
(26 ธ.ค. 66) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยมี ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร ผู้แทนหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ปปส.กทม.) และผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธีเปิดการประชุม
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายการจัดการปัญหายาเสพติด โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เพื่อเพิ่มจำนวนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพให้กลับเข้าสู่สังคม และพัฒนาความสามารถให้เข้าสู่ภาคแรงงาน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องของการบำบัดรักษา สอดรับกับแผนปฏิบัติการภายใต้นโยบาย และแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระบบ มุ่งเน้นการลดระดับความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ทั้งจากผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้เตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงานดูแลส่งต่อผู้ที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติด และจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ที่มีอาการทางจิตจากยาเสพติด จำนวน 2,297 คน ซึ่งจำแนกผู้มีอาการทางจิตกลุ่มเร่งด่วน (เฝ้าระวังสูงและสูงสุด) ที่ต้องดำเนินการด่วน จำนวน 19 คน และกลุ่มเฝ้าระวัง 2,278 คน เพื่อรองรับผู้มีอาการทางจิตที่ชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ยืนยันตัวตนบุคคลเป้าหมาย และอาจค้นพบเพิ่มเติมในพื้นที่ ช่วงระยะเวลาเดือนมกราคม 2567 รวมทั้งเป็นแกนหลักระดับเขตในการถ่ายทอดแนวทางการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมาย
ทั้งนี้ หวังว่าจะเกิดแผนปฏิบัติการดูแลส่งต่อผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด (SOP) ที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายสามารถบูรณาการการดำเนินงานและนำส่งผู้มีอาการทางจิตเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจำลองสถานการณ์ที่สะท้อนการจัดการปัญหาในทุกมิติ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยต้องการให้พิจารณากลไกหนุนเสริมทุกองคาพยพ อาทิ การใช้กลไกโรงพยาบาลของสังกัดกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง สำนักอนามัย ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ทั้ง 50 เขต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้ง 88 สน. ในพื้นที่กรุงเทพฯ มาช่วยในการจัดการผู้มีอาการทางจิต หนุนเสริมไปกับการดำเนินการตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งต้องวางแผนการรองรับประคับประคองและดูแลผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้เมื่อกลับเข้าสู่ชุมชนอีกด้วย โดยให้ทั้ง 50 เขตจัดทำแผนบูรณาการให้สามารถพร้อมดำเนินการร่วมกันต่อไป
รองปลัดฯ ชาตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ขอให้วางแผนเตรียมการเพื่อจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ทั้ง 50 เขต โดยใช้งบประมาณของ สำนักงาน ปปส.กทม. ไปดำเนินการลงพื้นที่ยืนยันตัวตนบุคคลเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 โดยรายงานผลการดำเนินงานเข้าสู่ระบบค้นหาและยืนยันผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดของสำนักอนามัย เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตลอดจนเพื่อลดระดับความรุนแรงของปัญหา ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ต่อไป
สำนักงาน ปปส.กทม. ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดการ “ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick Win) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ขึ้น เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อดูแลและส่งต่อผู้มีอาการทางจิตเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานให้ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ต่อไป ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร สำนักงานเขต 50 เขต สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้อง รวม 580 คน กิจกรรมมีดังนี้ 1. การบรรยาย เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายตามโครงการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะ 1 ปี” 2. การบรรยาย เรื่อง “บทบาทการดำเนินงานค้นหา ติดตามผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด การส่งต่อและการรายงานผล” 3. การบรรยาย เรื่อง “Bangkok Health Zoning สำหรับการดูแลผู้มีอาการทางจิตจากยาเสพติด” 4. อภิปราย เรื่อง “ถอดบทเรียนการซ้อมแผนเผชิญเหตุผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุคลุ้มคลั่ง ณ เขตจอมทอง”
————————————