กทม. แท็กทีม วช. รามาฯ ส่ง Care giver รุ่น 1 ลงตลาดแรงงาน บริบาลผู้สูงอายุอย่างมืออาชีพ

 

(26 ธ.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีปิดการอบรม “ผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง” รุ่นที่ 1 ประจำปี 2566 พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ของหลักสูตร ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า วันนี้ขอแสดงความยินดีและชื่นชมต่อความสำเร็จของทุกท่านที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จนทำให้ผ่านการอบรมและได้รับประกาศนียบัตรในครั้งนี้ นับเป็นห้วงที่สำคัญที่เรามีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกรุงเทพมหานครเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุดังกล่าว และถือว่ากิจกรรมมีประโยชน์ เป็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการให้บริการทางด้านสุขภาพแก่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดกิจกรรมอบรมแบบนี้เป็น รุ่นที่ 2 ในโอกาสต่อไป โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพมหานคร และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

สำหรับการอบรมดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพราะตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ของประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงได้ดำเนินการพัฒนาโครงการส่งเสริมและสนับสนุนวิจัยและนวัตกรรมในหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่พัฒนาต่อยอดมาจากต้นแบบที่ตำบลแม่มอก จังหวัดลำปาง ที่จัดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 โดยโครงการนี้นำมาตรฐานหลักสูตรและผลการดำเนินการหลักสูตรที่จัดที่แม่มอกมาพัฒนาสร้างหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมงขึ้น โดยวางแผนประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตรด้วยการประเมินความรู้และทักษะของผู้เข้าอบรม รวมทั้งในหลักสูตรมีการใช้วิดีทัศน์และนวัตกรรมเป็นสื่อการสอน เพื่อสามารถนำไปต่อยอดการใช้สื่อเหล่านี้ในการอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ในชุมชน และในสถานพยาบาล เพื่อสนองความต้องการและการเข้าถึงของผู้สูงอายุระยะสุดท้าย ลดความเหลื่อมล้ำ ให้มีความรู้ความสามารถที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนของกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะและการส่งเสริม การเรียนรู้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังต้องการสร้างวิชาชีพให้แก่ผู้เข้าอบรม ซึ่งเมื่อสำเร็จการอบรมจะมีใบประกอบวิชาชีพและสามารถทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูงเทียบเท่าผู้ศึกษาสำเร็จปริญญาตรี (15,000 บาทขึ้นไป) ด้วย

ผลสรุปของการฝึกอบรม จากผู้สนใจเข้าสมัครกว่า 357 คน มีผู้ที่ผ่านและสำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ของหลักสูตรนี้ทั้งสิ้น 40 คน โดยการเรียนการสอนในหลักสูตรแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในห้องเรียน 200 ชั่วโมง ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2566 ณ ณ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) และการฝึกปฏิบัติภาคสนามในสถานพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขในสังกัด กทม. 220 ชั่วโมง ระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2566 ณ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 12 และ 23 สถานบริการผู้สูงอายุดินแดง และสถานสงเคราะห์คนชรา บ้านบางแค 2

ในการนี้มี ศ.คลินิก นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ศ.พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม สำนักงานวิจัยแห่งชาติ สำนักการแพทย์ ผู้เข้ารับการอบรม ร่วมพิธี

———-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200