สายด่วน สปสช.1330 กด 8 เพื่อจองคิวฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ทั้งนี้ การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง
กทม.เร่งรวบรวมข้อมูลจัดประเภทความช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบในกรุงเทพฯ
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบและการจัดตลาดนัดแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ กทม.ตามนโยบายรัฐบาลว่า กทม.โดยสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้อำนวยความสะดวกประชาชนในการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 หลังจากนี้สำนักงานเขตจะรวบรวมข้อมูลจัดประเภทความช่วยเหลือตามความต้องการ เช่น ขอให้ช่วยเจรจา ต้องการเงินกู้ หรือต้องการอาชีพ วางแผนช่วยเหลือ จัดตั้งทีมงาน กำหนดตารางนัดหมายเจรจา โดยมีตัวชี้วัดการดำเนินการ (KPI) เมื่อแก้ไขปัญหาด้านใดเสร็จให้รายงานผลตามระบบ หากเจรจาไม่สำเร็จให้นำส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ การแก้ไขหนี้นอกระบบมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ สถาบันการเงิน โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. หรือศูนย์ฝึกอาชีพในพื้นที่เขต
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของ กทม.ขณะนี้ได้สรุปประเด็นปัญหาการเป็นหนี้นอกระบบ โดยพบว่า ประเภทการกู้ยืมที่มากที่สุดเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การลงทุน ค่าเล่าเรียน และสร้างบ้าน ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 25 ธ.ค.66 มีผู้ยื่นคำร้องขอให้แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จำนวน 7,077 ราย มีจำนวนเจ้าหนี้ 6,073 ราย และมียอดหนี้ 593,790,813.60 บาท โดยเขตที่มีลูกหนี้มากที่สุดคือ เขตคลองสามวา จำนวน 362 ราย รองลงมาคือ เขตสายไหม จำนวน 345 ราย และเขตลาดกระบัง จำนวน 342 ราย
นอกจากนั้น กทม.ยังได้กำหนดแผนเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประสานงานการจัดตลาดนัดแก้หนี้นอกระบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สำนักงานเขต กลุ่มกรุงเทพกลาง กลุ่มกรุงธนเหนือ และกลุ่มกรุงธนใต้ ณ ศาลาว่าการ กทม.1 (เสาชิงช้า) และสำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพเหนือ กลุ่มกรุงเทพตะวันออก และกลุ่มกรุงเทพกลาง ณ ศาลาว่าการ กทม.2 (ดินแดง) เพื่อให้ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมถึงธนาคาร ได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อไปในระยะยาว ขณะเดียวกัน สพส.ได้จัดอบรมให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานโครงการรู้ใช้รู้เก็บคนกรุงเทพฯ ชีวิตมั่นคง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สินเพิ่มพูนความรู้และประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานศูนย์ส่งเสริมการบริหารเงินออมครอบครัวและแก้ไขปัญหาหนี้สิน ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการรายได้ของตนเองและครอบครัว ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน
ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เฝ้าระวังควบคุมโรคติดต่อ-ภัยสุขภาพช่วงฤดูหนาว
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกรณรงค์ส่งเสริมความรู้วิธีดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาวว่า สนอ.โดยสำนักงานโรคติดต่อทางสาธารณสุข ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูหนาว รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครอง นักเรียนในสถานศึกษา ขณะเดียวกันศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาและคำแนะนำแนวทางส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะสถานที่ที่คนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น สถานศึกษา บ้านพักคนชรา นอกจากนั้น ยังได้ประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว ผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เพื่อเฝ้าระวัง ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อและเตรียมพร้อมรับมือหากมีผู้ป่วยด้วยโรคที่พบบ่อยช่วงฤดูหนาวเพิ่มขึ้น ตลอดจนติดตามสถานการณ์ภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงฤดูหนาวอย่างต่อเนื่อง